กฎหมายฎีกา ปี 2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70 วรรคสอง, 448 วรรคหนึ่ง

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21745/2556

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 289, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 8 ทวิ วรรคสอง

ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ซึ่งคำว่า "ชุมนุมชน" หมายความถึง หมู่ชนที่มารวมกันมาก ๆ โดยเป็นการรวมบุคคลหลาย ๆ คนโดยทั่วไป มิใช่บุคคลเฉพาะบางหมู่บางพวก แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพเข้าไปในบริเวณที่มีหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยถืออาวุธปืนพกยืนอยู่บริเวณข้างกำแพงด้านนอกแม้ไม่ได้เข้าไปที่ศาลหลักเมืองบริเวณที่จัดงานแสดงหมอลำและชกมวยก็ตาม แต่บริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนดังกล่าวมีรถยนต์ของผู้มาเที่ยวงานจอดอยู่ห่างจากปากทางเข้าออกงานประมาณ ๒๐ เมตร แสดงว่าบริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนนั้นอยู่ในที่ซึ่งหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ มาจอดรถเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21742

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21742/2556

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 4, 5

ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการและโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวได้แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็น "เจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4

เมื่อพิจารณาข่าวสารทางสำนักข่าวไทยและทางหนังสือพิมพ์แล้ว เนื้อหาของข่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบแก่ประชาชนทั่วไป การให้ข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบ จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่และการให้ข่าวของจำเลยเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิด แต่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่มีจำเลยเป็นกรรมการคนหนึ่งนั้นจะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือสังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18292

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18292/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222

แม้จำเลยจะทราบว่าโจทก์ประกอบกิจการซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายแก่ลูกค้าของโจทก์ต่อไปก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะตกลงขายสินค้าแก่ลูกค้าไว้ก่อน หรือมีข้อผูกพันที่จะต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์แล้วหรือไม่ การที่จำเลยไม่ส่งสินค้าแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์ จึงมิใช่ค่าเสียหายที่คาดหมายไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นเสมอไปอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อเมื่อได้คาดหมายหรือควรคาดหมายถึงพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้ว ทั้งตามพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบหรือคาดคิดหรือควรคาดคิดมาก่อนแล้วว่าหากจำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์แล้ว โจทก์ต้องเสียค่าปรับแก่ลูกค้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17872

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17872/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 659 วรรคสาม

ภ. ได้นำหนังสือเดินทางและสมุดบัญชีคู่ฝากเงินของโจทก์ กับใบมอบฉันทะให้เบิกถอนเงินซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์มายื่นถอนเงิน ณ. พนักงานของจำเลยตรวจสอบเอกสารแล้วลงลายมือชื่อในช่องผู้รับ ผู้บันทึกรายการเป็นคนแรก แล้วนำเอกสารดังกล่าวให้ ส. ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ ส. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจในใบถอนเงิน จึงน่าสงสัยว่า ส. ได้ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วจริงหรือไม่ กรณีชาวต่างชาติมอบฉันทะให้ถอนเงินในบัญชีจนหมดหรือเกือบหมด พนักงานจำเลยจะโทรศัพท์สอบถามเจ้าของบัญชีก่อน ส. เบิกความว่า โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในคำขอเปิดบัญชีแต่ติดต่อไม่ได้ ญ. เบิกความว่า โทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์แต่ติดต่อไม่ได้ เห็นว่า พยานจำเลยมีแต่พนักงานจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานจำเลยผู้รับฝากเงินมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าของจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ ปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีส่วนผิดด้วยหรือไม่ โจทก์เก็บสมุดคู่ฝากและหนังสือเดินทางกับบัตรเอทีเอ็มไว้ในกระเป๋าเดินทางซึ่งเก็บอยู่ในห้องพัก เอกสารดังกล่าวถูกลักไปจากห้องพักโดยการงัดกระเป๋าเดินทาง เห็นว่า โจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังโดยการเก็บเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนกุญแจห้องพักสำรองนั้น ภ. ไปยืมกุญแจจากพี่ชายไปไขเข้าห้องพักของโจทก์และลักเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว หาใช่โจทก์มอบกุญแจสำรองให้ ภ. กรณียังถือไม่ได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เช่นกัน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินที่ถูกถอนไปแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886/2556

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 249

โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โดยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาเฉพาะตามฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล แต่อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้รับรองให้อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เป็นการไม่ชอบ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนับแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในฎีกาโจทก์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5), 246, 247

โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841/2556

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (8), 1 (9), 266 (1)

คำรับรองการชี้แนวเขตที่ดินเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ มีไว้สำหรับให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินนำไปกรอกข้อความและลงลายมือชื่อแสดงว่าตนครอบครองที่ดินมีอาณาเขตเท่าใด และนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อให้เจ้าพนักงานกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดรูปที่ดินและทำระวางแผนที่ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ไม่เป็นเอกสารสิทธิ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21846

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21846/2556

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/1, 44/2, 46, 195 วรรคสอง, 225

เมื่อคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเองเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819/2556

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 856, 860, 702, 708, 728, 747 ประมวลรัษฎากร ม. 103, 104, 118

หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารมหาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร

จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า… เป็นเงินรวมกันไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ …จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แทนไปนั้น คำว่า ในเวลานี้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมหมายถึง การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนี้ สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย มิใช่จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น แม้คำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่า เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนอง ในวงเงิน 11,800,000 บาท ก็เป็นการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด

สำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อสัญญาจำนองฉบับนี้ระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อให้เกิดขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท ดังนั้น คำว่า ประกันหนี้ในเวลานี้ จึงมีความหมายว่า เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจำนองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาจำนองด้วย และจำเลยที่ 5 คงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 39209 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินจำนองเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว ในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น

สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118

การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว

« »