คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2941/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 364 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
จำเลยทั้งสองมายืนที่หน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสอง ห่างบันไดขึ้นบ้านประมาณ1 วา แล้วจำเลยที่ 1 ร้องบอก ว. น้องผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่บนบ้านว่า ที่ ว. ยืมเงินจำเลยที่ 1 มาและให้เด็กนำเงินไปคืนนั้นยังขาดอยู่ 100 บาท ว. ให้ผู้เสียหายที่ 2ลงไปพูดกับจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นเวลา 19 นาฬิกาเศษ แต่ผู้เสียหายที่ 2 กำลังคิดเงินให้ลูกจ้างตัดอ้อยอยู่ จำเลยทั้งสองก็เป็นญาติกับผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นไปบนบ้าน ไม่มีเจตนาจะมาตบตีผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุผลอันสมควร การที่ผู้เสียหายที่ 2 ลงจากบ้านไปพูดกับจำเลยที่ 1 แล้วเกิดโต้เถียงกันจนเกิดตบตีกันขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก
ข้อเท็จจริงที่ว่าหลังจากจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1บอกจำเลยทั้งสองให้ออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ออกไปกลับด่าผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีกนั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2934/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 69, 80, 288
ผู้เสียหายได้จับมือภรรยาจำเลยเพื่อให้ร่วมวงดื่มสุราในบริเวณบ้านผู้เสียหายภรรยาจำเลยปฏิเสธและเดินออกจากบ้านผู้เสียหายมาแล้วจึงเกิดการทะเลาะกับจำเลยด้วยเหตุจำเลยหึงหวงภรรยาและระหว่างที่จำเลยกับภรรยาทะเลาะกันเองอยู่นั้นผู้เสียหายเป็นฝ่ายลุกออกจากบ้านเข้ามาหาจำเลยโดยหลังจากจำเลยเห็นภรรยาถูกผู้เสียหายจับมือในบ้านต้องอดกลั้นความหึงหวงและไม่กล้าที่จะแสดงออกต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้กระทำเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยไม่ประสงค์ที่จะมีเหตุการณ์วิวาทกับผู้เสียหายจึงได้หลีกเลี่ยงชวนภรรยาออกมาจากบ้านผู้เสียหายและเหตุที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายก็เพราะผู้เสียหายได้เข้ามาทำร้ายจำเลยก่อนกรณีจึงมิใช่จำเลยสมัครใจเข้าวิวาทกับผู้เสียหายหากแต่เป็นการป้องกันตัวแต่ผู้เสียหายเข้ามาทำร้ายจำเลยโดยปราศจากอาวุธภยันตรายที่เกิดจึงไม่น่าจะรุนแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายบริเวณช่องท้องใต้ราวนมข้างซ้ายซึ่งอวัยวะสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้เช่นนี้จึงเป็นการป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,80ประกอบด้วยมาตรา69
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 226, 229
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไป เท่ากับขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไป จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2815/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 225, 246,
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่เสียค่าอ้างเอกสารจึงไม่อาจรับฟังสัญญากู้เป็นพยานโจทก์ได้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าอ้างเอกสารแต่อย่างใดขอให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณารับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไปด้วยนั้นตามอุทธรณ์ของโจทก์พอเข้าใจความหมายได้ว่าโจทก์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนของศาลชั้นต้นและเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ไปทั้งศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามคำรับดังกล่าวแล้วกรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่ายตามข้อเท็จจริงที่รับกันและปรากฏอยู่ในสำนวนคดีนี้ได้หาใช่เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5) พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 56, 57 วรรคสอง
คดีนี้โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิซื้อที่นาพิพาทโจทก์จึงต้องฟ้องคชก.จังหวัดเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดด้วยทั้งนี้เพื่อให้คชก.จังหวัดได้มีโอกาสเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องคชก.จังหวัดเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมิได้มีการเรียกคชก.จังหวัดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้จนล่วงเลยมาถึงชั้นฎีกาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองขายที่นาพิพาทแก่โจทก์อันแตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดและปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยที่คู่ความไม่ต้องร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในกำหนด30วันนับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2927/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุในคดีอาญาคดีก่อนว่า ระหว่างวันที่ 18พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 มีคนร้ายลักเอาเช็คของผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2536 จำเลยนำเช็คของผู้เสียหายที่ถูกลักไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยเป็นคนร้ายลักเช็คของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร จำเลยรับของโจรซึ่งเช็คของผู้เสียหายที่ถูกลักไปไว้จากคนร้าย และจำเลยช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย และเอาไปเสียซึ่งเช็คในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือประชาชน ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 จำเลยได้ปลอมเช็คและใช้เช็คฉบับดังกล่าวของผู้เสียหาย ยื่นเรียกเก็บเงินต่อธนาคารเพื่อถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย