คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219 ตรี, 221 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493

ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรานั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ตรี ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำอนุญาตของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจึงไม่มีผลหรือทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14 (1) พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 3, 39, 40, 41, 46, 58

โจทก์ระบุชื่อฟ้องจำเลยที่ 2 ว่า "พ.ในฐานะผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯ" และบรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า "จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนบริหารงานและธุรกิจของจำเลยที่ 1 สาขาในประเทศไทยมีอำนาจเช่น ดำเนินกิจการประจำวันโดยทั่วไปของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยลงนามในเอกสารต่าง ๆ ดำเนินการฟ้องร้องและต่อสู้ในศาลไทย ใช้และลงชื่อในนามสาขาของบริษัทและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ เป็นการกล่าวบรรยายฟ้องถึงสถานภาพของ พ. โดยเฉพาะว่ามาเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และสาขาของจำเลยที่ 1 คือสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ อย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดว่า พ.เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในประเทศไทยและได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯ ด้วยเท่านั้น การที่ พ.มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ จึงอยู่ในคนละสถานภาพกับสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯกรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้อง พ. ในฐานะส่วนตัวเป็นจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ให้ทำการแทนในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้รับขนร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญารับขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

ตามกฎข้อบังคับของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับที่ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางในขณะเกิดเหตุไม่อนุญาตให้ผู้ขนส่งมอบสินค้าอันตรายให้เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยผู้ขนส่งต้องเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เช่าพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อใช้เก็บสินค้าอันตรายและจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาสินค้านั้นเอง จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว อันจะทำให้สินค้านั้นพ้นไปจากความดูแลของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 40(3) และมาตรา 39 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังคงเก็บรักษาดูแลสินค้าไว้เพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งต่อไป

เรือของจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2536 อันเป็นโอกาสแรกที่จะส่งมอบของได้และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้รับตราส่งยอมรับผิดไม่เกินความรับผิดสูงสุดของผู้ขนส่ง อันถือได้ว่าเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และโจทก์ ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 เมษายน 2537 ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่ วันที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ตามใบตราส่งด้านหลังซึ่งมีเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะชดใช้ค่าเสียหายในข้อ 11.3 ว่า กรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายให้คิดค่าเสียหายไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักรวม 1 กิโลกรัมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.5 บาท และตามรายการสินค้า (Packinglist)สินค้าที่เสียหาย 2 หน่วย มีน้ำหนักรวม 848 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักสุทธิ818 กิโลกรัม จึงคิดเป็นค่าเสียหายสูงสุดตามที่ระบุในใบตราส่งที่คิด2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักรวม 848 กิโลกรัม เป็นเงิน1,696 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเงิน 43,248 บาท แต่ถ้าคิดตามการจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58ตามหน่วยการขนส่ง 2 หน่วย ค่าเสียหายหน่วยละ 10,000 บาท เป็นเงิน20,000 บาท หรือคิดตามน้ำหนักสุทธิกิโลกรัมละ 30 บาท จากน้ำหนักสุทธิ818 กิโลกรัม เป็นเงิน 24,540 บาท เห็นได้ว่าการคิดค่าเสียหายตามข้อจำกัดความรับผิดที่กำหนดในใบตราส่งเป็นเงิน 43,248 บาท ดังกล่าว สูงกว่าค่าเสียหายที่คิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 58 ดังนี้ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ส่งของและผู้ขนส่งตกลงกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 58 จึงไม่นำการจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 มาใช้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 60(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2, 10 วรรคสาม

โจทก์ทั้งสองฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับจำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยได้สำแดงน้ำหนักสุทธิของสินค้าไม่ถูกต้อง ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้อากรขาด รวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้สั่งสินค้ารายพิพาท ให้เป็นที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีตามคำให้การของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเอาเงินภาษีอากรส่วนที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งสินค้าที่นำเข้า มิใช่กรณีการคิดคำนวณอากรผิดพลาดจึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า จำเลยนำสินค้าเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2541 ยังไม่ครบ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

จำเลยนำแผ่นพลาสติกชนิดแข็งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยระบุในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 3,060 แผ่นน้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม สำแดงราคา ซีแอนด์เอฟ47,959ดอลลาร์สหรัฐซึ่งตามพิกัดอัตราศุลกากรได้กำหนดให้คิดอัตราอากรร้อยละ 60 ของราคาหรือในอัตรา 14 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อคำนวณตามน้ำหนักแล้วมีราคา2.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยกิโลกรัม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามีน้ำหนัก 52,311.70 กิโลกรัม มิใช่น้ำหนัก 17,847กิโลกรัม ตามที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าของจำเลยต่อ 1 กิโลกรัมจึงคิดเป็นเงิน 0.91 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนำราคาดังกล่าวไปเทียบกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ซึ่งมีราคาต่อ1 กิโลกรัม เท่ากับ 1.31 ถึง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงจึงต่ำกว่าราคาที่มีผู้นำเข้ารายอื่นสำแดงไว้ แม้โจทก์จะนำสินค้าที่บริษัท ล. นำเข้าซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดต่างประเภทย่อยกับสินค้าของจำเลยราคา 1.539 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม มาใช้เทียบเป็นราคาสินค้าของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ลดราคานำเข้าให้จำเลยอีกร้อยละ 10 ของราคาดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองได้ทำการประเมินราคาสินค้าใหม่และเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีการค้าเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (6), 226, 227 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 22, 27, 29

จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 260 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำเบิกความของพยานโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสี่กำลังนั่งล้อมวงอยู่ใต้ต้นมะพร้าวริมบ่อเลี้ยงปลาเท่านั้น และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นได้จากกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 1 และที่บรรจุอยู่ในกระบอกพลาสติกสีขาวอย่างใดบ้าง ส่วนกระบอกพลาสติกสีขาวที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากไม่เปิดฝาออกจะไม่เห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ การที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นญาติกันนั่งคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวซึ่งเป็นที่ร่ม จึงไม่เป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 1 ถือกระบอกพลาสติกสีขาวโดยเปิดเผยและที่จำเลยทั้งสี่นั่งล้อมวงคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวหาใช่ข้อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่

การที่จำเลยที่ 2 เห็นพยานโจทก์ทั้งสี่กับพวกแล้ววิ่งหนี ย่อมเป็นพิรุธ แต่ข้อพิรุธดังกล่าวไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบจึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริง

เงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแต่เงินของกลางดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา 27 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ได้

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบเงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยมิได้อ้างพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ตามฎีกาของโจทก์ยืนยันว่า ศาลมีคำสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้หรือไม่

ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้นและโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย

โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เงินของกลางจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก่อนจะถูกจับกุมคดีนี้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 66, 240, 242, 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ศาลแรงงานมีคำสั่งรับใบแต่งทนายความที่แต่งตั้งให้ ป. เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลย และรับคำให้การจำเลยที่ ป. เป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ ตลอดจนได้ให้ ป. ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะเป็นทนายความจำเลยมาแล้ว ต่อมาศาลแรงงานมีคำสั่งในภายหลังไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความ และถือว่าไม่มีจำเลยในคดีนี้ อันเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการรับ ป. เป็นทนายความจำเลยและกระบวนพิจารณาที่ ป. ได้กระทำแทนจำเลย ซึ่งแม้ศาลแรงงานมีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ก็ตาม แต่ศาลแรงงานต้องได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่ากระบวนพิจารณานั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจริง

ศาลแรงงานสั่งให้ ป. ทนายความจำเลยนำกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าของลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความมารับรองลายมือชื่อแสดงว่า ศาลแรงงานเพียงแต่สงสัยว่าอาจไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลยและการที่กรรมการบริษัทจำเลยไม่มาศาลเพื่อรับรองลายมือชื่อ ก็ยังไม่ทำให้ได้ความแน่ชัดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลย จึงไม่ชอบที่ศาลแรงงานจะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาใช้กำหนดเป็นเงื่อนไขไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าว อันเป็นการผลักภาระซึ่งเป็นผลร้ายให้แก่ฝ่ายจำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้เป็นผู้ยกข้อสงสัยนั้นขึ้นกล่าวอ้าง นอกจากนี้ก็ยังมี ป. ทนายจำเลยซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในการแต่งทนายจำเลย และเป็นผู้รับรองลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความไว้ในใบแต่งทนายความ ป. จึงเป็นผู้ที่สามารถให้ความจริงได้ ศาลแรงงานชอบที่จะค้นหาความจริงจาก ป. หรือดำเนินการทางอื่นเพื่อให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลแรงงานด่วนมีคำสั่งว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่มารับรองลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลย จึงไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าวและถือว่าไม่มีจำเลยเข้ามาในคดี แล้วมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208

จำเลยทราบว่าถูกฟ้องเมื่อมีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลย จึงต้องถือว่ามีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยแล้ว หากจำเลยประสงค์จะให้ศาลพิจารณาใหม่จะต้องยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง

ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2539 จำเลยต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 แต่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่3 มิถุนายน 2541 ล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ในกรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ผู้เช่าซื้อได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ก็ดี และผู้เช่าซื้อได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วก็ดี หาใช่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89

จำเลยที่ 5 ร่วมไปในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางกับจำเลยอื่น ทั้งร่วมไปดูเงินของฝ่ายผู้ซื้อและเดินกลับไปด้วยกันโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยอื่นกำลังร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน เป็นการ แบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะที่ทุกคนมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดถือได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการ หาใช่ผู้สนับสนุนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 247, 302

ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ให้โจทก์โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ระหว่างการผ่อนชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากการทำงานและได้ยื่นคำร้องว่าที่โจทก์ขอให้ต้นสังกัดซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หักเงินบำเหน็จโดยอาศัยสิทธิตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยคำร้องของจำเลย เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการบังคับตามคำพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยแม้พอจะถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นเบื้องต้นก่อนว่าจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้และเป็นประเด็นที่ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยตั้งประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้ต้นสังกัดของลูกจ้างหักเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 จะได้รับ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นเพียงประเด็นต่อจากประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นหลักในเบื้องต้นก่อนเช่นนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ 257และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 และเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 นอกเหนือการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195

ในขณะที่จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกับ อ. มีการรังวัดที่ดินกัน 1 ครั้ง โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงลงชื่อยินยอมในการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินไว้ด้วยจำเลยทำคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 แล้วทำสัญญาขายที่ดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 และตามคำขอจดทะเบียนสิทธิก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บันทึกให้มีการประกาศเป็นเวลา 30 วันก่อน แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการรังวัดกันเมื่อใด แต่ก็ย่อมต้องกระทำก่อนที่มีการทำสัญญาซื้อขายแสดงว่า โจทก์รู้ว่าจำเลยตกลงขายที่ดินตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2538 แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าเพิ่งทราบเรื่องเมื่อธันวาคม 2538 ก็ขัดกับคำเบิกความของโจทก์เองดังนั้นเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ขายที่ดินให้ อ. แล้ว จะถือว่าอายุความเริ่มนับแต่เดือนธันวาคม 2538 ไม่ได้

คดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 กรณีเป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 427, 438, 444 วรรคหนึ่ง, 446 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (8), 1 (9), 27, 102, 175

รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการขนส่ง แม้จำเลยที่ 3 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวไป แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้เสียภาษีในการใช้รถยนต์ประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลตลอดมาทุกปีและยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 อยู่ในสภาพพังยับเยิน แม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้วก็ไม่สามารถทำให้คืนดีเหมือนเดิมได้ ทำให้รถยนต์เสื่อมราคาไปจากการใช้ตามปกติ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 อีก จึงหาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ไม่

ความเสียหายจากการกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับอันตรายสาหัสและต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างไปตลอดชีวิต นอกจากผู้ถูกกระทำละเมิดจะได้รับชดใช้ค่าเสียความสามารถประกอบการงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย ที่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจากการทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 446 วรรคหนึ่ง อีกด้วย และค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยส่วนนี้กับค่าเสียความสามารถประกอบการงาน เป็นค่าเสียหายคนละอย่างแตกต่างกัน และไม่ซ้ำซ้อนกัน

ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นศาลที่รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดสีคิ้วให้สืบพยานหลักฐานของจำเลยแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 102 เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด หาใช่กระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานของจำเลยตามที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับแต่งตั้งให้กระทำแทนศาลจังหวัดสีคิ้วไม่ ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์ไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีจึงชอบแล้ว และการที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมิได้รับคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ไว้แล้วส่งไปศาลจังหวัดสีคิ้วเพื่อพิจารณาสั่งนั้น ก็หาเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วที่พิจารณาคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับจำเลยต่อมาทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE