คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 3 อัฎฐ, 30
กรณีที่ผู้รับการประเมินมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาในการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้หากอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้รับการประเมินมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาการอุทธรณ์การประเมินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา30แต่กลับสั่งไม่อนุมัติให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปแก่ผู้รับการประเมินตามความจำเป็นแก่กรณีเป็นการขัดขวางมิให้ผู้รับการประเมินได้รับสิทธิในการพิจารณาอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และสิทธิในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้รับการประเมินมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวได้เพื่อให้ศาลภาษีอากรกลางแก้ไขคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรเสียใหม่ให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากรมาตรา3อัฏฐต่อไปโดยถือว่าคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรมิฉะนั้นผู้รับการประเมินย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา3อัฎฐและมาตรา30บัญญัติไว้นั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7268/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14 (2), 193/32 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8, 14
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 มาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและการที่การฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลง ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับ
เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้อีกซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14 แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม ก็หามีผลต่อคดีไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นคำขอรับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 279 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9, 10, 14, 94 (1)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา และมาตรา 279 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานตามปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อปรากฏว่าวันครบกำหนดสิบปีที่จะบังคับคดีได้เป็นวันอาทิตย์ เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่จะขอบังคับคดีได้เป็นวันหยุดทำการโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ถึงในวันจันทร์อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8
การพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เมื่อปรากฏว่านับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีเท่านั้น มิได้ดำเนินการบังคับคดี คงปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานจนถึงวันสุดท้ายที่จะบังคับคดีได้ จึงมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งมิฉะนั้นนับถัดจากวันฟ้องคดีล้มละลายนี้แล้ว หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ก็พ้นกำหนดเวลาที่จะบังคับคดีได้ และเป็นหนี้ที่ไม่อาจจะขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) และเมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากโจทก์แล้ว จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีก กรณีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358, 362
โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน และจำเลยยินยอมส่งมอบการครอบครองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันทำสัญญา ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทต่อไป ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน จำเลยจึงไม่มีอำนาจโดยพลการที่จะตัดโซ่คล้องกุญแจที่โจทก์ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้กุญแจของจำเลยคล้องแทนทำให้โจทก์เข้าบ้านไม่ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ทั้งกุญแจพร้อมโซ่ที่จำเลยใช้ให้ช่างทำกุญแจตัดออกเป็นกุญแจของโจทก์ การที่จำเลยใช้ให้ช่างทำกุญแจพร้อมโซ่ของโจทก์จนเสียหายไร้ประโยชน์ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6841/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 145 วรรคหนึ่ง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่โจทก์และโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดนอกจากนี้อีก และโจทก์จำเลยยอมให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลฎีกาและเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมตึกแถวแก่โจทก์และไม่ต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อใช้แทนโจทก์เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 วรรคสอง
เมื่อยาเม็ดของกลางซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับและยึดได้จากจำเลย มีลักษณะและสีกับทั้งรายละเอียดอื่น ๆ บนเม็ดยาแตกต่างจากยาเม็ดของกลางซึ่งพนักงานสอบสวนส่งไปตรวจวิเคราะห์และพบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ ยาเม็ดของกลางที่ถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงมิใช่ยาเม็ดของกลางที่จับและยึดได้จากจำเลย กรณีจึงไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่ายาเม็ดของกลางในคดีเป็นเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนเอง ก็ไม่สามารถยืนยันในประเด็นเดียวกันนี้ได้ เช่นนี้ต้องถือว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรจึงต้องยกประโยชน์ความสงสัยนี้ให้เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6753/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 21
บุคคลใดจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานของหนี้ที่ฟ้องนั้นจะต้องพิจารณาทั้งตามกฎหมายสารบัญญัติและข้อเท็จจริง โจทก์ทั้งสี่มีที่ดินอยู่ติดต่อกันถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายโดยถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯลฯ ฉบับเดียวกัน และโจทก์ทั้งสี่ถูกกำหนดให้ได้รับค่าทดแทนที่ดินโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นผู้กำหนดโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์พื้นฐานโดยรวมในการกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่เห็นว่าไม่เป็นธรรมข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเกิดจากการกระทำอันเดียวกันคือจากหลักเกณฑ์ในการกำหนดให้ค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เป็นธรรมนั้นโจทก์ทั้งสี่ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดต่อกันมีสภาพของที่ดินและทำเลที่ตั้งเป็นแบบเดียวกันถูกจำเลยจ่ายค่าทดแทนโดยการกำหนดให้ในอัตราเท่ากันด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมอันเดียวกันกรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันมาในคดีเดียวกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 171, 575
ตามหนังสือแต่งตั้งเอกสารหมาย จ.6 เป็นหนังสือที่มีข้อความชัดแจ้งว่าบริษัทในเครือกลุ่มจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์เป็นกรรมการบริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิใช่หนังสือที่จำเลยที่ 1 ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเข้าเกี่ยวข้องอย่างไรกับโจทก์ในลักษณะการว่าจ้าง การที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จึงไม่ขัดกับเอกสารดังกล่าว และเป็นการวินิจฉัยคดีชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7255/2540
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 14 (5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 5, 27 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 150, 153
เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด มิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ หากแต่เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์มูลความแห่งคดีที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษา จึงเป็นการชำระหนี้ที่อาจแบ่งแยกจากกันได้ หาได้เกี่ยวข้องกันไม่ ดังนี้ โจทก์จะเสนอคำฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมมาในคดีเดียวกันมิได้
การที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ไว้พิจารณาโดยขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 150 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 และเมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นก่อนศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องเป็นไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีสำหรับจำเลยดังกล่าว ซึ่งอยู่นอกเขตศาลชั้นต้นไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7250/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 910, 988, 989 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
ช. เป็นผู้กรอกข้อความลงในเช็คพิพาท และลงวันที่ในเช็คหลังจากจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค เช็คพิพาทจึงไม่มีรายการวันออกเช็ค หรือวันจ่ายเงินอันเป็นวันกระทำความผิดหรือวันเกิดเหตุ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(6)บังคับให้ต้องมีรายการนี้ เมื่อไม่มีรายการนี้ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็ค จึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 910 วรรคหนึ่ง,989 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ทรงเช็คสามารถลงวันที่ได้เองลับหลังผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 910 วรรคท้าย,989 วรรคหนึ่ง ก็เป็นเพียงวิธีการในทางแพ่งเพื่อให้เช็คเรียกเก็บเงินได้ เมื่อเช็คพิพาทไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็ค ผู้ออกเช็คก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญา