กฎหมายฎีกา ปี 2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 4, 14, 18 วรรคสอง, 33 วรรคสอง, 35, 36 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286

บริษัท ส. ได้ทำการจัดสรรที่ดินโดยแบ่งแยกที่ดินเป็นที่ดินก่อสร้างอาคารชุด 24 แปลง ก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 56 แปลง และแบ่งเป็นที่ดินก่อสร้างสโมสร สระว่ายน้ำ 1 แปลง เป็นที่ดินสร้างหอสูงเก็บน้ำประปา 1 แปลง ทั้งได้จัดให้มีสาธารณูปโภคเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อพิจารณาจากแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินแล้วปรากฏว่า สระว่ายน้ำ ถนนภายในโครงการ ที่ดินที่สร้างหอสูงเก็บน้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคแก่อาคารชุดทาวน์เฮาส์ภายในโครงการจัดสรรที่ดิน ซึ่งที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และทาวน์เฮาส์ของจำเลยทั้ง 2 หลัง อยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวด้วย จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ซึ่งกำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไปไม่ได้ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งหอเก็บน้ำสูง สโมสร สระว่ายน้ำและถนนจึงยังคงเป็นสาธารณูปโภค ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทั้งหมด อันได้แก่ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และที่ดินที่ตั้งทาวน์เฮาส์ของจำเลย ดังนั้นโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และจำเลยย่อมมีสิทธิในการใช้สอยสาธารณูปโภคดังกล่าวร่วมกัน

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งให้มีอำนาจในการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 เกิน 6 เดือนขึ้นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 และมาตรา 36 ซึ่งตามมาตรา 18 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ โดยที่ตามมาตรา 4 บัญญัติคำนิยามของเจ้าของร่วมว่า เจ้าของห้องชุดในอาคารชุดแต่ละอาคารชุด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ หมวดที่ 1 ข้อ 2 กำหนดว่า เจ้าของร่วมหมายถึง เจ้าของห้องชุดในอาคารชุด และหมวดที่ 5 ข้อ 15.4 กำหนดว่าเจ้าของร่วมแต่ละรายการจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง รวมตลอดถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวก็มีการกำหนดให้เฉพาะเจ้าของร่วมเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ ผู้มีหน้าที่ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 คือเจ้าของร่วม ซึ่งหมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทาวน์เฮาส์โดยมิได้เป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด จึงมิใช่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดร่วมกับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุดและข้อบังคับดังกล่าวและไม่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่แต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่จะได้มีการเรียกประชุมโดยมีจำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย และยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ก็ตามก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อผูกพันที่จำเลยจะต้องยึดถือปฏิบัติตลอดไปเนื่องจากมิใช่หน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยตกลงยินยอมชำระเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางก่อนหน้านั้นเป็นการตกลงทำสัญญากับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปริยายเนื่องจากเป็นการชำระไปตามที่จำเลยเข้าใจว่ามีหน้าที่ต้องชำระ เมื่อจำเลยทราบว่าไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยย่อมมีอำนาจยกเลิกการปฏิบัติตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปฏิเสธที่จะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อไปได้ โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 265, 268

จำเลยปลอมหนังสือราชการของกรมราชเลขานุการในพระองค์ขึ้น 3 ฉบับ และปลอมประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ขึ้นอีก 1 ฉบับ แล้วบันทึกภาพหนังสือราชการปลอมทั้งสี่ฉบับไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จากนั้นจัดส่งภาพหนังสือราชการปลอมทั้งสี่ฉบับโดยวิธีลง (โพ้สต์) ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายในคราวเดียวกันก็ด้วยเจตนาที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับสำนักพระราชวังซึ่งจัดดำเนินการโครงการบ้านพอเพียงในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ตามเรื่องที่จำเลยกุขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามฟ้องนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2), 46 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 265, 268, 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อให้ผู้เสียหายทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยและให้ลูกน้องของผู้เสียหายถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอ แต่ต้องเสียค่าดำเนินการ ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปให้แก่ผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างดังกล่าวก็เพื่อต้องการเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายนำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน อนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านไปติดต่อเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยจึงทราบความจริงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมก่อให้เกิดความผิดหรือเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำความผิดอาญา ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 229

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษาให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ตามฟ้องและฟ้องแย้งเท่านั้น โดยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และทนายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ ทนายจำเลยย่อมต้องทราบว่าต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางพร้อมกับอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมาก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7

จำเลยชำระหนี้ต้นเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ แต่มิได้นำดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์แถลงต่อศาลประสงค์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย กรณีถือได้ว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนสิ้นเชิง จึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือไม่ได้ว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5984

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5984/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 221, 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 147

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จำเลยฎีกาพร้อมยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาแล้วไม่อนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ว่า ไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับฎีกาของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 และไม่ใช่กรณีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามกฎหมายจะฎีกาไม่ได้อันจะให้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะคดีไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย และคู่ความอาจฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้โดยปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ดังนี้ คดีของจำเลยจึงถึงที่สุดนับแต่สิ้นระยะเวลายื่นฎีกาโดยคู่ความไม่ได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คือ วันที่ 26 เมษายน 2563 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ อันเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลายื่นฎีกาจึงสิ้นสุดลงวันที่ 27 เมษายน 2563 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1474 (1)

จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลย สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่า จำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ จำนวน 671,000 บาท เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนคนละครึ่ง ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระเงินค่าเบี้ยประกันจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินบริษัทผู้รับประกันภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ คงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 29

ตามทางไต่สวนได้ความถึงอาการบาดเจ็บของโจทก์ว่า นอกจากการรักษาโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์กระดูกและข้อแล้ว ยังมีขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดที่แพทย์หลอดเลือดเข้ามารักษาอาการของโจทก์ โดยนายแพทย์ ว. ตรวจพบอาการเกิดตุ่มน้ำพองใสบริเวณขาซ้ายและข้อเท้าซ้ายมีสีคล้ำเกรงจะเกิดภาวะขาดเลือด เมื่อดำเนินการฉีดสีพบว่าเส้นเลือดที่เป็นเส้นหลักในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงขาซ้ายไม่ปรากฏในผลการตรวจ นายแพทย์ ว. ได้ปรึกษาผู้บริหารและปรึกษาแพทย์ทางโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่และนายแพทย์ ก. ได้แนะนำให้ทำบายพาสด่วนโดยหาทีมแพทย์ท้องถิ่นหรือส่งต่อทางเครื่องบิน แต่นายแพทย์ ว. ส่งโจทก์ไปรักษาที่กรุงเทพมหานครด้วยรถพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยอ้างข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ว่าใช้ระยะเวลาในการประสานงาน การรอคิวว่างของเฮลิคอปเตอร์ที่ว่าต้องรออีก 2 ถึง 3 วัน การลงจอดรับผู้ป่วยต้องลงจอดที่สถานีตำรวจท้องที่นอกบริเวณโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีรายละเอียดถึงข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายนับเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นตามภาระการพิสูจน์ ทั้งได้ความจากโจทก์ว่าญาติของโจทก์ขอให้เคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 จัดให้บริการเรียกว่า SKY ICU จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเฮลิคอปเตอร์ไม่ว่างและไม่สามารถบินกลางคืนได้ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ถามค้านโจทก์เพื่อหักล้างสมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์ดังที่โจทก์เบิกความ คดีย่อมฟังได้ว่า เฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ให้บริการรับส่งผู้ป่วยทางอาการมิได้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถบินในเวลากลางคืนได้ เมื่อคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ระบุว่า โรงพยาบาลมีบริการรับส่งผู้ป่วยทางอากาศ (Air Ambulance) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใช้บริการมากราย หรือเฮลิคอปเตอร์ไม่มีคิวว่างที่จะเคลื่อนย้ายโจทก์ในวันนั้น คำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีบริการเช่นนั้นจริง นายแพทย์ ต. พยานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า การทำบายพาสเร่งด่วนให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย เมื่อการเคลื่อนย้ายโจทก์ได้รับความยินยอมจากมารดาของโจทก์เมื่อเวลา 22 นาฬิกา และสามารถเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันที่ 12 กำหนดถึงโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานครเวลาประมาณ 15 นาฬิกา เท่ากับใช้เวลาก่อนออกเดินทาง 5 ชั่วโมง เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง จำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักดีว่าระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายโจทก์เป็นข้อสำคัญที่ต้องดำเนินการทันท่วงที การเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลที่ต้องใช้เวลาดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับคำแนะนำและไม่เป็นผลดีต่อการรักษาอาการของโจทก์ เป็นการเลือกใช้วิธีเคลื่อนย้ายโจทก์ไปรักษาที่ไม่เหมาะสมแก่โจทก์ในสภาวการณ์เช่นนั้น คดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความพยายามตามวิธีการและมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในการรักษาและเคลื่อนย้ายโจทก์ตามสถานการณ์และอาการบาดเจ็บของโจทก์ในขณะนั้น การที่โจทก์ต้องถูกตัดขาเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไป อันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นโรงพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในการดูแลรักษาโจทก์และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86, 277 วรรคสี่ (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง, 215, 225

ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยคบคิดกับพวกที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ทั้งขณะพวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และมิได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปให้พวกของจำเลยกระทำชำเรา และมิได้ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 หรือห้ามปรามพวกของจำเลย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

« »