คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2870/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288
แม้จำเลยกับผู้เสียหายจะเป็นญาติพี่น้องกันสาเหตุแห่งการทำร้ายเกิดจากจำเลยโกรธที่ผู้เสียหายว่ากล่าวตักเตือนให้จำเลยเลิกดื่มสุราจำเลยได้ลอบเข้าไปแทงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนหลับจำเลยเลือกแทงที่ท้องของผู้เสียหายอย่างแรงบาดแผลลึกถึง4นิ้วทะลุลำไส้เล็กตัดเส้นโลหิตใหญ่ฉีกขาดถึงแม้จำเลยจะมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ย่อมถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59วรรคสองและการที่จำเลยไม่แทงซ้ำอีกทั้งๆที่มีโอกาสจะทำได้ก็ไม่ทำให้ความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปเพราะเจตนาโดยเล็งเห็นผลนั้นมุ่งถึงลักษณะแห่งการกระทำและผลของการกระทำที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลักมิได้มุ่งถึงเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145 วรรคหนึ่ง
ในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้ร้องนั้นศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382คำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคหนึ่งเมื่อคู่ความแถลงรับว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้และคดีก่อนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและมีจำนวนเนื้อที่ประมาณ2ไร่เท่ากันดังนั้นผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ2ไร่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะจำเลยที่3ฟ้องแย้งว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่3เป็นคดีนี้ทำให้จำเลยที่3ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังหมดความเชื่อถือในการประกอบอาชีพขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นเรื่องที่จำเลยที่3กล่าวหาว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่3เป็นคดีนี้ทำให้จำเลยที่3ได้รับความเสียหายดังนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่3อาศัยเหตุต่างกันจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 15, 22 (5)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326,328,83ต่อศาลแขวงโดยบรรยายฟ้องแยกเป็น3ข้อแต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและการกระทำของจำเลยไม่เหมือนกันแต่ละกรรมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองจึงเป็นความผิดหลายกรรมมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90เมื่อปรากฏว่าความผิดฟ้องข้อ1เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา15ประกอบด้วยมาตรา22(5)ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326ตามฟ้องข้อ1นี้ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดีแม้ว่าความผิดตามฟ้องข้อ2และข้อ3จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน200,000บาทเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176, 185
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา176ที่ว่าถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องให้ศาลพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานนั้นมิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไปถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา185โดยเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสามกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่5ปีขึ้นไปศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดีเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสามดังนี้จำเลยจึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายขอให้จำเลยพากลับบ้านโดยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยออกไปแต่จำเลยไม่พาผู้เสียหายกลับบ้านแต่พาไปที่บ้านเพื่อนจำเลยที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านดังกล่าวหลายวันและจำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลยหากผู้เสียหายไม่เต็มใจไปกับจำเลยผู้เสียหายก็มีโอกาสจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้เพราะก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอสามพรานจำเลยยังแวะบ้านเพื่อนจำเลยที่หนองแขมก่อนและปรากฎว่าบ้านที่อำเภอสามพรานที่ผู้เสียหายพักอยู่กับจำเลยนั้นมีคนอื่นอยู่ร่วมด้วยผู้เสียหายก็มิได้ขอความช่วยเหลือแต่เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนั้นจำเลยมีความประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายดังนั้นการที่จำเลยพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุ14ปีเศษจากกรุงเทพมหานครไปอำเภอสามพราน และได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน15ปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจารโดยปราศจากเหตุอันสมควรจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391
โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จากจำเลยไว้ 1 คัน ในราคา2,370,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท หลังจากสั่งจองแล้วจำเลยไม่ติดต่อให้โจทก์ไปรับรถ โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยบอกเลิกการจองซื้อรถและขอรับเงินมัดจำคืน แม้ใบสั่งจองรถยนต์จะมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองไว้ แต่การสั่งจองได้ระบุยี่ห้อ แบบ และรุ่นของรถยนต์ไว้ ตามปกติผู้ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ก็ต้องมีความประสงค์จะได้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งก็เป็นที่คาดกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะต้องส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในเวลาอันสมควร ไม่ล่าช้ามากเกินไป นับจากวันที่โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการจองและขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำเป็นเวลา 5 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากนั้นจำเลยก็ยังเพิกเฉย หาได้เสนอที่จะชำระหนี้โดยส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจองรถยนต์ที่โจทก์จำเลยทำไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไป โจทก์และจำเลยต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2858/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคห้า
องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 คือการพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล คำว่า "พราก"หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล แม้จะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงและเด็กเต็มใจไปด้วย ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้
จำเลยมีอาชีพรับจ้างโดยขับรถรับจ้างรับส่งผู้โดยสารทั่วไปได้รับส่งเด็กหญิงทั้งสาม พาไปเลี้ยงไอศกรีม พาไปเที่ยวแล้วจึงส่งกลับบ้านเป็นการชั่วคราวก็ตาม แต่เมื่อไปถึงบ้านของเด็กหญิง เด็กหญิงจะลงจากรถ จำเลยก็ชักชวนให้ไปกับจำเลยจนกระทั่งล่วงเลยเวลากลับบ้านตามปกติ รุ่งขึ้นก็ชักชวนเด็กหญิงดังกล่าวไปกับจำเลยอีกโดยสัญญาว่าจะพาไปเลี้ยงไอศกรีม ทั้งยังเล่าเรื่องร่วมเพศให้เด็กหญิงฟังและนัดหมายจะพาไปเรียนว่ายน้ำและสอนขับรถในวันต่อมา ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยได้พาเด็กหญิงไปกินไอศกรีม โดยจำเลยเป็นผู้จ่ายเงิน นอกจากนี้จำเลยยังให้เงินและเสี้ยมสอนให้เด็กหญิงทั้งสามโกหกบิดามารดาในการกลับบ้านผิดปกติและล่วงเลยเวลา เด็กหญิงทั้งสามอายุเพียง 10 ปี ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา การกระทำของจำเลยแม้จะพรากไปเพียงชั่วคราว แต่ก็มิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ทั้งไม่ปรากฏว่าการพาไปดังกล่าวเพราะเหตุสมควรประการใด จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม เพราะลำพังการเล่าเรื่องลามกอนาจารยังไม่พอฟังว่าเป็นความผิดตามตัวบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 317 วรรคสามโดยไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคหนึ่ง แต่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำผิดตามมาตรา 317 วรรคหนึ่งด้วย เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคหนึ่ง ศาลก็ปรับบทลงโทษตามความผิดที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคหก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9
เมื่อจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวกรณีก็ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา9ที่โจทก์จะฟ้องขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายได้ศาลหาจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามมูลหนี้ในฟ้องหรือไม่อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 19, 20, 31, 65 ตรี
เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 เกี่ยวกับประเด็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(18) การที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าโจทก์มีรายจ่ายซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(18) และปรับปรุงรายได้ของโจทก์เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำการประเมินในรายการนี้ไว้และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ ย่อมเป็นการข้ามขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19,20 จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2846/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 73, 74
ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ได้ความอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 73 แล้วจึงมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4) การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุนและไม่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลอันมีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองสามารถชำระหนี้โจทก์ได้จึงได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งมิได้นำบัญชีในการประกอบธุรกิจและงบดุลประจำปีในระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นฐานะของกิจการโดยถูกต้องตามจริง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 74 ว่าจำเลยทั้งสองขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 73(1) และ (3)ประกอบกับโจทก์คัดค้าน จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยทั้งสองจากล้มละลาย