คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6398/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 249 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 18, 21
ข้ออุทธรณ์ฎีกาของโจทก์ซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย จึงเป็นอุทธรณ์ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกา ที่ดินมรดกของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนด้านที่ติดคลองกลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนที่ที่จะก่อสร้างเนื่องจากการเวนคืนซึ่งเป็นถนนที่ใช้เป็นทางสัญจรกว้าง 60 เมตรเป็นถนนขนาดใหญ่ แม้จะทำให้ที่ดินด้านกว้างซึ่งติดถนนสาธารณะอยู่แล้วแคบลงไปกว่าเดิม และเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้ที่ดินส่วนที่เหลือก่อสร้างอาคารสูงตามความตั้งใจของโจทก์ก็ตาม แต่ประโยชน์ในทางอื่นที่โจทก์ได้รับจากการใช้ที่ดินส่วนที่เหลือด้านที่ติดกับถนนที่ทางราชการตัดใหม่กลับมีมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก คือสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดแนว ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนออกใช้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ก็ตาม แต่มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับ เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530หมวด 2 เงินค่าทดแทน และผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(1) ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นต้องเป็นกรณีที่ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลง แต่เมื่อที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้น ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับการต้องถอยร่นระยะจากแนวถนนสาธารณะเมื่อมีการก่อสร้างอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 434 วรรคหนึ่ง, 880 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่2เป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกกอล์ฟซึ่งจำเลยที่2ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกแบบโครงสร้างได้ออกแบบผิดพลาดมาตั้งแต่แรกและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีสัญญาณบอกเหตุว่าโครงเหล็กบางส่วนล้มลงแม้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสริมเหล็กค้ำยันโครงเหล็กก็กระทำเพียงบางส่วนแต่โครงสร้างยังเหมือนเดิมเมื่อปรากฏว่าพายุฝนในวันเกิดเหตุเป็นพายุฝนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัทล. ได้รับความเสียหายจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา434วรรคหนึ่ง แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ระบุไว้ในช่องหมายเหตุว่าการประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุฯลฯเปียกน้ำฯลฯตามเงื่อนไขแนบท้ายกรมธรรม์ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยพายุที่ทำให้สต็อกสินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายไม่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตามแต่พายุฝนที่เกิดขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่2ล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต๊อกสินค้าของบริษัทล. เปียกน้ำฝนได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่2เจ้าของสิ่งก่อสร้างต้องรับผิดชอบโจทก์ซึ่งรับประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าและประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องจากบริษัทดังกล่าวและกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยให้ความคุ้มครองภัยอันเกิดจากพายุและน้ำฝนจึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากความผิดของจำเลยที่2นั่นเองเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทล. แล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทล. ผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อจำเลยที่2บุคคลภายนอกเพียงนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 273, 295 (1)
คำบังคับที่ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาที่ให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระหนี้เอง หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์ย่อมร้องขอให้ใช้วิธีการบังคับยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองได้ และแม้จำเลยไม่ชำระหนี้จนพ้นกำหนดตามคำบังคับและ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เข้ายึดทรัพย์สินแล้วก็ไม่ปิดทางให้จำเลยทั้งสองยอมชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ การที่จำเลยที่ 1ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ไม่ต้องดำเนินการบังคับคดีต่อไป ไม่มีเหตุที่โจทก์จะปฏิเสธการรับรถยนต์ ผลคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้สองรายการ คือ คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ ราคากับจำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหายจำนวนหนึ่งการบังคับคดีโจทก์ต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นอันดับแรก และยึดทรัพย์สินอื่นเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้เงินตามรายการหลัง โจทก์ไม่ได้นำยึดรถยนต์เพียงแต่นำยึดที่ดินเพื่อหวังขายทอดตลาดชำระหนี้เงิน ต่อมาจำเลยที่ 1นำรถยนต์ไปคืนให้โจทก์โดยวางต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้รถยนต์แล้ว ข้อที่ว่าหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อและค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางแม้เป็นการชำระหนี้หลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ก็ไม่มีเหตุที่จะขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(1) ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 6, 821, 822, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5)
จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ช่วยค้ำประกันหนี้กู้ยืมโดยจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่มีข้อความกรอกไว้มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อและแจ้งว่าถ้ากรอกข้อความไปไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานที่ดินจะไม่ดำเนินการให้ โจทก์เชื่อใจจำเลยที่ 1 จึงลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวพร้อมกับมอบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและโฉนดที่ดินพิพาทให้ไป การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1มีอำนาจขายที่ดินและบ้านพิพาทได้ก็ตาม ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนซื้อขายเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 แล้วจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารจนกระทั่งจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ดังกล่าวโดยตรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์อย่างไรลำพังราคาทรัพย์ที่ระบุในสัญญาจดทะเบียนโอนขายเป็นราคาประเมินหาใช่ราคาที่แท้จริงตามที่จำเลยทั้งสองซื้อขายกันจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทมาจากจำเลยที่ 1มิได้ล่วงรู้ถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับการโอนที่ดินและบ้านพิพาทเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จากโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงรับโอนที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน หากให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทด้วยเหตุผลว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอนย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เป็นอย่างมาก และความเสียหายนี้ก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์โดยตรงดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาที่ดินและบ้านพิพาทคืนโดยฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 86, 104, 142, 183
จำเลยรับว่าใบจองตามที่ถูกโจทก์ฟ้อง จำเลยออกทับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ซึ่งจำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้ว และก่อนฟ้องจำเลยได้โอนขายให้ ก.ไปแล้ว ส่วนโจทก์แถลงรับว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.2 ใบจองเดิมของจำเลยได้โอนขายให้ ก.ไปแล้วจริง ดังนี้ หากที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์กับที่ดินตามใบจองของจำเลยเป็นคนละแปลงกัน จำเลยก็ไม่ได้ออกใบจองทับที่ดินของโจทก์โจทก์ย่อมไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือได้รับความเสียหายใด ๆ จากการที่จำเลยออกใบจองและโจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนสิทธิครอบครองตามใบจองได้ ที่ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยและเห็นว่าเมื่อจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวให้แก่ ก.ไปแล้ว ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิหรืออำนาจใด ๆ ที่จะไปยื่นเรื่องขอเพิกถอนสิทธิครอบครองใบจอง (น.ส.2) ตามคำขอท้ายฟ้องได้ และพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352
ขณะสุราของโจทก์ร่วมหายไปไม่มีพยานรู้เห็นโจทก์ร่วมมาทราบว่าสุราขาดหายก็เนื่องจากมีการตรวจสอบบัญชีสุราคงเหลือและที่กล่าวหาจำเลยทั้งสองก็เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบในสุราที่หายไปแต่ปรากฎว่ายังมีช. พนักงานของโจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งเป็นผู้นำสุราไปขายให้แก่ร้านค้าและเก็บเงินจากร้านค้าซึ่งภายหลังเกิดเหตุช. ได้หลบหนีไปพยานโจทก์และโจทก์ร่วมนอกจากนี้ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันหรือชี้ชัดได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยักยอกสุราของโจทก์ร่วมไปมีวิธีการยักยอกและนำไปจำหน่ายอย่างไรดังนั้นการที่สุราของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต๊อกอาจจะเป็นเพราะช. นำไปขายและยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ก็ได้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1ยักยอกสุราของโจทก์ร่วมไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติการพนัน ม. 12
ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบและความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันสลากกินรวบต่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกันเมื่อคำฟ้องโจทก์ระบุยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบและเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยให้การรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวซึ่งเป็นความผิด2กรรมต่างกันต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป นอกจากเงินของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมีจำนวนเล็กน้อยเพียง20บาทซึ่งแสดงว่าจำเลยมิใช่ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบและเจ้ามือรับกินรับใช้รายใหญ่แล้วยังไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนจึงสมควรรอการลงโทษให้จำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 223 ทวิ, 243, ตาราง 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน1 ปี นับแต่วันที่ ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน 1 ปี นับแต่พ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรี เมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2537 โดยรัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ในวันที่9 กุมภาพันธ์ 2537 ดังนี้ โจทก์จะต้องอุทธรณ์ภายใน 60 วันนับแต่วนที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนโจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2537 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2537 หากถือว่าโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และรัฐมนตรีรับอุทธรณ์ในวันดังกล่าวนี้ เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์มาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์สิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2537 ซึ่งจะครบ 1 ปี ในวันที่ 7 กันยายน2538 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2538 เกินกว่า1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์อันพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วแม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวฟ้องขึ้นก็ตามแต่เมื่อศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองได้ และต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก อุทธรณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มาจำนวน 200,000 บาทจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6387/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 54, 76 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (7), 214 พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 48, 73
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48 และมาตรา 73 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ระบุอ้างบทมาตราที่เป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษยกขึ้นปรับแก่คดีตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(7)ประกอบมาตรา 214 บัญญัติไว้ถูกต้องแล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามวรรคใดนั้นเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76คือการลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่จำเลยกระทำโดยลดลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งแล้วจึงกำหนดโทษที่จะลงในระหว่างนั้น มิใช่ให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงลดจากโทษที่ได้กำหนดไว้ จึงต่างกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดแล้ว และการลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 มิใช่เป็นบทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือบทกำหนดโทษแม้ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทที่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2ว่าเป็นมาตรา 76 ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(7)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4 วรรคสอง, 609 วรรคสอง, 616, 880 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58
สัญญารับขนสินค้าพิพาททำขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534ซึ่งในวันดังกล่าว พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับแม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2536 หลังจากที่ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับแล้ว ในการพิจารณาถึงสิทธิเรียกร้องและความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้าที่ขนส่งทางทะเล จึงต้องนำเอากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญามาปรับใช้แก่คดี เพราะหากนำเอาพ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีมาปรับใช้แก่คดีแล้วย่อมเป็นช่องทางให้คู่กรณีเลือกใช้กฎหมายที่จะปรับแก่คดีได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง กรณีจึงต้องนำ ป.พ.พ.บรรพ 3 ลักษณะ 8หมวด 1 ว่าด้วยรับขนของ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาปรับใช้แก่คดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 609 วรรคสองและมาตรา 4 วรรคสอง
บริษัท บ.ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมายังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 มีตัวแทนในประเทศไทยชื่อบริษัท ล. และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งมีบริษัท อ.เป็นตัวแทนในประเทศไทยขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมายังกรุงเทพมหานครอีกต่อหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าแล้วก็ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ใช้เรือชื่อ ดาร์ยา ชัน บรรทุกสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมายังประเทศไทยและมาถึงเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีแม้ใบตราส่งดังกล่าวในช่องผู้ออกใบตราส่งจะลงนามโดยบริษัท อ.ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเป็นการลงนามในฐานะตัวแทนผู้ขนส่งเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ออกใบตราส่งดังกล่าว
สัญญาเช่าเรือแม้จะมีข้อความระบุว่าเรืออยู่ในอำนาจการสั่งการของผู้เช่าเรือ แต่ในสัญญาดังกล่าวก็ได้ระบุให้เจ้าของเรือคือจำเลยที่ 2มีหน้าที่จัดเรือให้ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำเรือ กะลาสี ช่างกล ช่างไฟ ซึ่งเพียบพร้อมสำหรับเรือในขณะนั้น และเจ้าของเรือจะจัดหาและจ่ายค่าเสบียงอาหารทั้งหมด ค่าจ้างและค่าธรรมเนียมกงสุลเกี่ยวกับเรือและค่าขนถ่ายสินค้าสำหรับลูกเรือและในสัญญาเช่าเรือข้อ 8 ก็กำหนดไว้ว่าผู้เช่าเรือทำการบรรทุก จัดเรียงและทำให้เรือสมดุล การผูกรัดสินค้าและการปลดเปลื้อง การตรึงแน่น การปลดจาก การตรึง…ภายใต้การควบคุมดูแลและรับผิดชอบของนายเรือ ซึ่งตามข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นเจ้าของเรือยังมีอำนาจในการควบคุมเรือและเป็นผู้จ่ายค่าจ้างแก่ลูกเรือ นอกจากนั้นตามข้อตกลงสัญญาเช่าเรือ ข้อ 44 ที่ระบุว่านายเรือจะลงนามในใบตราส่งสำหรับสินค้าทั้งหมดที่ได้ขนภายใต้สัญญาเช่าเรือนี้ถ้าผู้เช่าเรือขอร้องหรือผู้เช่าเรือต้องการ ผู้เช่าเรือหรือผู้ตัวแทนของเขาได้รับมอบอำนาจไว้ ณที่นี้ในการลงนามใบตราส่ง ในนามของเจ้าของเรือหรือนายเรือ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามใบรับรองของนายเรือหรือใบรายการตรวจนับสินค้า ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าการออกใบตราส่งนายเรือเป็นผู้ลงนามในใบตราส่งตามคำขอของผู้เช่าเรือ และในกรณีที่ผู้เช่าเรือหรือตัวแทนได้รับมอบอำนาจให้ออกใบตราส่ง การออกใบตราส่งนั้นต้องเป็นไปตามใบรับรองของนายเรือหรือใบรายการตรวจนับสินค้า เห็นได้ว่าการออกใบตราส่งตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการออกใบตราส่งในนามของเจ้าของเรือคือจำเลยที่ 2 และต้องเป็นไปตามใบรับรองของนายเรือหรือใบรายการตรวจนับสินค้ามิใช่ผู้เช่าเรือจะออกใบตราส่งในนามของตนเองหรือตามอำเภอใจได้ ซึ่งแสดงให้เห็นสถานะของเจ้าของเรือคือจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าเรือดังกล่าวว่ายังรับผิดชอบในการเดินเรือ การขนส่งสินค้ารวมทั้งการออกใบตราส่งเท่ากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าในเรือนั้นด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่บริษัท อ.เป็นผู้ออกใบตราส่งในนามของตนเองและต้องรับผิดตามเนื้อความในใบตราส่งโดยลำพังไม่ และการออกใบตราส่งซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งเช่นนี้หากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายไป จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ออกใบตราส่งก็ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งตามเนื้อความในใบตราส่งนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทนี้ด้วย
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทด้วยแล้ว แม้สินค้าพิพาทจะมิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่สินค้าพิพาทได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 3 จากเรือดาร์ยา ชัน ของจำเลยที่ 2 จากเกาะสีชังมายังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งของทางทะเลเพื่อนำมาส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ณ ท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งและเป็นสถานที่ส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นผู้ขนส่งด้วยทอดหนึ่งจึงต้องร่วมรับผิดในการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายไปด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 616 ประกอบมาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
ขณะทำสัญญารับขนคดีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534 ยังมิได้มีผลบังคับ จึงมิอาจนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ได้ และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องปรับใช้ ป.พ.พ.บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 ว่าด้วยการรับขนของอันเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้วและ ป.พ.พ.มาตรา 616 มิได้บัญญัติจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินกิโลกรัมละ 30 บาท ของน้ำหนักสุทธิดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 48 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายเต็มจำนวนแห่งความเสียหายที่แท้จริงตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบ
เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายต่อบริษัท ส.และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าพิพาทที่สูญหายไปให้แก่บริษัท ส. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นเงิน 409,665 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัท ส.ผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์