คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 182, 454, 537, 569, 570
ข้อความตามหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวมีว่า "ถ้าผู้ให้เช่าตกลงขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้ใดก่อนครบกำหนดการเช่าตามสัญญาแล้วผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า เพื่อผู้เช่าเตรียมตัวออกจากทรัพย์สินที่เช่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเดือน และผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบด้วยว่าจะตกลงขายให้แก่ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อผู้เช่าจะได้มีโอกาสตกลงซื้อได้ก่อนในเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควร" เป็นเพียงเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ให้เช่าจะขายทรัพย์สินที่เช่าก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาโดยจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบเสียก่อน เพื่อผู้เช่าจะได้ใช้สิทธิที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ก่อนบุคคลอื่นเท่านั้น แต่หาได้ให้สิทธิผู้เช่าที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ก่อนบุคคลอื่นตลอดไปจนพ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวรายพิพาททั้ง 3 คูหาให้แก่จำเลยที่ 3 หลังจากครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว แม้โจทก์ทั้งสี่จะเช่าตึกแถวรายพิพาททั้ง 3 คูหาอยู่ต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าขายทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวรายพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 84
จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา14ดังโจทก์ฎีกาขอมาได้ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา84
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 264, 265
จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินรวมทั้งลายมือชื่อส. ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี2536ภายหลังที่ส. ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี2533และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่15ธันวาคม2531ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างส. กับจำเลยในขณะที่ส. ยังมีชีวิตอยู่และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่าส.กู้ยืมเงินจำเลย100,000บาทถ้าส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าวส.ยอมโอนที่ดินสวนยาวพาราเนื้อที่14ไร่1งานแก่จำเลยนั้นนอกจากไม่เป็นความจริงแล้วยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของส. อีกด้วยและเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับด.ว่าที่ดินของส.เป็นของจำเลยและจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไปซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ด. หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา265 ข้อความที่ว่า"โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264นั้นไม่ใช่การกระทำโดยแท้และไม่ใช่เจตนาพิเศษจึงไม่เกี่ยวกับเจตนาแต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า"ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง"นั้นแสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วยโดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใดดังนั้นการที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ด. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้วแม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อด.ก็ตามทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยคือทายาทของส. แต่อย่างใดแต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา265แล้วกรณีไม่จำต้องปรับบทด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา264อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 238 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับ ฉ. จำเลยที่ 1 ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์แล้วและจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมยกให้ดังกล่าวได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้อง ฉ. ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นหนี้ร่วม จึงไม่ชอบที่ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมยกให้ในส่วนของ ฉ.ด้วย
การทำละเมิดต่อผู้อื่นเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ประเภทหนึ่งทำละเมิดวันใดหนี้ก็เกิดในวันนั้นโดยไม่จำต้องฟ้องต่อศาลก่อน เมื่อหนี้เกิดขึ้นแล้วนับจากวันนั้นไปหากลูกหนี้ทำนิติกรรมใดอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินก็อาจทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ โดยไม่จำต้องให้เจ้าหนี้ฟ้องต่อศาลก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 228, 264, 296
คำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำการไต่สวนก่อน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่สมควรอนุญาตตามคำร้องก็อาจยกคำร้องเสียได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ปัญหาว่า การยึดทรัพย์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดแต่เป็นประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องฉบับอื่นของจำเลยที่ 1ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งยกคำร้องและจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วซึ่งจำเลยที่ 1 เพียงพอขึ้นเท้าความในคำร้องนี้เท่านั้น ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว การขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ เจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะทำการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องใช้ดุลพินิจในการขายเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ไม่ แม้หากราคาที่ประเมินในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดจะมีราคาสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์มากก็ตามหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นจำเลยก็ย่อมหาผู้อื่นมาเข้าสู้ราคาได้หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้หรือถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมากจำเลยก็ย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 296 วรรคสองได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สวมสิทธิเข้าดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีมีพฤติการณ์ ส่อให้เห็นว่าจะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดรายนี้ โดยไม่สุจริตอย่างไร กรณีจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้อง มีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการประเมินราคาใหม่หรือ ปรับราคาประเมินตามราคาปัจจุบันตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ และรูปคดีไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้ในระหว่าง การพิจารณา คดีไม่จำต้องไต่สวนและให้งดการขายทอดตลาดนั้นไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2540
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 20 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530
แม้ก่อนมีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อโจทก์เกี่ยวกับเงินทุนเลี้ยงชีพ ซึ่งกำหนดว่า เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในสิทธิและประโยชน์ ซึ่งพนักงานพึงได้รับตามความในหมวดนี้ ระเบียบการใด ๆ ของธนาคารจำเลยที่ 1 ซึ่งจะพึงมีขึ้นหรือแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้าจะใช้บังคับ เป็นผลให้เสื่อมสิทธิหรือประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่แล้วในวันวางระเบียบการใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหาได้ไม่ และคงให้มีผลใช้บังคับได้นับแต่วันที่ได้วางระเบียบการใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้นก็ตาม แต่หลังจากจัดตั้งจำเลยที่ 2 ขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินทุนเลี้ยงชีพเดิมของลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ.2530 และโจทก์ยินยอมเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยที่ 2 ด้วยเท่ากับโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 โอนเงินทุนเลี้ยงชีพเดิมของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2ดำเนินการนั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงหมดความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการเงินทุนเลี้ยงชีพเดิมอีกต่อไป แม้คำสั่งเรื่องระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ได้กำหนดให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนแก่สมาชิกแต่ละรายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนของสมาชิก ก็เป็นเพียงข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้แก่สมาชิกเท่านั้น มิใช่ให้จำเลยที่ 1 เข้าไปจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินทุนเลี้ยงชีพเดิมให้แก่โจทก์
หลังจากจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเลยที่ 2ได้รับโอนเงินทุนเลี้ยงชีพเดิมของลูกจ้างทั้งหมดของจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์ทั้งสองจากจำเลยที่ 1 มาเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยการที่จำเลยที่ 2 ออกข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วใช้บังคับในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ย่อมมีอำนาจทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2เคยมีข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวใช้บังคับมาก่อน จึงมิใช่เป็นกรณีการออกข้อบังคับอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2 โจทก์ยินยอมเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงต้องผูกพันตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินภายในกำหนดเวลาตามข้อบังคับดังกล่าว ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดของโจทก์ ซึ่งได้แก่เงินทุนเลี้ยงชีพเดิมและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นของกองทุนโดยถือว่าเป็นเงินอุทิศให้แก่กองทุน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3361/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14 (2), 193/15 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 15, 91
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) ที่ได้ตรวจชำระใหม่ และต้องเริ่มนับใหม่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตามป.พ.พ.มาตรา 193/15 คือตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีล้มละลายตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 15 เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไป และให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนี้ การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 91 แล้ว เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องแสดงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้มิได้ให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงาน-พิทักษ์ทรัพย์ถึงข้อเท็จจริงในคดีในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ตลอดจนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆของเจ้าหนี้ที่มีต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้วแต่ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้และข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้นในคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2537 พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายถึงเจ้าหนี้ให้วางเงินประกันค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดไว้ในคดีนี้ก่อนแล้ว แต่คดีนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังคดีดังกล่าวเพราะพิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไป และให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เช่นนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบดีอยู่แล้ว ดังนี้จะกล่าวอ้าง และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในชั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 213, 850, 852
โจทก์จำเลยได้ตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนในวันที่ 27 มกราคม 2535โดยพนักงานสอบสวนบันทึกข้อตกลงไว้มีใจความว่า ส. (จำเลย) ยินดีชดใช้ค่าเสียหายโดยนำรถยนต์ปิกอัพของโจทก์ไปซ่อมให้ใช้การได้สภาพเดิม คู่กรณีตกลงด้วยความสมัครใจมิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับขู่เข็ญ จึงให้ลงชื่อไว้ แล้วลงลายมือชื่อผู้แทนโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีพร้อมพยานและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850โดยไม่จำต้องกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องชำระเงินกันอย่างไร ที่ไหนเมื่อใด เพราะเป็นการตกลงให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการกระทำ แม้ตามฟ้องโจทก์ได้ดำเนินการซ่อมเสียเองก็ตาม โจทก์ก็อาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 และมาตรา 213
ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดย่อมระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องขึ้นใหม่ นับแต่วันที่ 27มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำข้อตกลง เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความฟ้องจำเลยวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225
อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีหรือปัญหาข้อกฎหมายมีอยู่อย่างไรนำมาปรับคดีได้อย่างไรเพื่อศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยคดีตามข้ออุทธรณ์ได้ถูกต้องตามประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอยู่เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือไม่พอสรุปได้ความเพียงว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแต่จำเลยไม่ชำระราคาที่ดินให้ครบจำนวนถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิจะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับที่ดินตามที่ได้ตกลงซื้อขายกันได้เท่านั้นอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองหาได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้ให้ชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไรและโจทก์ทั้งสองควรจะชนะคดีได้เพราะเหตุใดไม่ส่วนอุทธรณ์ประเด็นราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายและการชำระราคาที่ดินของจำเลยโจทก์ทั้งสองเพียงแต่นำคำเบิกความของพยานโจทก์ในสำนวนมากล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์แล้วสรุปตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ200,000บาทมิใช่ไร่ละ30,000บาทจำเลยยังชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ครบเท่านั้นหาได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบอย่างไรหรือเพราะเหตุใดไม่อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 วรรคหนึ่ง, 1532 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 95
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาท้ายทะเบียนการหย่า เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1532 ย่อมมีผลบังคับผูกพันสามีภริยานับแต่นายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าแล้ว หากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภริยาผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะคู่สัญญาซึ่งเป็นสามีย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่เมื่อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสและเป็นอสังหาริมทรัพย์ดังนี้ การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้อง การที่จำเลยที่ 2 กับผู้ร้องได้กู้เงินจากธนาคาร ท.โดยผู้ร้องได้ขอให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 2 และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมย่อมต้องผูกพันในหนี้จำนองดังกล่าวต่อธนาคาร ท.ด้วย ผู้ร้องหาอาจอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามาให้เป็นที่เสื่อมเสียสิทธิของผู้รับจำนองโดยสุจริตได้ไม่และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ธนาคาร ท.ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จำนองได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 95