คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2563
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 26/4, 26/5, 31, 35
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการส่วนนี้ให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 57 (1)
คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า โดยโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนดในที่ดินพิพาท เป็นการบุกรุกและรบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ส่วนการที่จำเลยของดการรังวัดที่ดินพิพาทไว้ก่อนเนื่องจากไม่สามารถนำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทได้ชัดเจนนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยได้กระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงหามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ไม่
ผู้ร้องสอดทั้งสองอ้างมาในคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง กับขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนั้นเมื่อโจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3, 277 วรรคสาม (เดิม), 279 วรรคสอง (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 91, 163 วรรคสอง
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่ตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลที่เห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ โดยขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริง โดยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี คำให้การดังกล่าวของจำเลยหาทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งในวันสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์นำผู้เสียหายที่ 2 เข้าเบิกความต่อหน้าจำเลยในช่วงเช้า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบศาลว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปี จำเลยย่อมต้องทราบแล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน