กฎหมายฎีกา ปี 2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2541

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 271, 276, 296

สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว ได้ระบุข้อตกลงในการปฏิบัติการชำระหนี้ไว้อย่างชัดแจ้งโดยข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว เป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนข้อ 2 ระบุให้จำเลยทั้งสองหรือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการชำระหนี้ และในข้อ 3 ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสองแยกกันรับผิดในการปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 เพียงคนเดียว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้นส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ที่ระบุว่าหากจำเลยที่ 1ที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อหนึ่งข้อใดให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันที มีความหมายเพียงว่า ถ้าจำเลยคนใดผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่จำเลยคนนั้นตามสัญญา แต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับ ดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 294

จำเลยที่ 1 กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัดและใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจาก การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2541

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 93 (2), 94, 177

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ แม้จำเลยให้การรับว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องไป 3 ครั้งแต่จำเลยก็ให้การว่า จำเลยได้ชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วและโจทก์ได้คืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยที่มอบให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกัน เงินกู้แก่จำเลย ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบได้ว่า จำเลยได้ชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์ ได้คืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่โจทก์ยึด ไว้เป็นประกันเงินกู้ให้จำเลยกับโจทก์ได้ทำหลักฐาน การรับชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้จำเลยไว้ แต่หลักฐานดังกล่าวสูญหายไป ซึ่งเป็นการนำสืบถึงรายละเอียด เกี่ยวกับที่มาของหลักฐานการชำระหนี้เป็นอย่างไร และเมื่อหลักฐานการชำระหนี้ดังกล่าวสูญหายจำเลยย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2541

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 15, 57, 67, 91

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธี สูดดมควันและมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งติดอยู่ที่กระดาษตะกั่ว มีรอยเผาไหม้จำนวน 1 ชิ้น ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฟ้องของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดทั้งสองกรรม ซึ่งเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเสพ และมีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนเดียวกันก็ถือว่าการกระทำ ดังกล่าวเป็นความผิดสองกรรม หาใช่กรรมเดียวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5458

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5458/2541

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 66, 70, 572 วรรคสอง, 823 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

การที่กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อเพียงคนเดียว ไม่ครบถ้วนตามหนังสือรับรองของโจทก์ที่กำหนดให้กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและ ประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันโจทก์ ดังนี้ย่อมมีผล เท่ากับโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2541

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานได้วินิจฉัยว่า ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอ้างเหตุตามที่บรรยาย ในฟ้องเดิมทุกประการเพียงแต่เน้น ว่าการกระทำก่อนที่จำเลย มีคำสั่งเลิกจ้างนั้นไม่ชอบ แล้วเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันถูกเลิกจ้าง และค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงกับประโยชน์อื่นที่สูญเสีย เนื่องจากถูกเลิกจ้าง และขอให้ศาลวินิจฉัยว่าก่อนที่จำเลย เลิกจ้างโจทก์ จำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์โดยมิชอบ แล้วในที่สุดเลิกจ้างโจทก์ เท่ากับโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษา ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นั่นเอง ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาล ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5424

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5424/2541

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1368, 1748, 1749, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

ห. และจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของเจ้ามรดกไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเอง ดังนี้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ ยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกว่าคดีขาดอายุความได้ คดีฟ้องเรียกมรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาท มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นจะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับ ส่วนแบ่งหรือกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาแบ่งที่ดินให้แก่ ว.ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกโดยที่ ว.มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีหรือ ว. ได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน จึงเป็นการกันส่วน แบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2541

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 334 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 139, 140, 537

การที่จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินของผู้เสียหาย มีผลเพียง แต่ทำให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวในสภาพ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อที่ดินถูกขุดดินที่ได้ย่อม เปลี่ยนสภาพเป็นสังหาริมทรัพย์ และผู้เสียหายไม่ได้มอบการ ครอบครองดินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้จำเลยครอบครองดินดังกล่าวจึงยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย การที่ จำเลยเอา ดินดังกล่าวไปขายโดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4743

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4743/2541

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39, 220 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7

ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์และจำเลย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ทำให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาโดยไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4733

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4733/2541

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 42, 47

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพิเศษการฟ้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะคุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงฟ้องขอให้บังคับให้รื้อถอนได้เสมอหากอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 กำหนดว่าการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนกฎหมายในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องบังคับ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ครอบครองอาคารพิพาทได้ อาคารพิพาทเป็นตึกแถว จึงอยู่ในบังคับของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76(4) ให้ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมไว้เป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรการที่อาคารของจำเลยทุกห้องมีการดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มที่ว่างด้านหลังอาคารทุกชั้นรวมทั้งการต่อเติมอีก 2 ชั้น ดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยสภาพว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ ดังกล่าวได้ นอกจากจะรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวออกไป การที่โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 รื้อถอนโดยไม่สั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงชอบแล้ว

« »