คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4448/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรนั้น ข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด มิใช่เพียงแต่เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์แล้วต้องให้จำเลยนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นของคนร้ายเมื่อบัตรโทรศัพท์รุ่นวัดอรุณถูกคนร้ายลักไปไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายไปร้องทุกข์ หรือแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายของผู้เสียหายหรือประกาศให้ประชาชนทราบแต่ประการใด ดังนั้นจะอาศัยพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายยังไม่ได้นำบัตรโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวออกจำหน่ายแก่ตัวแทนและเมื่อไปยึดบัตรดังกล่าวได้จากจำเลยก็คิดหรือคาดคะเนเอาว่าจำเลยได้ครอบครองบัตรโทรศัพท์รุ่นวัดอรุณของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดหาได้ไม่ เมื่อบัตรโทรศัพท์ของกลางที่ยึดได้จากจำเลย ไม่มีการซุกซ่อนโดยมีการใส่รวมกันไว้กับบัตรโทรศัพท์รุ่นอื่น ๆ ในกล่องพลาสติกตั้งอยู่ที่ชั้นวางสินค้าด้านหลังโต๊ะเก็บเงินแสดงว่าจำเลยวางจำหน่ายอย่างเปิดเผยปราศจากข้อพิรุธ อีกทั้งยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นโดยไม่มีการขัดขืน พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้รับบัตรโทรศัพท์รุ่นวัดอรุณซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปเอาไว้และช่วยจำหน่ายโดยจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336, 1363, 1471 (1), 1473, 1487 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จำเลยหามาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส จึงเท่ากับโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่ก่อนสมรสอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1471 (1)ซึ่งแต่ละฝ่ายในฐานะเจ้าของย่อมมีอำนาจจัดการเองได้โดยลำพังตามมาตรา 1473และมาตรา 1336 แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ก็ไม่ทำให้สินส่วนตัวนั้นกลับเป็นสินสมรสได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดร่วมกันของสามีภริยาที่มีอยู่ก่อนสมรส แม้จะยังไม่แบ่งปันกันเป็นสัดส่วนภายหลังสมรสก็หาทำให้ทรัพย์สินนั้นกลายเป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไปไม่เหตุนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับจำเลยอยู่ก่อนการสมรส เนื่องจากโจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป จึงไม่ใช่การฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา อันต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการห้ามมิให้สามีหรือภริยายึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1487ก็ไม่ใช่บทบัญญัติห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้แบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ก่อนสมรสดังกรณีของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือขอแบ่งที่ดินดังกล่าวไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่แบ่งให้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1363 ได้
โจทก์จำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาด้วยความรักใคร่ปรองดองและต่างช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในการประกอบอาชีพ และได้นำเงินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยคนเดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์จำเลยคนละกึ่ง เมื่อโจทก์ได้ออกจากบ้านจำเลยไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมา และโจทก์ไม่ได้ร่วมจัดการที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีกต่อไป โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งที่ดินพิพาทและได้มีหนังสือเรียกให้แบ่งส่งไปถึงจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยห้ามไม่ให้แบ่งประกอบกับเวลาที่ขอแบ่งนับเป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ.มาตรา1363 โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 106, 106 ทวิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน55เม็ดกับ1ห่อน้ำหนัก4.91กรัมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ดังนี้แม้ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องแต่ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)ออกมายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่85(พ.ศ.2536)ซึ่งบังคับใช้ขณะเกิดเหตุโดยกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือ2เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน0.500กรัมเมื่อไม่มีการคำนวณว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางน้ำหนักรวม4.91กรัมมีสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่กำหนดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา106ทวิเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา106วรรคหนึ่งเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 260 (2)
ภายหลังที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลไต่สวนบริษัทย.ที่ปฏิเสธนำเงินตามเช็คมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีคดีถึงที่สุดและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีต่อไปภายใน15วันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับดังนั้นหมายอายัดเช็คตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ในระหว่างพิจารณานั้นย่อมยกเลิกไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา260(2)การที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ที่คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ยื่นไม่พ้นกำหนดเวลา1เดือนตามกฎหมายนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไปจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79, 271, 276, 296
การที่จำเลยนำเงินจำนวน12,000บาทและ3,000บาทไปชำระแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์นั้นแม้ผู้แทนโจทก์ได้ตกลงยอมให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามหมายบังคับคดีเพียง15,000บาทจริงก็ตามแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็แถลงในวันเดียวกันว่าข้อตกลงดังกล่าวผู้แทนโจทก์และจำเลยตกลงกันเองเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้รับรู้ด้วยทั้งเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสำนวนการบังคับคดีแล้วก็ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับข้อตกลงการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยส่วนที่จำเลยนำเงินจำนวน7,000บาทไปชำระไว้ที่ศาลนั้นจำเลยได้ยื่นคำแถลงประกอบมีข้อความเพียงว่านำเงินที่ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่3,000บาทมาชำระและในวันที่10กันยายน2535จำเลยได้นำเงินชำระโจทก์แล้ว12,000บาทเท่านั้นจำเลยไม่ได้ส่งหรือแสดงหลักฐานการตกลงนั้นต่อศาลเพิ่งมาส่งภายหลังจากที่มีการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยไปแล้วจึงไม่มีทางที่ศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีจะล่วงรู้และรับรองข้อตกลงระหว่างผู้แทนโจทก์กับจำเลยนั้นได้ข้อตกลงที่ผู้แทนโจทก์ยอมลดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามหมายบังคับคดีลงเหลือเพียง15,000บาทจึงเป็นข้อตกลงนอกศาลไม่ผูกพันศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำต้องถือตาม การที่จำเลยนำเงินตามข้อตกลงส่วนหนึ่งไปชำระแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีอีกส่วนหนึ่งกับนำไปชำระที่ศาลและการชำระเงินก็ไม่ครบถ้วนไม่ว่าตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้หรือตามหมายบังคับคดีและบัญชีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำขึ้นว่าเมื่อหักหนี้แล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ตามหมายบังคับคดีเป็นเงิน8,149บาทจำเลยยังไม่ได้นำมาชำระให้อีกต้องถือว่าจำเลยยังมีหนี้ค่าเสียหายที่ต้องชำระให้โจทก์ตามหมายบังคับคดีเมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยต่อไปเนื่องจากจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ยังไม่ครบถ้วนเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271และมาตรา278การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตศาลขายทอดตลาดตลาดที่ดินของจำเลยและดำเนินการบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยในเวลาต่อมาจึงเป็นไปตามขั้นตอนและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติไว้ การขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบแล้วซึ่งจำเลยได้ทราบล่วงหน้าก่อนแล้วว่าจะมีการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยครั้งแรกแล้วส่วนการประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยครั้งที่สองแม้จำเลยจะอ้างว่าการประกาศแจ้งวันนัดแก่จำเลยไม่ชอบแต่ก็ปรากฎข้ออ้างของจำเลยว่าการส่งหมายไม่ชอบเมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยครั้งที่สองไปส่งแก่จำเลยแต่จำเลยไม่อยู่จึงปิดไว้ที่บ้านจำเลยการแจ้งวันกำหนดนัดแก่จำเลยครั้งที่สองนี้ใช้วิธีปิดหมายเช่นเดียวกันกับครั้งแรกซึ่งในครั้งแรกจำเลยก็ได้ทราบกำหนดนัดขายทอดตลาดแล้วซึ่งมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยน่าจะได้ทราบวันนัดขายทอดตลาดครั้งที่สองแล้วโดยวิธีและในทำนองเดียวกัน จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยอีกไม่ได้จำเลยก็น่าจะต้องขวนขวายโต้แย้งคัดค้านไม่ให้มีการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยหรือให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยพลันแต่จำเลยหาได้ทำไม่จนกระทั่งการขาดทอดตลาดที่ดินของจำเลยเสร็จสิ้นและนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้ให้โจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดแล้วถือว่าการบังคับคดีเสร็จลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 วรรคสอง
พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมรับฝากเงินจากบริษัท ท. จำนวน 2,132,770 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท ท.แต่พนักงานของโจทก์ร่วมป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่ ต่อมาเมื่อจำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีในวันดังกล่าวจึงทราบว่ามีเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยโดยการผิดพลาด จากนั้นจำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วมสำนักงานใหญ่ โดยการปิดบัญชี การที่จำเลยได้ถอนเงินที่เข้าบัญชีผิดพลาดนั้นออกไปตั้งแต่ในขณะที่โจทก์ร่วมก็ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่เป็นเงินของจำเลยก็ตามแม้จำเลยจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์ร่วมยังไม่ทราบว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป และโจทก์ร่วมได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปแล้วเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4439/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 (1)
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ด้วยการให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1778 ซึ่งรวมทั้งที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้กลับคืนสู่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 โอนคืนแก่จำเลยที่ 1 ทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกมาให้แก่โจทก์อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ส่วนข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งเรื่องก่อนเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา ให้แก่โจทก์แล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกมาให้โจทก์พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอกอีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์จะมีผลสุดท้ายเป็นอย่างเดียวกัน คือ ขอให้โอนที่ดินพิพาทจำนวน 15 ไร่ 3 งาน71 ตารางวา เป็นของโจทก์ก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4434/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18, 420 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 16, 22, 41 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 16
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า"กรีนด์นัทโกลด์GreenutGolf"และ"GOLDNUTโกลด์นัท"จำเลยที่ 1 คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า"กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold" ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันที่14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มีผลบังคับ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้น หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำก็ต้องพิจารณาคำในเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด สำเนียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวก และชนิดของสินค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นประกอบเข้าด้วยกันว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โจทก์ตั้งโรงงานผลิตถั่วลันเตากรอบถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมและกองควบคุมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขโจทก์ผลิตสินค้าประเภทถั่วลันเตามานาน 8 ปี วางขายและจำหน่าย ทั่วประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLD" มานาน 10 ปี และจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัด น้ำเชื้อกาแฟ ชาและชาสกัด สินค้าของโจทก์ที่ผลิตมีแต่ถั่วลันเตากรอบ ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดเกล็ดและกาแฟสำเร็จรูปที่สกัดแคฟเฟอีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีเฉพาะภาษาอังกฤษ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสำเนียงเรียกขานว่า โกลด์นัทและกรีนนัทโกลด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1อ่านว่า โกลด์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์มี 2 พยางค์และ 3 พยางค์ ตามลำดับ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีพยางค์เดียว และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า เป็นถั่วลันเตากรอบกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกาแฟเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันมาก แม้จะจัดอยู่ในสินค้าจำพวกเดียวกันก็ตามจำเลยที่ 1 จดทะเบียนคำว่า "GOLD" มาตั้งแต่ปี 2512 แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"GOLD" กับสินค้ากาแฟที่จำเลยที่ 1 ผลิต นอกจากนี้จำเลยที่ 1ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "GOLDBLEND" และ"โกลด์เบลนด์" กับสินค้ากาแฟและใช้ในลักษณะเป็นรุ่นหรือชนิดของสินค้ากาแฟประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรประดิษฐ์"NESCAFE" หรือ "เนสกาแฟ" เท่านั้น การเรียกขานสินค้าของโจทก์ อาจเรียกว่า "ถั่วกรีนนัทโกลด์"หรือ"ถั่วโกลด์นัท"ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 อาจเรียกว่า "เนสกาแฟโกลด์เบลนด์"เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLDNUT โกลด์นัท"และ "กรีนนัทโกลด์ GreennutGold" ของโจทก์ จึงไม่เหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "GOLD" ของจำเลยที่ 1จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์Green&Gold" ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า"Gold""GOLDBLEND" และ "โกลด์เบลนด์" ของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนภายหลัง เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มาเลียนแบบแล้วนำไปขอจดทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold" ของโจทก์ดีกว่าโจทก์ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold"ของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 คำว่า "GOLD" คำว่า "โกลด์เบลนด์" และคำว่า "GOLDBLEND" ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 มาตั้งแต่ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "GOLDNUT""โกลด์นัท"และคำว่า"กรีนนัทโกลด์ GreennutGold" สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 และเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีคำว่า "GOLD" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย และขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นการกระทบถึงสิทธิของตนได้ ตามที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นการที่จำเลยที่ 1ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะพิจารณาคำขอของโจทก์และคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้วให้คำวินิจฉัยโดยมีคำสั่งรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา 22 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าที่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4376/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 42
การที่โจทก์ถึงแก่กรรมโดยไม่มีทายาทขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคสอง ให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความได้นั้น ต้องเป็นกรณีมีข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ศาลว่าคู่ความได้มรณะลงระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ถึงแก่กรรมมาสู่สำนวนศาลระหว่างคดีค้างพิจารณาของศาลฎีกาแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและจำหน่ายคดีจากสารบบความมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4357/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1012, 1055, 1061, 1364 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183
จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท.ด้วยราคาเพียง 850,000 บาทแต่ห่างกันเพียง 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์กลับตั้งราคาสูงถึง 4,500,000 บาท โดยมีข้อสัญญาข้อ 2.1 ที่ระบุว่า จ่ายวันที่ 10 ธันวาคม2526 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ข้อ 2.2 ว่า เมื่อโครงการผ่านไปได้ 70เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 22 เดือน จ่าย 1,500,000 บาท ข้อ 3 ว่า เมื่อเสร็จโครงการแล้วจะแบ่งผลกำไรให้อีกเป็นเงิน 2,000,000 บาท สำหรับข้อสามนี้ส่วนแบ่งอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อผลลัพธ์ของงานได้ผลดี และหรืออาจจะลดลงตามส่วนเมื่อผลลัพธ์ของงานไม่ดี ลักษณะข้อความเรื่องการแบ่งปันกำไร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอรับโฉนดคืนจากโจทก์โดยเสนอให้ที่ดินแก่โจทก์ 9 ล็อกเช่นนี้แสดงว่าโจทก์ สามีโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงเข้ากันเพื่อทำโครงการบ้านจัดสรรขายเพื่อประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้ แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินเช่นนี้จึงต้องฟังว่าเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนทำบ้านจัดสรรขายด้วยกัน เมื่อสามีโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้หนึ่งถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนที่ร่วมลงทุนทำกิจการค้าจึงต้องเลิกกันและแบ่งทรัพย์สินระหว่างกัน
การเข้าหุ้นประกอบกิจการค้าระหว่างโจทก์ สามีโจทก์ และจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนสามัญมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนกันแล้วจะต้องมีการชำระบัญชีกันก่อนเพื่อทราบกำไรขาดทุน แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอคืนเงินทุนกับแบ่งผลกำไร จำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธว่าโจทก์กับสามีโจทก์ไม่ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินและบ้านไปแล้วโดยไม่มีกำไร ดังนั้นการที่จะให้ไปดำเนินการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสียก่อน ย่อมไม่เป็นประโยชน์เพราะจำเลยทั้งสองก็ยังยืนยันว่าโจทก์และสามีโจทก์ไม่ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนและจำเลยขายที่ดินและบ้านไปโดยไม่มีกำไร ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีการคืนทุนและแบ่งผลกำไรตามที่พิจารณาได้ความไปทีเดียว โดยไม่ต้องให้มีการชำระบัญชีได้
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองต้องคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้โจทก์หรือไม่เพียงใดดังนั้น หากข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญที่โจทก์และสามีโจทก์เป็นหุ้นส่วนอยู่นั้นยังมีที่ดินเหลืออยู่ ก็จำต้องนำที่ดินที่เหลือมาแบ่งส่วนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนกัน โดยถือเป็นกำไรของห้างหุ้นส่วน การที่ศาลพิพากษาให้นำที่ดินที่เหลือจำนวน 10 โฉนด มาแบ่งส่วนให้แก่โจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วน จึงหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่