คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 653

จำเลยซื้อสังกะสีจากโจทก์จำนวน 5 หาบ ตกลงผ่อนชำระหนี้ด้วยข้าวเปลือกปีละ 100 ถัง เป็นเวลา 5 ปี โดยจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์และจำเลยได้ชำระหนี้ด้วยข้าวเปลือกให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว อันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามที่ตกลงกันไว้ หนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 90, 290, 295 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 195, 215, 225, 226, 227

พยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์เท่าที่นำสืบล้วนเป็นพยานบอกเล่าเมื่อคำนึงว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีเรื่องหมางใจกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน ประกอบกับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันความผิดของจำเลยที่ 2 โดยชัดแจ้ง จำเลยที่ 2 เองก็ให้การปฏิเสธโดยตลอดมาตั้งแต่ต้น ลำพังพยานบอกเล่าของโจทก์เท่าที่ปรากฏยังไม่พอชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอื่นด้วย

ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟาดด้วยหลอดไฟฟ้าที่บริเวณกลางหลัง1 ที และถูกไม้กระบองตีที่บริเวณตาข้างขวา 1 ทีจากนั้นผู้เสียหายวิ่งหลบหนีไปได้ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายถูกจำเลยคนใดตีทำร้ายอย่างไร หรือมีผู้ใดร้องตะโกนว่าตีให้ตาย แต่กลับได้ความว่าผู้ตายและผู้เสียหายมีอาการเมาสุรา ผู้ตายมีปากเสียงกับฝ่ายจำเลยและพวกแล้วจึงเกิดเหตุตีทำร้ายกัน เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีก็ไม่มีผู้ใดวิ่งไล่ตาม ทั้งปรากฏว่า ขอบตาข้างขวาของผู้เสียหายบวมช้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร มีแผลถลอกช้ำหางตาและแผลฉีกขาดยาว 1 เซนติเมตรลึก 0.3 เซนติเมตรที่เปลือกตาขวาอาการบาดเจ็บดังกล่าวจะรักษาหายใน 10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คงเป็นตัวการในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายและทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหาเป็นตัวการในความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าไม่

แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าและเป็นข้อเท็จจริงแห่งการกระทำที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่ 2ซึ่งมีการฎีกาขึ้นมา ทั้งปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4เป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ให้พ้นจากความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185,195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2543

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 ม. 30, 31

การเดินทางออกราชอาณาจักรทางเครื่องบิน ผู้เดินทางจำต้องมีบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินที่ตนจะเดินทางให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นการเดินทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นมิได้ด้วยพนักงานสายการบินจะยินยอมให้เฉพาะผู้มีบัตรโดยสารเครื่องบินเท่านั้นผ่านขึ้นเครื่องบินได้ ผู้คัดค้านมีบัตรโดยสารเครื่องบินของกลางที่ระบุชื่อผู้เดินทางคือผู้คัดค้านถูกต้องตรงกับหนังสือเดินทางที่จะช่วยให้ผู้คัดค้านสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้สำเร็จและหากผู้คัดค้านเดินทางถึงที่หมายก็จะได้รับผลจากการนำยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักร บัตรโดยสารเครื่องบินของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนโดยเป็นอุปกรณ์ให้ผู้คัดค้านสามารถรับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องถูกริบเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 ม. 6 ทวิ, 13, 20 ทวิ, 21, 25 ตรี พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ม. 6, 11, 23

การกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศและหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฐานจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ เวลาที่การกระทำเป็นความผิดสำเร็จลงตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน จึงเป็นการกระทำความผิดแยกเป็น 4 กรรม

จำเลยทั้งหกมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ การที่จำเลยทั้งหกนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่มาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกันแล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่มีและตั้งขึ้นเป็นสถานีวิทยุคมนาคมเหล่านั้น อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกใน 3 ฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 วรรคสอง

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดจากจำเลย โดยมีข้อสัญญาว่าผนังห้องชุดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและวัสดุก่อเรียบทาสี ซึ่งคำว่า "วัสดุก่อเรียบทาสี" นี้น่าจะมีความหมายว่า นำวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐมอญหรืออิฐบล็อกมาเรียงก่อขึ้นเป็นผนังก่อนและฉาบด้วยปูนซีเมนต์ทับผิวให้เรียบแล้วทาสีดังนั้นเมื่อแผ่นยิปซัมเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นสำเร็จรูป มิใช่วัสดุก่อขึ้นอย่างก่ออิฐฉาบปูนแผ่นยิปซัมจึงไม่เป็นวัสดุก่อเรียบทาสีตามความหมายที่ระบุในสัญญา ซึ่งแม้ตามสัญญาจะให้สิทธิจำเลยที่จะนำวัสดุอื่นที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับผนังที่ก่ออิฐฉาบปูนมาใช้แทนได้โดยจำเลยมีใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประธานกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหนังสือรับรองมาตรฐานคุณภาพ ไอเอสโอ 9002 ของบริษัท บ. มาแสดงก็ตาม แต่ก็เป็นการรับรองเพียงว่าผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมที่จำเลยใช้ติดตั้งนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นถูกต้องตามมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทแผ่นยิปซัมเท่านั้น มิได้เปรียบเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ทั้งมิได้มีข้อความรับรองคุณภาพเมื่อใช้กั้นเป็นผนังแล้วจะมีความคงทนเท่าเทียมกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนแต่อย่างใด จึงรับฟังได้เพียงว่าแผ่นยิปซัมที่จำเลยนำมาใช้มีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่งของสินค้าประเภทเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่มีคุณภาพเท่าเทียมกันกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูน เมื่อจำเลยใช้วัสดุก่อสร้างผิดจากข้อตกลงในสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 26, 75, 76

จำเลยผลิตกัญชาโดยการแบ่งจากแท่งบรรจุถุงพลาสติกเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกัญชาส่วนหนึ่งที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นกัญชาจำนวนเดียวกันเพียงแต่จำเลยแบ่งบรรจุเท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2543

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ.2530 ม. 4 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

บทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อนในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจ มาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2543

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8, 18

การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางมาเป็นเกณฑ์ประเมิน โดยไม่ได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาย่อมเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 8 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าเหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากมีเหตุผลพิเศษอย่างไร หรือทรัพย์สินของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนจำเลยที่ 1 ต้องกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษอย่างใด ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การกำหนดค่ารายปีของจำเลยทั้งสองต้องสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันคงมีเฉพาะหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี แม้ตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยให้อำนาจจำเลยที่ 1 กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรได้แต่ก็ยังกำหนดให้ต้องสำรวจจากที่ได้มีการให้เช่าจริง แบ่งตามประเภทและลักษณะของทรัพย์สินและทำเลที่ตั้งเป็นแนวทางประกอบการประเมินและจะต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกเช่นดัชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงภาระภาษีของราษฎรเป็นสำคัญ ดังนั้นที่จำเลยประเมินค่ารายปี ค่าภาษีให้โจทก์ต้องชำระยังขาดเหตุผลและไม่ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยและมติคณะรัฐมนตรี

ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีแต่มิใช่เป็นราคาประเมินเด็ดขาด เพราะกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว การประเมินจำต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ให้กระทำได้และต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ตอนจำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากผู้เสียหาย จำเลยบอกว่าเป็นสร้อยข้อมือที่จำเลยสั่งทำเองโดยมีน้ำหนักมากกว่าปกติเพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาไว้ แสดงว่าสร้อยข้อมือดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือนั้นเป็นทองคำปลอมและจำเลยพูดจาหว่านล้อมหลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จต่อมาเมื่อปรากฏว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือเป็นของภริยาจำเลยและจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอมจึงเชื่อไม่ได้ส่วนการที่จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริงในใบสัญญาขายฝาก หรือยอมให้ตรวจสอบสร้อยข้อมือในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟนั้น เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นภายหลังว่าจะเป็นประการใด ทั้งการที่จำเลยยินยอมจ่ายเงิน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหายโดยมีบุคคลทำหนังสือค้ำประกันเพื่อไม่เอาความแก่กันย่อมเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นอย่างดี พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/33 (1), 856, 859, 991

สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ และไม่ต้องทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจึงอาจเกิดจากการแสดงเจตนา โดยแจ้งชัดหรือตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว

ตามคำขอใช้บริการของจำเลย มีข้อตกลงการสั่งจ่ายเงินและการถอนเงินว่า ในการสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะเท่านั้น และในกรณีที่ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก็ได้ หรือในกรณีผู้ฝากนำเช็คเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้น ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารโจทก์ยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บ จำเลยผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารโจทก์ผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนให้แก่ธนาคารโจทก์ โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัด และ หรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารโจทก์ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม นับแต่วันที่เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดและ หรือเบิกเงินเกินบัญชี ตามวิธีและประเพณีของธนาคาร หลังจากมีคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ถอนเงินและฝากเงินมีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนมาโดยตลอด ทั้งโจทก์ได้ส่งใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดไปยังจำเลยเช่นนี้ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 แล้ว หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ไม่

สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 การเลิกสัญญาดังกล่าวอาจแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดหรือโดยพฤติการณ์

หลังจากจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายแล้วจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ทั้งจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเป็นอันสิ้นสุดในวันอันเป็นวันครบกำหนดหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้งตามที่ปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอด หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้อีก คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกจากเงินต้นจำนวนที่จำเลยค้างชำระในวันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 199/33(1)

« »
ติดต่อเราทาง LINE