คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157, 264, 268
ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ในการทำหนังสือขอลาออกของ ซ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มิได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ด้วยว่าหากการกระทำความผิดในคดีก่อนและคดีหลังมิใช่ความผิดต่อกฎหมายฉบับเดียวกัน แม้ผู้นั้นได้รับโทษจำคุกในคดีก่อน ศาลยังอาจพิพากษารอการลงโทษจำคุกคดีหลังได้ เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนจำเลยได้รับโทษจำคุก การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยโดยให้เหตุผลว่า กรณีของจำเลยไม่อาจรอการลงโทษได้ จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 267 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
ในวันเกิดเหตุ ป. นำใบมอบอำนาจของ อ. มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินของ อ. หายไป โดยมีจ่าสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ลงบันทึกประจำวันไว้และต่อมาจำเลยได้ร่วมกับ ร. ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้ออกโฉนดที่ดินของ อ. ฉบับใหม่ โดยแสดงหลักฐานหนังสือที่ อ. มอบอำนาจให้ ร. มาขอออกโฉนดที่ดินใหม่ และสำเนารายงานประจำวันที่ ป. ไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินของ อ. สูญหาย โดยจำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่า อ. มอบอำนาจให้ ป. ไปแจ้งความโฉนดที่ดินของ อ. สูญหายนั้นเป็นความจริง แม้ข้อความที่ ป. นำไปแจ้งความนั้นเป็นเท็จ แต่ในวันที่ ป. ไปแจ้งความจำเลยมิได้ไปกับ ป. ด้วย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ร่วมกับ ป. ในการไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่น้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับ ป. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน และแจ้งให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ม. 19, 24, 49, 50 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ
การที่จำเลยมียาสูบของกลางที่ผลิตในต่างประเทศโดยมีผู้ลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าไว้ในครอบครองและยาสูบมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย กับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขายนั้น แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การที่จำเลยได้ขายยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการมีไว้เพื่อขายและเป็นคนละกรรมกันอีกกรรมหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 (2)
หลังจากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรแล้วจำเลยยังคงเลี้ยงดูโจทก์โดยโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมาจำเลยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยแสดงอาการรังเกียจเมื่อโจทก์ไปที่บ้านจำเลย และต่อมาเริ่มด่าว่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีสันดานหมา ไม่รู้จักภาษาคนมึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" กับเคยด่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีหัวโคน อีสันดานหมา อีตายยาก กูเกิดผิดพ่อผิดแม่ กูเกิดหลงรู"หลังจากนั้นจำเลยขายบ้านที่โจทก์อยู่อาศัยโดยมิได้บอกกล่าว ผู้ซื้อจึงได้รื้อถอนบ้านดังกล่าวไป จำเลยบอกโจทก์ว่า "ก็ไม่เลี้ยงมึงอีก มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" โจทก์จึงไปอาศัยอยู่กับน้องสาวจำเลย การที่จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้ เพราะจำเลยประพฤติเนรคุณได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญที่ถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เสียเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 (2) (ก), 1516 (2) (ข), 1516 (6) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 1 คนต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามีพฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(2)(ก)(ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วยซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367, 1750 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
โจทก์บรรยายฟ้องว่า มีการแบ่งปันที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อปี 2533 อันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทในฐานะที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของ โจทก์หาได้อ้างสิทธิในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตั้งแต่ปี 2522 ไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2522 โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 วรรคสอง (7) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 227
จำเลยที่ 2 ได้ร่วมเจรจาและคัดเลือกสร้อยคอทองคำอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1ครั้นจำเลยที่ 1 ลักเอาสร้อยคอทองคำของกลางแล้วพากันออกจากร้านของผู้เสียหายไปพร้อมกัน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมในข้อหาลักทรัพย์และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยสมัครใจ คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดสอดคล้องกันกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 พยานโจทก์ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปจริง แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเบิกความก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
การที่พยานโจทก์เห็นผู้ตายเดินไปหลังบ้านเพื่อล้างมือ และเห็นจำเลยเดินตามไป ต่อมาประมาณ 3 ถึง 4 นาที มีเสียงปืนดังขึ้นนั้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นคนร้ายเท่านั้น และที่ผู้ตายตบหน้า ว. ภริยาผู้ตายซึ่งเป็นญาติของจำเลยก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะต้องโกรธแค้นถึงขนาดคิดฆ่าผู้ตายคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนั้นก็เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ปรากฏว่าคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมไม่มีรายละเอียด คงมีการกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาซึ่งก็มิได้ระบุว่าฆ่าใคร และเขียนไว้ว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาเท่านั้น ส่วนคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน จำเลยให้การว่าจำเลยเอาอาวุธปืนแก๊ปยาวไปซ่อนไว้หลังบ้านของผู้ตายก่อนแล้วจึงไปร่วมวงดื่มสุรากับผู้ตายและพวก เมื่อผู้ตายลุกขึ้นวิ่งไปบนบ้าน จำเลยเข้าใจว่าผู้ตายจะไปเอาอาวุธปืนมายิงตน จึงวิ่งไปเอาอาวุธปืนแก๊ปยาวที่ซ่อนไว้ออกมาครั้นเห็นผู้ตายอยู่ที่ชานหลังบ้านจำเลยก็ยิงผู้ตายไป 1 นัด แล้วหลบหนีไปซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับคำเบิกความพยานโจทก์ ที่ไม่ปรากฏว่ามีการวิ่งแล้วยังไม่สมเหตุผลเพราะคนที่ร่วมดื่มสุราอยู่ด้วยกัน 6 ถึง 7 คน ไม่มีการทะเลาะวิวาทกันแต่อย่างใด จะมาฆ่ากันต่อหน้าบุคคลอื่นในลักษณะเช่นนั้นย่อมไม่น่าเป็นไปได้ ประกอบกับผู้ตายถูกกระสุนปืนบริเวณสีข้างและชายโครงด้านซ้าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาพถ่ายที่จำเลยแสดงท่ายิงผู้ตายขณะที่ผู้ตายนั่งยอง ๆ อยู่บนชานบ้านและหันหลังให้จำเลยโดยเอียงข้างขวาให้จำเลยเล็กน้อยข้อพิรุธดังกล่าวจึงทำให้คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119, 153
หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้มีหนังสือทวงหนี้และจำเลยมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยเป็นหนี้กองทรัพย์สินของเจ้าหนี้เป็นการเด็ดขาดและถือเสมือนว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดเวลาให้ปฏิเสธหนี้ อันถือเสมือนว่าเป็นวันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 มิใช่นับแต่วันที่ศาลออกคำบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในหนี้รายนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีแล้ว หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้