กฎหมายฎีกา ปี 2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1599 วรรคสอง

เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่พึงจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยจ่ายให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ ถ้าสมาชิกผู้ใดออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ ดังนี้ หากสมาชิกประสงค์จะให้ผู้รับโอนประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ก็จะต้องคงความเป็นสมาชิกไว้จนตายจะถอนเงินค่าหุ้นหรือออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ และเงินทุนเรือนหุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ก็มิใช่เงินที่สมาชิกสามารถที่จะเบิกถอนไปใช้ได้ก่อน เว้นแต่จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้วซึ่งก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวนก็ได้ เงินค่าหุ้นจึงมีลักษณะพิเศษที่มิใช่เป็นทรัพย์ของสมาชิกโดยแท้ เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติให้สมาชิกสหกรณ์สามารถทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้นหรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน การจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ก็ต้องทำเป็นหนังสือในลักษณะเดียวกันมอบให้สหกรณ์ถือไว้ และถ้าในที่สุดไม่มีผู้รับเงิน เงินนั้นก็จะนำไปสมทบเป็นเงินทุนสำรองของสหกรณ์ เมื่อเงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยเพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายจึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม โดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีก โดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 วรรคสาม (เดิม)

แม้ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่า ที่ไปที่ห้องพักของจำเลยเป็นเพราะจำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหา จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นของผู้เสียหายที่ 2 เอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ม. 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4 (เดิม), 6 (2), 6 (เดิม), 9, 52 (เดิม)

บทนิยาม "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีคงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย จึงไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย อันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) เดิม, 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม

คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 29 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พุทธศักราช 2550 ม. 21 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ม. 5

ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 880

การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761 - 8763/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 61, 80, 288

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 155 วรรคหนึ่ง

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2561

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 443 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3), 142 (5), 245 (1), 247

การที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพราะเหตุที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ย อ้างว่าจำเลยร่วมมีส่วนประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยร่วมให้การว่าไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อกับจำเลยที่ 2 คำให้การของจำเลยร่วมย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 2 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยร่วม เป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดได้

พฤติการณ์ที่จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีเครื่องหมายจราจรเขตปลอดภัยเส้นทึบห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ ทั้งจอดรถล้ำส่วนกระบะบางส่วนเข้าไปในทางเดินรถลงสะพานจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หากจำเลยร่วมไม่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรไปจอดรอบริเวณดังกล่าว เหตุเฉี่ยวชนย่อมไม่เกิดขึ้น เช่นนี้จำเลยร่วมจึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิจารณาความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายขึ้นสะพานซึ่งไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถเมื่อขับลงสะพานให้หยุดได้ในระยะปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับจอดกีดขวางอยู่ และความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบริเวณทางลงสะพานซึ่งเป็นจุดที่ผู้ขับขี่รถอื่นไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถได้อย่างชัดเจนทั้งยังหยุดรถกีดขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยร่วม แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาทเลินเล่อ แต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนความรับผิดหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนก็ได้

โจทก์ที่ 2 เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่าย หลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล แม้โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมางานศพจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการเดินทางและค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อพิเคราะห์ระยะเวลาจัดงานศพ 5 วัน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ รวมกัน 110,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นควรกำหนดให้ 80,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือญาติผู้ตาย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม มิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดามารดาแต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 1,800,000 บาท กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 22,700 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 4 ส่วน เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 20,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,675 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)

« »