คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 306 วรรคหนึ่ง, 672, 1357, 1457
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของฉ. กึ่งหนึ่ง
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
ฉ. มีเจตนาเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นอันสมบูรณ์สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 283, 284
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินสองแปลงซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของ ส. และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ขายทอดตลาดแล้ว จึงเป็นการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวจะต้องมีเหตุอ้างตามกฎหมายการที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารท. ของ ส. เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นแทนการขายทอดตลาดที่ดิน แต่โจทก์ยังโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ไม่ยืนยันว่าเงินในบัญชีส่วนที่เหลือจากการอายัดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโต้แย้งต่อศาลชั้นต้นว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับบุคคลภายนอก หากเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินตามคำขอของจำเลยโดยที่โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบ
คดีนี้คงเหลือหนี้ตามคำพิพากษา 6,833,057.50 บาทเศษ แต่ที่ดินทั้งสองแปลงที่ประกาศขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 24,856,000 บาท หากขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวย่อมจะเป็นการบังคับคดีเกินความจำเป็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 หรือหากได้เงินจากบัญชีเงินฝากมาชำระหนี้โจทก์จนครบก็ไม่ต้องขายทอดตลาดที่ดิน แต่การอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของ ส. ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติว่าการบังคับคดีโดยวิธีใดจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 378
โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ทราบว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอนห้องชุดพิพาทที่ตกลงนัดกันไว้เดิมเป็นวันหยุดราชการ กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ตามที่ตกลงกำหนดในหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันไว้เดิมเป็นวันจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทต่อไปแล้ว หากแต่โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันใหม่โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายไปติดต่อกรมที่ดินก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2538 แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อมายังโจทก์ในระหว่างวันที่ 4 - 28 ธันวาคม 2538 อยู่หลายครั้ง เพื่อนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท เท่ากับโจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองแจ้งวันนัดโอนทางโทรศัพท์โดยมิได้ถือเอาข้อตกลงในหนังสือสัญญาที่ให้แจ้งวันนัดโอนให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เป็นสาระสำคัญ ปรากฏว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอน โจทก์ไม่ไปรับโอนห้องชุดพิพาท จึงฟังได้ว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิริบมัดจำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 15, 66
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ลงจากรถไปคนเดียวและเข้าไปคุยกับสายลับในบ้านเป็นเวลานานพอสมควร แล้วเดินออกมาเอาห่อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ที่นั่งรออยู่ในรถ จากนั้นเดินเข้าไปหาสายลับในบ้านเพียงคนเดียวโดยจำเลยอื่นมิได้เข้าไปด้วย เช่นนี้ก็เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าตนไม่รู้ว่าภายในห่อเป็นเมทแอมเฟตามีนหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618/2543
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 19 ตรี, 19 ทวิ, 40, 45, 112, 112 ทวิ, 112 ตรี
การที่จะเรียกอากรขาเข้าเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี นั้น มีได้เฉพาะสองกรณีคือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ ซึ่งสืบเนื่องจากการวางประกันค่าอากรตาม มาตรา 112ประการหนึ่ง กับกรณีมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40หรือ 45 อีกประการหนึ่ง ซึ่งข้อความในตอนแรกของมาตรา 112 ตรี มีลักษณะเชื่อมโยงกับมาตรา 112 ทวิ และมาตรา 112 จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามาตรา 112 ตรี ตอนแรกใช้บังคับเฉพาะกรณีตามมาตรา 112 ทวิเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไป หรือในกรณีของมาตรา 19 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการค้ำประกันการนำของเข้าที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 19 ทวิ ที่ว่าด้วยสิทธิในการจะขอคืนอากรขาเข้า ส่วนความในตอนหลังของมาตรา 112 ตรี ที่เกี่ยวกับมาตรา 40 และมาตรา 45 นั้น มาตรา 45 เป็นเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการที่ผู้นำของเข้าจะนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรว่าจะต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องและเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด แต่ตามฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏข้ออ้างว่าจำเลยฝ่าฝืนมาตรา 40 หรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 แต่อย่างใด คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามความในมาตรา 19 ทวิ กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในข่ายที่โจทก์ทั้งสองจะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 264
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย หากโจทก์ชนะคดีโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาเงินค่าเช่าอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หาบเร่ แผงลอย บนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ค่าเช่าอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หาบเร่ แผงลอย บนที่ดินควรจะเป็นของโจทก์หรือของจำเลย จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ที่โจทก์จะขอให้ห้ามจำเลยเก็บค่าเช่าและขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นไปเก็บค่าเช่าและดูแลกิจการแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี และทำงานเป็นหลักแหล่ง เป็นผู้มีความสำนึกในเรื่องผิดชอบชั่วดีแล้ว แต่จำเลยยังร่วมกับพวกกระทำผิด โดยจำเลยมีอาวุธมีดติดตัวขับรถกระบะให้พวกซึ่งอยู่ท้ายรถกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองจากผู้เสียหายที่เดินสวนทางมา และขับรถหนีไปด้วยความเร็วสูงเมื่อ ส. พี่ชายของผู้เสียหายทราบเหตุได้ขับรถจักรยานยนต์ให้เพื่อนนั่งซ้อนท้ายไล่ตามจำเลยกับพวกไปที่สุดซอยตัน จำเลยขับรถถอยหลังพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของ ส.ที่จอดขวางทางอยู่จนล้มและส. กระเด็นตกจากรถได้รับบาดเจ็บ แล้วขับรถแล่นหนีไปด้วยความเร็วสูงจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับได้ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจรุนแรงไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง แม้อาของจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ก็เป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายที่ผู้เสียหายและ ส. ได้รับเท่านั้น ไม่อาจลบล้างความผิดที่จำเลยกระทำไว้แล้วได้ การที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยลงอีกหนึ่งในสามนั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว การกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นภัยต่อสุจริตชนทั่วไป จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (6), 334, 339
การที่จำเลยที่ 1 ยื้อแย่งไม้กวาดจากผู้เสียหายที่ 2 และเหวี่ยงกันไปมาโดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าตาและส่งเสียงข่มขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และการเหวี่ยงไปมาขณะแย่งไม้กวาด เป็นเหตุให้ข้อมือของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นกรณีที่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหาย ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599 - 600/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,341ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะร่วมกับ ว. หลอกลวง ท. กับโจทก์ร่วม และในวันที่ ท. รับเงินจำนวน 5,000,000 บาท ของโจทก์ร่วมไว้และส่งมอบให้แก่ ว. ในเวลาต่อมานั้น จำเลยทั้งสองเพียงช่วย ว. นับเงินดังกล่าวและกลับออกไปพร้อมกับ ว. โดยไม่ปรากฏพฤติกรรมของจำเลยทั้งสองที่จะคิดเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นแนะนำชักพา ช่วยพูดสนับสนุนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะที่ ท. ส่งมอบเงินของโจทก์ร่วมแก่ ว. จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยเพียงคำเบิกความของประจักษ์พยานเพียงปากเดียวนั้น คำเบิกความของประจักษ์พยานต้องมีน้ำหนักมั่นคง ประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือควรแก่การรับฟังพอจะลงโทษจำเลยได้
คำเบิกความของ น. ประจักษ์พยานโจทก์ปากเดียวที่เบิกความว่า เห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดย ศ. บุตร น. ก็เห็นเหตุการณ์ด้วยแม้การที่โจทก์ไม่นำ ศ. เข้าเบิกความจะไม่เป็นข้อพิรุธ แต่คำเบิกความของ น. มีข้อพิรุธขัดต่อเหตุผลอยู่หลายตอนคือ น. ยืนยันว่า ผู้เสียหายวางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่เขียงสับหมูแต่เมื่อน.ตอบคำถามศ. ว่ากระเป๋าสตางค์ดังกล่าวน่าจะเป็นของจำเลย แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในข้อเท็จจริง จึงไม่ตอบว่าเป็นของผู้เสียหาย และเมื่อ น. เห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ไปไม่ได้ทักท้วง ซึ่งเป็นการขัดต่อวิสัยและเหตุผล เพราะผู้เสียหายเป็นลูกค้าประจำ ส่วน น. มีอาชีพค้าขายตามวิสัยย่อมต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า นอกจากนี้ น. เบิกความเกี่ยวกับธนบัตรที่ผู้เสียหายจ่ายเป็นค่าก๋วยเตี๋ยวว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 50 บาท แตกต่างกับผู้เสียหายที่เบิกความว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท 3 ใบ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ส่วนที่ น. บอกผู้เสียหายว่าจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ผู้เสียหายไป หรือพาเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านจำเลย หาเป็นเหตุผลให้รับฟังว่า น. เห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไป และการจับกุมจำเลยไม่พบกระเป๋าสตางค์หรือของกลางใด ๆ จากจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง