คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157

ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงหาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินอันจะทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการตามความหมายของ "เจ้าพนักงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 222

การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 798 วรรคสอง, 806

โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยโดยมี น. เป็นตัวแทนออกหน้าทำสัญญากับจำเลย โจทก์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่ง น. ตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อโจทก์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้ง น. เป็นตัวแทนย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคสอง โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งผลผลิตลำไยให้โจทก์ได้เพราะลำไยไม่มีคุณภาพและเรียกเงินมัดจำที่โจทก์ได้ให้ไว้คืน อันเป็นกรณีกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ต้องคืนเงินมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำค่าสินค้าหรือเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าบางส่วนคืน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 193/30, 516

ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาด เนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำ และได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ และให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้ง เพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง จ. เข้าประมูลซื้อและชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2563

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 13

ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้า ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่ารายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ทั้งต้องคำนึงถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้าได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ต่างก็มีคำว่า OASIS เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นเช่นเดียวกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปต้นมะพร้าวประดิษฐ์ประกอบอยู่ที่ด้านหลังด้วย แต่ก็เป็นเพียงภาคส่วนประกอบเท่านั้น สำหรับเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส หรือโอเอซิส ต้นมะพร้าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส นับได้ว่ามีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกันอย่างมาก ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งในส่วนนี้ แต่ความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน ช่องทางการจำหน่ายสินค้า และกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และผู้บริโภคสินค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด เป็นสำคัญด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นใน) เสื้อกีฬา กางเกง (ยกเว้นกางเกงกีฬา) กางเกงชั้นใน เข็มขัด รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อสำหรับเด็ก หมวก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790118 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 18 รายการสินค้า หนังฟอกและหนังเทียม หีบเดินทางและกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก กระเป๋าสะพายนักเรียน กระเป๋าหนังใส่ชุดเครื่องใช้เดินทาง กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง ถุงใส่ของทำด้วยหนัง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าที่เปิดออกสองข้างที่มีสายรัด เครื่องสะพายหลัง กระเป๋าจ่ายของ กระเป๋าใส่ของใช้ชายหาด กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่กุญแจ กระเป๋าใส่บัตรเครดิต กระเป๋าใส่บัตรธุรกิจ กระเป๋าใส่สตางค์ ร่มและร่มกันแดด ไม้เท้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค205612 ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้โดยการพกพาติดตัวหรือใช้เป็นส่วนประกอบเสริมกับเครื่องแต่งกาย จึงมีลักษณะการใช้ควบคู่หรืออยู่เคียงกับเครื่องแต่งกายของผู้บริโภคโดยทั่วไป แม้จะเป็นการจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่สินค้ามีลักษณะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันดังกล่าว ผู้บริโภคสินค้าก็เป็นกลุ่มเดียวกัน หากไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้ามาพิจารณาเปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกซื้อสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือได้ว่าสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 วรรคสี่ (เดิม), 317 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15

การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเราหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่โรงอาหารของโรงเรียน ต่อมา ว. พวกของจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมประเวณีที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ที่ห้องน้ำ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันในลักษณะต่อเนื่องกันในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนกับพวกต้องรู้กันและตกลงกันในขณะที่นั่งรอ ว. ว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มีโอกาสตั้งตัวและหลบหนีหรือขัดขืนได้ แล้วเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำทันที แม้ไม่มีจำเลยอื่นหรือบุคคลใดเข้าช่วยเหลือสนับสนุนหรือให้ความสะดวกให้มีการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครบทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม

ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย แม้เด็กจะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำต่อเนื่องกันหลังจากที่ ว. ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำ แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่จะต้องร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 มายังที่เกิดเหตุถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2824

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2824/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 วรรคสอง, 215, 218, 225

แม้ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จะต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811 - 2813/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสี่

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกกับพวกสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยหลอกลวงคนไทย คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและสัญชาติอื่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้เสียหายไปบังคับใช้แรงงานเป็นลูกเรือประมง โดยใช้กลอุบายหลอกลวง บังคับขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันใช้ยาพิษใส่ในน้ำหรือน้ำแดงหรือสุราให้พวกผู้เสียหายดื่มจนพวกผู้เสียหายมึนงง ขาดสติ และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนำพวกผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อบังคับใช้แรงงานในเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เสมียนนำสัญญากู้เงินไปให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ได้รับเงินกู้ แต่ต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อหักใช้หนี้ เป็นการข่มขืนใจและทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการทำงานของผู้เสียหายทั้งเจ็ดก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งหกตามข้อเท็จจริงนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95 (3), 96

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงโจทก์และโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในวันที่ 26 กันยายน 2558 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่าสามเดือน แต่ยังไม่พ้นอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ซึ่งอนุญาตให้ฟ้องคดีภายในสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ส่วนที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1238/2560 ของศาลแขวงลพบุรีนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลชั้นต้นได้ประทับฟ้องไว้แล้ว ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาผิดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 57

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นราษฎรอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลต่างจังหวัด ไม่มีประวัติการต้องโทษติดตัว ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกชาวบ้านก็เคยชักชวนกันร่วมลงทุนไปซื้อถ้วยชามแล้วนำเงินมาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามก็เป็นราษฎรหมู่บ้าน ตำบลเดียวกัน และการร่วมเป็นสมาชิกกองทุนเงินสุขาภิบาลถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านกัน ซึ่งการกู้ยืมเงินโดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงล่อใจนั้น โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามและสมาชิกทั้งหลายก็รู้เห็นแต่แรก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อายุมากย่างเข้าสู่วัยชรา ความจำเป็นส่วนตัวคงไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 มากนัก หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตกลงไปใช้เงินตามส่วนที่ควรรับผิดแล้ว ก็คงมีโอกาสจะได้รับให้รอการลงโทษได้ทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอเวลาหาเงินไปชำระโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามมานั้น ส่วนหนึ่งแสดงว่าได้สำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว เมื่อโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ลักษณะการกระทำความผิดจะค่อนข้างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สภาพความผิด และการพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว กรณีมีเหตุควรปรานีโดยให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามเพื่อคุมความประพฤติไว้ด้วย

« »
ติดต่อเราทาง LINE