เห็นได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุในคดีก่อนและคดีนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน พฤติการณ์ของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์จะเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายเป็นสำคัญการที่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างรับของโจรและเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายผู้เป็นนายจ้างอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง,188 นั้น ก็เพื่อนำไปทำปลอม แล้วนำไปเบิกถอนเงินจากธนาคารในช่วงเวลาเดียวกันจึงเป็นเจตนาเดียวกันนั่นเอง ดังนั้น การกระทำของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็น 2 คดี เมื่อจำเลยถูกฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในคดีอาญาก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดกรรมเดียวกันเป็นคดีนี้อีก เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 218, 220 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสาม, 208, 225
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์ของจำเลยกับภริยาและไหม้ทรัพย์ของบุคคลอื่นด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218,220 จำเลยให้การและนำสืบรับว่าได้ทำให้เกิดเพลิงไหม้จริง แต่เกิดจากความประมาทและข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าเพลิงไหม้ทรัพย์ของบุคคลอื่นด้วยดังนี้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนา จำเลยย่อมมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคหนึ่งหรือมาตรา 220 วรรคสอง แล้วแต่กรณี แต่หากจำเลยกระทำโดยประมาทก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา 225 ซึ่งศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้โต้เถียงเรื่องเพลิงไหม้ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยเพียงแต่อ้างว่าเพลิงไหม้เกิดจากความประมาทขอจำเลยเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาหรือประมาทตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่กลับวินิจฉัยเพียงว่า ทรัพย์ที่จำเลยทำให้เกิดเพลิงไหม้จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จำเลยจึงไม่มีความผิด โดยไม่ได้วินิจฉัยกรณีที่การกระทำของจำเลยทำให้เพลิงไหม้ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2540
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยรับเหมางานก่อสร้างทั่วไปตามที่จะประมูลได้ต้องหมายความว่าการรับเหมางานก่อสร้างทุกชนิดเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยโครงการก่อสร้างท่าเรือนำลึกเกาะสีชังที่จำเลยประมูลได้เป็นงานก่อสร้างจึงเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย ตามสัญญาจ้างเอกสารหมายจล.1ถึงจล.9จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชังระยะที่1ซึ่งแม้ตามสัญญาจ้างจะกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้แต่ตามสัญญาจ้างข้อ15การต่อสัญญาจ้างมีข้อความว่าในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดตามกำหนดแต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จจำเลยอาจพิจารณาต่อสัญญากับลูกจ้างตามความจำเป็นของงานทั้งนี้จะได้ทำการตกลงกับลูกจ้างที่ได้รับการต่อสัญญาเป็นรายๆไปสัญญาจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการว่าจ้างให้ทำงานในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชังระยะที่1ทั้งโครงการและเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างหากโครงการยังไม่เสร็จก็มีการต่อสัญญากันได้อีกเช่นนี้จึงไม่ใช่เป็นการจ้างให้ทำงานในลักษณะที่เป็นครั้งคราวตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์ประพฤติทุจริตเกี่ยวกับการเติมน้ำมันรถยนต์จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์มิได้ให้การว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงแต่อย่างใดการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามระเบียบการเติมน้ำมันของจำเลยระบุให้เติมน้ำมันรถให้ผู้ถือบิลน้ำมันเลขทะเบียนรถยนต์ตรงกับเลขทะเบียนรถยนต์ที่มาเติมทุกครั้งและการแก้ไขจำนวนเงินในบิลน้ำมันจะต้องไม่เกินจำนวนที่เขียนไว้ในบิลน้ำมันการที่โจทก์ไม่ยึดถือระเบียบข้อบังคับคำสั่งและวิธีปฎิบัติของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้นเป็นการอุทธรณ์นอกประเด็นถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์จำเลยเป็นการมิชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2922/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 427, 821
การที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันพิพาทเข้าจดทะเบียนร่วมกับบริษัท ส.ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะนำรถยนต์คันพิพาทขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ส. จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกันกับบริษัท ส.ในการดำเนินกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย
จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2นำเข้าจดทะเบียนร่วมขนส่งกับบริษัท ส.ออกไปรับจ้างขนส่งคนโดยสารตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ส.เป็นการร่วมกับบริษัท ส.เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 427 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทกับจำเลยที่ 2เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่มีผลกระทบถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการต่อโจทก์ตามกฎหมายมาตราดังกล่าว เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 สามารถนำรถยนต์คันพิพาทออกขนส่งคนโดยสารได้ก็เพราะจำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันพิพาทเข้าจดทะเบียนร่วมกับบริษัท ส.ด้วย ไม่ใช่เพราะจำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว