คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 859 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 177, 225 วรรคสอง, 249 วรรคสอง

ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ คู่ความก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์คิดยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันไม่ถูกต้อง แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าโจทก์ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยในปัญหาที่จำเลยฎีกาให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและขอถอนหลักประกันคืน เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้ และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทไม่มีข้อห้ามจำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดดังนั้น สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเลิกกันในวันที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 388, 593 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 94, 177

โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจ้างเหมาทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งภายใน โดยกำหนดให้จำเลยทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2532 หากจำเลยไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือ ภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงย่นหรือขยายกันแล้ว จำเลยยอมเสียค่าปรับให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงขยายกำหนดระยะเวลาทำงานให้จำเลยออกไปถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2532แล้วจำเลยยังทำไม่เสร็จตามสัญญา แต่โจทก์มิได้ขอบังคับตามสัญญาหรือสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับแต่อย่างใด กลับตกลงเพิ่มเติมงานจากสัญญาเดิมขึ้นอีกโดยไม่อาจทราบได้ว่างานจะเสร็จเมื่อใดและไม่ประสงค์ที่จะปรับ และมีการจ่ายเงินให้จำเลยอีกในภายหลังวันที่ครบกำหนดตามสัญญาแล้วตามพฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์มิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างเหมาเป็นสาระสำคัญ จึงจะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าปรับจากจำเลยตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการจ้างเหมาให้จำเลยจัดทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายในบ้านจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อจำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ไม่ยอมรับเฟอร์นิเจอร์ลอยโดยคิดค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ค้างชำระอยู่ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยตกลงกันยอมรับเฟอร์นิเจอร์ลอยและจะชำระราคาที่ค้างอยู่ และเมื่อโจทก์ได้รับเฟอร์นิเจอร์ลอยไปแล้ว ดังนี้ ศาลชอบที่จะบังคับให้โจทก์ชำระราคาตามที่ตกลงนั้นได้ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 456, 1367

โจทก์มีชื่อเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เนื้อที่ 7 ไร่3 งาน 80 ตารางวา และโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 140,000 บาท วางมัดจำในวันทำสัญญาเป็นเงิน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือ 120,000 บาทจะผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดแรกเป็นเงิน 50,000 บาท งวดที่ 2เป็นเงิน 70,000 บาท หลังจากโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายและวางเงินมัดจำแล้ว โจทก์ได้มอบการครอบครองให้จำเลยเข้าทำประโยชน์โดยขุดดินเพื่อทำเป็นนากุ้ง แต่การที่โจทก์ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์นั้นโจทก์ยังคงยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามใบเสร็จรับเงิน และดำเนินการขอออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย หากแต่โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะไปดำเนินการโอนทางทะเบียนหลังจากจำเลยชำระ ค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด หากแต่เป็นสัญญาจะซื้อขายอันมีผลผูกพันให้คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา การที่จำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่างวดให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6367/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46

ในคดีอาญา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบในคดีดังกล่าวเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ว่าจำเลยที่ 1ซื้อจักรเย็บผ้ายี่ห้อจุกิจำนวน8หลังและจักรโพ้งยี่ห้อซีรูบ้า จำนวน 4 หลัง รวมเป็นจักร 12 หลัง แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดทางอาญาคดีถึงที่สุด ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1รับซื้อจักรเย็บผ้าของโจทก์ไว้จำนวน 12 หลัง จริงหรือไม่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวฟ้องจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งว่า ร่วมกันรับซื้อจักรเย็บผ้าในจำนวนเดียวกับที่เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาเป็นคดีนี้อีกและมีประเด็นโต้เถียงอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรับซื้อจักรเย็บผ้าของโจทก์ไว้จำนวนกี่หลัง ศาลจึงถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วในคดีอาญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 179

คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินในเวลาต่อมาโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมอันเป็นการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงดังกล่าวลงในคำฟ้องข้อ 1 และข้อ 2 กับขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องว่าให้จำเลยจัดการแก้ไขรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาทให้ปลอดจากการจำนอง แล้วจดทะเบียนโอนให้โจทก์ โดยโจทก์มิได้ระบุรายละเอียดว่าโจทก์จะขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงลงในคำฟ้องข้อ 1 หรือข้อ2 ตรงไหน เป็นคำร้องที่ไม่แจ้งชัด ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 1623 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 33, 34

แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุส. ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุ ส. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพในปี 2530 เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของพระภิกษุ ส. อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ส. ที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาในขณะที่พระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นเมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายและถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2)กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 34ซึ่งบัญญัติให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติฯ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.หรือวัดศรีบุญเรืองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใด ๆได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150นิติกรรมดังกล่าวจึงเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1หรือวัดศรีบุญเรืองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาแก่พระภิกษุ ส.ครบถ้วนแล้วได้เพราะวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จึงเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72(1)ต่างหากจากพระภิกษุ ส. ผู้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุ ส. และชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6351

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6351/2540

ประมวลรัษฎากร ม. 79 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 ม. 17

ตามที่มาตรา 17 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติและในการวินิจฉัยตามมาตรานี้ ให้อธิบดีมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีให้ถือเป็นที่สุด"นั้น มีความหมายเพียงว่าอธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อขัดข้องในชั้นที่ผู้ประกอบการขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเข้าหลักเกณฑ์และถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และที่ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีกรมสรรพากรเป็นที่สุดนั้น ก็หมายความเพียงว่าเป็นที่สุดเฉพาะในชั้นของการปฏิบัติงานในส่วนนี้เท่านั้น ผู้ประกอบการซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรยังคงสามารถดำเนินการในขั้นตอนอื่นกล่าวคือสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรได้และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอย่างไรแล้วผู้ประกอบการยังสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อผู้ซึ่งขายสินค้าทุนที่พิพาทให้แก่โจทก์ เป็นผู้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามาจากต่างประเทศ และได้เสียภาษีการค้าไว้แล้วในวันนำเข้า แต่มิได้เสียภาษีการค้าในขณะนำออกขายให้แก่โจทก์ เพราะ ประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้ถือว่าการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการขายสินค้า ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2517ระบุให้ถือว่าวันที่มีการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นวันขายสินค้านั้น ผู้ขายซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาทจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าดังนี้ ผู้ขายจึงมีสิทธิได้รับเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 17(4) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173

คดีก่อนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต.โอนที่ดินมรดกส่วนหนึ่งของ ต. ให้แก่ จ. โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จ. และนำที่ดินมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นทายาท ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งแก่ทายาท แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ทั้งสองคดีจะฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นทายาทและขอให้แบ่งมรดกของ ต. แต่มูลคดีฟ้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมรดกคนละแปลงโอนให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ชอบคนละคราวกัน ซึ่งถือได้ว่ามิใช่เรื่องเดียวกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93, 144, 148

คดีก่อนโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกรถพิพาทคืนจากจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีก่อนอีกคดีหนึ่งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต้องรับผิดใช้เงินที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระหนี้แทนจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต่อธนาคารโดยมาฟ้องไล่เบี้ยได้หรือไม่ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยทดรองจ่ายไปก่อน หลังจากหักกลบลบหนี้แล้ว ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้จำเลยอยู่ ดังนั้น คดีทั้งสองกับคดีนี้ มีประเด็นข้อพิพาทแตกต่างกัน หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และ 148 ไม่

แม้เอกสารพิพาทจำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รับรอง ทั้งยังเป็นสำเนาเอกสารก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในขณะที่จำเลยอ้างเอกสารดังกล่าวต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ทั้งได้ความว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวคู่ความได้อ้างส่งไว้ในสำนวนคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งของศาลชั้นต้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93

การที่โจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินจำนวนที่โจทก์เบิกล่วงหน้าจากเงินค่างานที่กรมทางหลวงจะจ่ายให้แก่จำเลยตามผลงานที่โจทก์ทำได้และส่งมอบให้กรมทางหลวงและโจทก์ยอมให้จำเลยคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เบิกล่วงหน้าแต่ละคราวในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี บ้าง ร้อยละ 17 ต่อปี บ้าง และร้อยละ 15 ต่อปี บ้าง เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากจำเลยผู้กู้นั้นมีลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เบิกล่วงหน้าแต่ละยอดที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมเสียให้แก่จำเลยย่อมหมดไปเมื่อมีการตัดทอนบัญชีแต่ละคราว มิใช่เป็นข้อสัญญาหรือนิติกรรมที่โจทก์ต้องผูกพันยอมให้จำเลยคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตลอดไป เมื่อปรากฎจากบันทึกข้อตกลงในสัญญารับช่วงงานว่ามีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันตัดทอนบัญชีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 นั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6342

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6342/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 249, 296

จำเลยที่ 2 ได้ระบุในคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดว่าในการส่งประกาศขายทอดตลาด พบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 รับประกาศแล้วไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับประกาศด้วยตนเองดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในใบรับหมายมีลักษณะแตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญาประนีประนอมยอมความตามฎีกาจำเลยที่ 2จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2อ้างเพียงว่า ผู้ซื้อทรัพย์ตกลงราคากับโจทก์ก่อนเข้าซื้อทรัพย์เป็นการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ทำให้ราคาที่ขายต่ำกว่าราคาที่แท้จริง มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำร้องของจำเลยที่ 2จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และให้ศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันฉ้อฉลและราคาที่ขายต่ำกว่าราคาแท้จริงดังกล่าวหาได้ไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE