กฎหมายฎีกา ปี 2554

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2554

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45

โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมา โดยในใบตราส่งที่โจทก์แนบท้ายฟ้องไม่ได้แนบข้อตกลงด้านหลังใบตราส่งไว้ด้วย จึงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้จำกัดความรับผิดดังอ้างไว้ในใบตราส่ง

การที่โจทก์นำสืบใบตราส่งที่มีเนื้อความด้านหลังเป็นพยาน พร้อมกับอ้างว่าจำเลยไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ได้เพราะด้านหลังใบตราส่งดังกล่าวระบุในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ในหัวข้อความรับผิดในกรณีสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่งไว้ว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 และนำสืบด้วยว่ากฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 จำกัดความรับผิดไว้สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น ถือเป็นการนำสืบในปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสยกข้อต่อสู้ปัญหาข้อนี้ว่ามีข้อเท็จจริงอื่นอีกหรือไม่ไว้ในคำให้การเพื่อให้เกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทขึ้น ทางนำสืบดังกล่าวจึงเป็นการสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2554

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคแรก, 246, 247 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1392

โจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 บริเวณที่เป็นทางคอนกรีตเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2516 ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 มาโดยตลอดจำเลยทั้งสี่กับพวกมาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 หลังจากโจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางในที่ดินนี้จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์โดยอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทุบทำลายทางคอนกรีตที่โจทก์ใช้เป็นทางพัฒนาที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินกว้าง 8 เมตร อันเป็นทางพิพาท โจทก์กับบริวารจึงย้ายมาใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทุบทำลายทางคอนกรีตอันเป็นทางภาระจำยอมเดิมของโจทก์แล้วไปทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 จึงเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์ให้ย้ายภาระจำยอมไปยังส่วนอื่น เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระะจำยอมเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ที่โจทก์มาใช้ทางพิพาทจึงไม่จำต้องนับอายุความกันใหม่

คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ในเรื่องทางรถยนต์ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายภาระจำยอมเดิมมาเป็นทางพิพาทที่มีสภาพเป็นถนน สำหรับรถยนต์แล่นเข้าออก และโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำเลยเดิมมาเป็นทางใหม่ โจทก์และบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกทางพิพาท ฟังได้ว่า ทางดังกล่าวตกอยู่ภาระจำยอมทางรถยนต์ด้วย

โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงและข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำยอมไปยังทางที่พิพาท อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ จนทำให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ซึ่งไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งทางที่พิพาทคงเป็นเพียงทางภาระจำยอม มีผู้ได้ภาระจำยอมในทางที่พิพาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ปัญหาดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาในปัญหาดังกล่าวมา จึงเป็นการพิพากษาในสิ่งใดๆ นอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8163

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8163/2554

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 วรรคสอง

โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อขายโดยการวางมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องร้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสาร จึงต้องห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว จึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้คืนจำเลยโดยมีระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2554

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 108, 110 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 272

การกระทำความผิดทั้งสองข้อตามที่โจทก์อ้างถึงในฟ้องดังกล่าวเป็นการกระทำในวันเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกัน สินค้าและผลิตภัณฑ์ก็คือสินค้าและผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพียงแต่ตามฟ้องข้อ (ก) กล่าวถึงตัวสินค้า ส่วนฟ้องข้อ (ข) กล่าวถึงหีบห่อที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเพื่อบรรจุสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการขายสินค้าที่จะมีหีบห่อและบรรจุภัณฑ์มาพร้อมกัน คำบรรยายฟ้องลักษณะนี้จึงไม่ชัดเจนพอฟังว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมแยกออกต่างหากดังที่โจทก์ฟ้องแยกเป็นอีกข้อหาหนึ่งและขอให้ลงโทษหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และการที่จำเลยนำเครื่องหมายเดียวกันไปติดไว้ที่สิ่งห่อหุ้มสินค้าและที่สินค้าแล้วขายสินค้าไปในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน ต้องถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวและไม่ถือว่าเป็นความผิดหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151 - 8152/2554

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6 (3), 13

เครื่องหมายการค้าคำว่า "HEXAXIM" ของโจทก์ขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกที่ 5 คือ ยา เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า "EXAZYM" ของ ค. แต่สินค้าของโจทก์เป็นวัคซีน ส่วนสินค้าของ ค. เป็นสารที่เตรียมขึ้นใช้ในการวินิจฉัยโรค ใช้ในทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับไวรัส แม้เป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีลักษณะการใช้แตกต่างกัน โดยวัคซีนของโจทก์ใช้ฉีดสำหรับเด็กเพื่อป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน ฯลฯ ไม่ได้จำหน่ายแก่ร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วไป แต่ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายนำสินค้าไปกระจายให้แก่โรงพยาบาลหรือผู้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ วัคซีนนี้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น บนกล่องระบุชัดเจนว่าเป็นยาอันตราย ผู้ใช้คือแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ส่วนสินค้าเครื่องหมายการค้า "EXAZYM" ที่จดทะเบียนแล้วซึ่งเป็นสารที่เตรียมขึ้นใช้ในการวินิจฉัยโรคใช้ในทางการแพทย์นั้น กลุ่มผู้ใช้สินค้าคือนักเทคนิคการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยใช้สารในการวินิจฉัยโรคจากสิ่งที่ส่งตรวจ เช่น เลือด ปัสสาวะ เป็นต้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาและร้านค้าทั่วไป ต้องซื้อจากตัวแทนจำหน่ายของผู้ผลิต โดยตัวแทนจะติดต่อกับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์โดยตรงและมีราคาสูง ส่วนวัคซีนตัวแทนจำหน่ายจะติดต่อกับแพทย์ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เห็นได้ว่าผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "HEXAXIM" กับผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "EXAZYM" เป็นคนละกลุ่มกัน และผู้ใช้สินค้าแต่ละกลุ่มต่างก็เป็นผู้มีวิชาชีพ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะทาง ย่อมสามารถแยกแยะสินค้าทั้งสองได้โดยไม่สับสนหรือหลงผิด นอกจากนั้น ช่องทางในการจำหน่ายสินค้าก็แตกต่างกัน ทั้งไม่ได้วางจำหน่ายในร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าสับสนหรือหลงผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149/2554

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 68, 80 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26, 38 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 225 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 219

แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีสถานีบริการอื่นมาเปิดใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันบางจากของจำเลยที่ 1 ก็เป็นวิสัยของการประกอบการที่จะต้องมีการแข่งขัน ไม่ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องกำหนดตามที่คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ในการเรียกค่าเช่าที่ได้ชำระล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ตามที่คู่ความแถลงรวมทั้งวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ก็เป็นประเด็นข้อพิพาทและข้อวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2554

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 177 วรรคสอง, 249 วรรคหนึ่ง

ข้อต่อสู้ในคำให้การ จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงรับเงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว มูลคดีนี้จึงเป็นอันระงับ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับหรือปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์จริงหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ หากโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 จริง ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำละเมิดในทางการที่จ้างดังฟ้อง จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจให้รวมกันมาได้เพราะขัดแย้งกันเอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับจำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาททั้งสองดังกล่าวจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8117

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8117/2554

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 84, 85, 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง

การที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางติดตัวมานั้นเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่สั่งซื้อไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะถูกจับกุมเสียก่อน แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 84 มิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การสั่งซื้อของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2554

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 109 (2)

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าลูกหนี้ที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้ร้องเพื่อนำไปชำระค่าขึ้นศาลตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 711/2548 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว ก็ตาม แต่เมื่อศาลจังหวัดสีคิ้วรับเงินไว้ เงินดังกล่าวย่อมมิใช่เงินของลูกหนี้ที่ 2 แล้ว ต่อมาลูกหนี้ที่ 2 ขอถอนฟ้องและศาลมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลแก่ลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 190,000 บาท จึงถือได้ว่าเงินที่ศาลสั่งคืนนี้เป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (2) จึงเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2554

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 577 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 13 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10 วรรคสาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน หากนายจ้างโอนลูกจ้างไปยังนายจ้างใหม่ โดยลูกจ้างไม่ยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสาม มีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบกิจการเท่านั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี 9 เดือน ถือว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจด้วยโดยปริยาย โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่คือจำเลยที่ 2 ด้วย แต่จำเลยที่ 2 กับโจทก์ก็มิได้มีข้อตกลงเรื่องกำหนดเกษียณอายุไว้เป็นประการอื่น โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ โดยไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์

จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติกันทั่วไป มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

« »