คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 26, 75, 76
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ก. ว่า จำเลยมีกัญชา 3 ถุงไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า จำเลยจำหน่ายกัญชาจำนวนและน้ำหนักไม่ปรากฏชัดอันเป็นส่วนหนึ่งของกัญชาที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวในฟ้องข้อ ก.ให้แก่ผู้มีชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อตามฟ้องดังกล่าวโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายกัญชาอันเป็นส่วนหนึ่งของกัญชา 3 ถุง ตามฟ้องข้อ ก. ซึ่งยึดได้ที่บ้านจำเลยเท่านั้นแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณากลับได้ความว่ากัญชาที่ จำเลยจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ ข. เป็นกัญชาคนละจำนวนกับกัญชา 3 ถุง ที่ยึดได้ที่บ้านจำเลย ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 87, 174 เดิม, 820, 1599, 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 86, 183 วรรคสอง, 245 (1), 247
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา174เดิมซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทได้บัญญัติว่า"การฟ้องคดีท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหากว่าคดีนั้นได้ถอนเสีย"ดังนั้นการที่โจทก์ถอนฟ้องเรื่องเดียวกันในคดีก่อนแล้วได้ฟ้องใหม่เป็นคดีนี้จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ตามคำให้การของจำเลยที่15ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยชัดแจ้งว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่1โดยจำเลยที่15ไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ตกลงให้ความยินยอมในการผ่อนเวลาดังกล่าวดังนั้นจำเลยที่15จึงมีสิทธินำสืบต่อสู้ในเรื่องโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยจำเลยที่15ผู้ค้ำประกันไม่ได้รู้เห็นและยินยอมด้วยได้ ร.ทำสัญญายืมเงินและสัญญารับสภาพหนี้ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่1โดยมิได้ร่วมกับจำเลยที่1ทำสัญญาดังกล่าวในฐานะส่วนตัวด้วยร. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวเมื่อร.ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่5ทายาทของร.จึงไม่มีหนี้ที่ตกทอดจากร. ผู้ตายให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่2ถึงจำเลยที่4และจำเลยที่6ถึงจำเลยที่8ซึ่งเป็นทายาทของร. แม้จะไม่ได้ฎีกาเหมือนจำเลยที่5ด้วยก็ตามแต่การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จำเลยเหล่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่5ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยดังกล่าวทุกคนด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)และมาตรา247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 243 (2), 249
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งจำเลยมีสิทธิใช้ทรัพย์ดังกล่าวในฐานะเจ้าของรวมได้จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าที่พิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกและคดีขาดอายุความแล้วดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำขอบังคับตามคำฟ้องโจทก์ย่อมเป็นอันตกไปการจะวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ดังที่จำเลยฎีกามาฝ่ายเดียวจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปและประเด็นตามฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบนั้นหรือไม่ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 177 วรรคสอง, 179 วรรคท้าย
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความซึ่งโจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อหน้าศาลในคดีอาญาเรียกเงินจำนวน500,000บาทที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่15มกราคม2538แต่จำเลยไม่ชำระให้ในเวลาที่กำหนดจำเลยฟ้องแย้งโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นจำเลยที่1ในคดีดังกล่าวในข้อหายักยอกทรัพย์ทำให้จำเลยไม่สามารถขอคืนเงินค่าปรับนายประกันจากศาลที่สั่งปรับนายประกันเป็นเงินจำนวน500,000บาทได้และความเสียหายส่วนนี้เมื่อนำมาหักกลบกับจำนวนเงินตามฟ้องแล้วจำเลยไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์อีกและการที่โจทก์ไม่ดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดต้องหลบๆซ่อนๆไม่สามารถทำการงานเป็นหลักแหล่งได้จึงให้โจทก์ชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสองนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องจำนวน360,000บาทและนับถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ15,000บาทจนกว่าโจทก์จะดำเนินการถอนแจ้งความร้องทุกข์นั้นฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้เกี่ยวกับการขอคืนเงินค่าปรับนายประกันนั้นเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขเพราะไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะขอคืนเงินค่าปรับที่ศาลสั่งปรับนายประกันได้หรือไม่ทั้งการนำเงินที่ได้คืนจากค่าปรับเพื่อนำมาหักกลบกับเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความนั้นก็มิได้มีอยู่ในข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้ต่อกันข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้ออ้างที่ยกขึ้นและในส่วนของค่าเสียหายที่ผู้ร้องสอดไม่ได้ทำงานก็เป็นความเสียหายของผู้ร้องสอดมิใช่ความเสียหายของจำเลยแต่อย่างใดฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสามและมาตรา179วรรคท้าย โจทก์ฟ้องจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาลจึงเป็นเรื่องโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้นหาได้เกี่ยวกับผู้ร้องสอดไม่ผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่จะใช้สิทธิในการร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 225
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับโจทก์ยอมรับแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ได้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นการที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยเองว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งแล้วจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300, 1711
แม้การที่จำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดแทนทายาทได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงฐานะผู้จัดการมรดกเป็นฐานะส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่1ยังคงไม่ได้สิทธิในส่วนมรดกของโจทก์ทั้งสองก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่1โอนขายทรัพย์มรดกพิพาทนี้ให้แก่จำเลยที่2โดยมีค่าตอบแทนและจำเลยที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิมาโดยสุจริตกรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1300ซึ่งคุ้มครองเป็นพิเศษสิทธิของจำเลยที่2ผู้รับโอนจึงดีกว่าจำเลยที่1ผู้โอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 537/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 386, 388, 391, 472, 1088 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177, 183, 249
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืนจากจำเลยทั้งสามโดย อ้างว่าได้ส่งสินค้าคืนจำเลยทั้งสามแล้ว แม้โจทก์บรรยาย ในคำฟ้องว่า สินค้าของจำเลยไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจำเลยให้การว่าไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับ โจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า สินค้าของจำเลยชำรุดบกพร่องหรือไม่ ทั้งได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตลอดมาถึงศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์นำสินค้าไปคืนจำเลยโดยอ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมรับสินค้าคืนจากโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามยินยอมรับคืนโดยมีเงื่อนไขอย่างไร ย่อมฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าคืนจากโจทก์แล้วจึงจำต้องคืนราคาสินค้าแก่โจทก์ด้วย กรณีมิใช่พิพาทกันในเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ซื้อขายกัน โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,164,684 บาทแต่ในการชำระราคา เมื่อโจทก์ทราบว่าสายไฟฟ้าที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจึงสั่งอายัดเช็คจำนวน350,000 บาท และโจทก์ยังค้างชำระราคาสินค้าจำนวน350,000 บาท ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจาก ราคาสินค้าทั้งหมดก่อน คงเหลือราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1ต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 2,814,684 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ในการเจรจาติดต่อนำสินค้า ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งการทวงถามค่าสินค้าคืนจาก จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ติดต่อโดยตรงกับจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ติดต่อซื้อสายไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 โดยติดต่อผ่านส. โดยไม่ระบุยี่ห้อ และไม่มีข้อตกลงกำหนดมาตรฐานคุณภาพของสินค้าไว้ โดยการสั่งซื้อ โจทก์ไม่ได้ระบุว่าสินค้าจะผลิตจากโรงงานใด โจทก์เพียงแต่ระบุขนาดของสายไฟฟ้าที่จะ ใช้เท่านั้น นอกจากนี้ก็เป็นความผิดของโจทก์เองที่นำสายไฟฟ้า ไปติดตั้งก่อนโดยไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ จึงเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลย ไม่อาจคาดเห็นได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดคืนราคาสินค้า และให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่งแก่โจทก์ มิได้พิพาทกัน เกี่ยวกับความรับผิดในการรอนสิทธิ ที่จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าขาดอายุความ ในเรื่องใด อย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
แม้โจทก์มีบ. ประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายเพียงปากเดียวแต่บ. มีโอกาสเห็นคนร้ายหลายครั้งและเห็นจำเลยที่2ในตลาดซึ่งแสงไฟฟ้าส่องสว่างบ.มีอาชีพเป็นยามมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในตลาดย่อมมีความระมัดระวังและต้องใช้ความสังเกตเป็นพิเศษเพราะจำเลยที่2ขับรถจักรยานยนต์มาวนเวียนอยู่ที่ตลาดหลายเที่ยวในเวลายามวิกาลเป็นการผิดปกติโดยเฉพาะตอนที่บ. เดินไปตีระฆังบอกเวลาได้เดินสวนกับจำเลยที่2ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ที่ซึ่งมีแสงไฟนีออนส่องสว่างเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวจำเลยที่2มาให้ดูหลังเกิดเหตุประมาณ19ชั่วโมงบ. ก็ยืนยันทันทีโดยไม่ลังเลว่าจำเลยที่2เป็นคนร้ายทั้งระบุด้วยว่าเพื่อนจำเลยที่2ที่ถูกจับมาด้วยอีกคนหนึ่งไม่ใช่คนร้ายบ. ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่2มาก่อนคำพยานมีเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยที่2ได้ไม่ผิดตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 114
จำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกของร.ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่1และร.จากชื่อร.มาเป็นของจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกของร.ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่1เป็นการโอนทรัพย์สินของจำเลยที่1รวมอยู่ด้วยครึ่งหนึ่งและเมื่อเป็นการโอนภายใน3ปีก่อนจำเลยที่1ถูกฟ้องให้ล้มละลายต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา114แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนรายนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1733 วรรคสอง
โจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกแทนที่ต้องฟ้องเรียกมรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษให้นับอายุความ5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงหาใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่ ทรัพย์มรดกคงมีที่ดินเพียงแปลงเดียวจำเลยได้โอนที่ดินมรดกโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตนและท.เป็นผู้รับมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่24ตุลาคม2527โดยมิได้จัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์และเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีกถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้วเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ก็ต้องฟ้องภายในเวลาไม่เกิน5ปีนับแต่วันที่24ตุลาคม2527เมื่อโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16ตุลาคม2534เกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสอง