กฎหมายฎีกา ปี 2541
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4721/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10
เมื่อไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานลูกจ้างเมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนั้น การที่โจทก์ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ก่อนที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์การพักงานโจทก์จึงไม่ใช่สืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์
โจทก์ขอลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบแล้ว จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออก แต่กลับสั่งพักงานโจทก์ โจทก์จึงยังไม่พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอยู่ ไม่ว่าในระหว่างที่จำเลยพักงานโจทก์ จำเลยได้จ่ายงานให้โจทก์ทำหรือไม่ ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้ขอพักงานเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 150, 1356, 1359 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 59, 150, ตาราง 1 ข้อ 1 (ก) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 10, 21 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
แม้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ได้สิ้นอายุการใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 แต่ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อนซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง พ.ศ. 2530 เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางพิเศษสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อและสาธร-ลาดพร้าว ยังไม่แล้วเสร็จ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 เป็นการออกเพื่อดำเนินการในกิจการเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง พ.ศ. 2530และต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสาธร-ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ จำเลยที่ 2 กระทำโดยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ จึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ย่อมไม่ตกเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้เมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งศาลมีข้อความประทับไว้ว่า รับเรื่องแล้ว โดยมีลายมือชื่อผู้รับและผู้ส่งกับวันที่รับหนังสือ คือวันที่ 8 เมษายน 2536 นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8เมษายน 2536 ที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 60 วัน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้วโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ตามเอกสารหมาย จ.7 อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์ทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 10 เมื่อการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ที่ถูกเวนคืนจำเลยที่ 1 กระทำโดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การดำเนินการของฝ่ายจำเลยในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนจึงต้องคำนึงถึง มาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ
เจ้าของที่ดินได้ทำการพัฒนาที่ดินภายหลังที่ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อให้ที่ดินมีความเจริญขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในส่วนที่พัฒนาให้เจริญขึ้นนั้น
โจทก์กับเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งมีที่ดินอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงพ.ศ. 2530 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกันทำการแบ่งแยกที่ดินและทำทางเข้าออกที่ดินในบริเวณดังกล่าวในขณะที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินเหล่านั้นจะต้องถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และโดยมีเจตนาในการแบ่งแยกที่ดินและใช้ส่วนหนึ่งของที่ดินที่แบ่งแยกนั้นสร้างทางลูกรังขึ้น เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าที่ดินส่วนมากในบริเวณนั้นอยู่ติดทางเพื่อให้ได้เงินค่าทดแทนที่ดินมากขึ้นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากกำหนดเงินค่าทดแทนของโจทก์โดยถือว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีสภาพและที่ตั้งในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับอยู่ติดกับทางลูกรังที่ฝ่ายโจทก์กระทำขึ้นโดยไม่สุจริตดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะได้รับอย่างกรณีปกติ ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สังคม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนในคดีนี้มีด้านหนึ่งอยู่ติดทางหรืออยู่ติดถนนสาธารณะ
สภาพที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงของโจทก์ในขณะที่ถูกเวนคืนยังไม่ได้รับการพัฒนา และไม่มีถนนหรือทางสาธารณะเข้าถึงที่ดินทั้งสองแปลง การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนโดยถือตามราคาบัญชีประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งได้ประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง โดยทางราชการได้สำรวจถึงสภาพทำเลและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ ตลอดจนนำราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินและข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ประกอบในการพิจารณาประเมินราคาที่ดิน โดยคำนึงถึงราคาในขณะประกาศใช้และราคาในอนาคตตามสภาพความเจริญของที่ดินเป็นเกณฑ์ ตามบัญชีประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าว กรมที่ดินได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2538 กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ใช้ราคาประเมินของที่ดินที่อยู่ติดซอยตารางวาละ 30,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ซึ่งเป็นที่ดินทางภารจำยอมตารางวาละ 15,000 บาทซึ่งเชื่อได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ตารางวาละไม่เกิน 30,000 บาท ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ตารางวาละ 30,000 บาท จึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) อันเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนแล้ว
ส่วนการที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 เป็นที่ดินที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงอื่น 13 แปลง โดยการกระทำที่ไม่สุจริตเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะได้รับอย่างกรณีปกติ โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจึงต้องรับผลเสียอันเกิดจากการจดทะเบียนภารจำยอมของที่ดินแปลงนี้เอง การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ตารางวาละ 15,000 บาท เพราะสภาพที่ดินตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินแปลงอื่นนั้น เป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่จะต้องเวนคืนทั้งสองแปลงที่ถูกเวนคืน และโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นโดยบรรยายฟ้องถึงสิทธิในที่ดินและความเสียหายของโจทก์ทั้งสองรวมกันมา มิได้ระบุแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน และเป็นการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในที่ดินที่จะต้องเวนคืนในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวม การคิดค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคำนวณรวมกันจากจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง โจทก์ทั้งสองจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลรวมกันไม่เกิน200,000 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ(1)(ก)การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นคนละ 200,000 บาทจึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในส่วนที่เรียกเก็บเกินมาให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 5 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงานยังถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ปล่อยให้ฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายเกินมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด จำเลยย่อมคาดหมายได้ว่าฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจายนั้นย่อมเกิดอันตรายต่อโจทก์ การเจ็บป่วยของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 156 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 188 (1)
การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 และมาตรา 188(1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติกล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ที่ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใดผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4420/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 147, 188, 271
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นไปแล้ว คดีได้เสร็จสิ้นกระบวนการสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งแต่ก่อนวันที่ผู้ร้องสอดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความเกิน10 ปี การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นก็ไม่มีอีกต่อไป ผู้ร้องสอดจึงไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ในคดนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เทศบาลตำบลหัวหินจึงเป็นผู้มีอำนาจควบคุมดูแลและหาผลประโยชน์ในที่พิพาทโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับเทศบาลตำบลหัวหิน แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเทศบาลหัวหิน มีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์มีบุคคลสิทธิต่อเทศบาลตำบลหัวหินในอันที่จะใช้สอยหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เท่านั้น แต่หามีผลทำให้โจทก์เกิดสิทธิที่จะหวงกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2541
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 69 วรรคสอง
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2)บัญญัติว่า "ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร" ย่อมหมายความว่า การมีไว้ในความครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปหากเป็นไม้อื่น ๆ นอกจากไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. แล้ว จะเป็นความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง (2) ได้ก็ต่อเมื่อ ปริมาณไม้อื่น ๆ เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันแล้วเกิน 20 ต้น หรือท่อนก็ได้ หรือรวมกันแล้วมีปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร ก็ได้ เมื่อจำเลยมีไม้ประดู่ 47 ท่อน ไม้มะค่าโมง 47 ท่อนรวม 94 ท่อน จึงถือได้ว่าจำเลยมีไม้อื่น ๆ เป็นท่อนรวมกันแล้วเกิน 20 ท่อน การกระทำของจำเลยย่อมครบถ้วนองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง (2) แม้ว่าไม้ท่อน ดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีปริมาตรไม้ไม่เกิน4 ลูกบาศก์เมตรก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2541
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 84, 340, 340 ตรี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 2 คน กระทำความผิดฐานพยายาม ปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และ ส.กับพวกเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 1 ไปรออยู่ที่ร้านอาหาร และย้อนกลับมาดูจำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อทราบว่าจำเลยที่ 2 กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับโดยพวกของจำเลยที่ 2 หลบหนีไปได้การที่จำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ และจำเลยที่ 3เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ แม้จำเลยที่ 3จะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำการปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 และพวกอีก 2 คนก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวคิดจะไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ก่อนแล้ว กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกันปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 2 คนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการผู้ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ลงจากรถยนต์กระบะไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ไม่เกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที 2 หรือจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครองและพาติดตัวมาใช้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ และไม่ปรากฏว่าคนร้ายคนใดเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิง ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การปฏิเสธในข้อหามีและพาอาวุธปืนตลอดมา จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขับรถยนต์กระบะไปส่งจำเลยที่ 2กับพวกอีก 2 คน ไปทำการปล้นทรัพย์บ้านผู้เสียหายและกลับไปพบจำเลยที่ 2 กับพวก ภายหลังจากที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและรับจำเลยที่ 2 กับพวกขึ้นรถแล้วมาถูกจับเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนดังกล่าว และไม่อาจทราบได้ว่าผู้ที่ร่วมลงมือปล้นทรัพย์ครั้งนี้ผู้ใดเป็นผู้มีและใช้อาวุธปืน และยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิดฐาน พยายามปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ประกอบมาตรา 80 และ 86 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวกรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะและลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวได้ และจะปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีด้วยมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2541
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 106
การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจรอการกำหนดโทษในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี หรือที่มีอัตราโทษหนักกว่า 10 ปี ในเมื่ออัตราขั้นต่ำของความผิดนั้นศาลพิพากษาลงโทษได้ตั้งแต่ 2 ปีลงมาโดยเฉพาะคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งความผิดที่จำเลยกระทำมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ศาลย่อมมีอำนาจรอการกำหนดโทษได้แม้ศาลจะกำหนดโทษจำคุกเกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 ก็ตาม การรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าศาลจะพิพากษาจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปีจึงไม่จำต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี โดยเฉพาะความผิดในคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งให้อำนาจศาลพิพากษารอการกำหนดโทษได้แม้ว่าจะกำหนดโทษจำคุกจำเลยเกินกว่า 2 ปีก็ไม่จำต้องระบุไว้ในคำพิพากษาว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2541
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามบัญญัติให้การกระทำความผิดระหว่างฐานลักทรัพย์และรับของโจรมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญแต่เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดเท่านั้น และไม่ให้ถือว่าเป็นกรณีเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษด้วย เว้นแต่จะหลงต่อสู้ เมื่อคดีนี้แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ แต่จำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของกลางจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยหลงต่อสู้อันจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณานั้นได้