กฎหมายฎีกา ปี 2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6156

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6156/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1173 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 42/2 (3)

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าของร่วมในอาคารชุดมอบอำนาจให้ผู้อื่นหรือเจ้าของร่วมคนอื่นกระทำการแทนตนเอง อีกทั้งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ม. ก็ไม่มีข้อกำหนดห้ามเช่นเดียวกัน การที่เจ้าของร่วมในคดีนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการแทนเกี่ยวกับการทำหนังสือขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดประชุมใหญ่วิสามัญ และการตั้งตัวแทนเพื่อการออกหนังสือนัดประชุมภายหลังจากที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของเจ้าของร่วมซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคะแนนเสียงทั้งหมด โดยการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เป็นการเฉพาะตัวในกิจการที่สำคัญที่เจ้าของร่วมจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง เจ้าของร่วมจึงมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแทนตนเองได้ บทบัญญัติมาตรา 1173 แห่ง ป.พ.พ. ไม่อาจนำมาบังคับใช้กับกรณีในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2564

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 39

จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการขอส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนและไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อการติดตั้งฟิล์มกรองแสงเป็นของแถมที่จำเลยที่ 2 เสนอให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดไว้ด้วยความประณีตเรียบร้อยใช้การได้ดีเหมาะสมแก่รถยนต์พิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบควบคุมคุณภาพการติดตั้งจนเกิดความเสียหาย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้รับผิดในจำนวนค่าเสียหายนี้มาให้ครบถ้วนถูกต้อง และวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นตามฟ้อง ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายตามความเหมาะสม แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 โดยให้จำเลยที่ 2 ติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดในสัญญาซื้อรถยนต์ให้โจทก์ใหม่ทุกบานเพื่อให้สอดคล้องกับกระจกบานอื่น และตรวจสอบระบบวงจรไล่ฝ้าให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการลอกฟิล์มเก่าออก อันเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทในระหว่างติดตั้งฟิล์มกรองแสงใหม่ หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้อีกด้วย เมื่อความเสียหายเกิดจากการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายหลัง เป็นความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะตามข้อตกลงไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการผลิตรถยนต์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

คดีก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยเป็นหนี้บัตรเครดิตและต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงมูลหนี้เดียว คำขออื่นให้ยกนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้สินเชื่อพร้อมใช้และสินเชื่อบุคคล หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีก่อนไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์จนคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์นำมูลหนี้สินเชื่อพร้อมใช้และสินเชื่อส่วนบุคคลมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.1059/2554 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แม้พอจับใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากผิดสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุเช่นนั้น คงบรรยายเพียงว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยคาดหมายว่าโจทก์อาจฟ้องร้องบังคับคดีเท่านั้น คำฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 291, 300, 390 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30, 193 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43, 157

เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แล้วโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยระบุคำร้องว่า บ. และ ป. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. โดย น. มารดา และ น. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสามในฐานะผู้สืบสันดานและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อโจทก์ร่วมทั้งสามสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่รอการลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และเมื่อคดีขึ้นมาที่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6098

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6098/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) จำคุก 25 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้อาวุธมีดขู่บังคับขณะกระทำชำเราเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีอาวุธมีดในขณะกระทำชำเราผู้เสียหาย โจทก์ฎีกาว่า ขณะกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยถืออาวุธมีดอยู่ในมือย่อมทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36

ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไปหาผู้ร้องและหยิบอาวุธปืนของกลางออกมาเพื่อใช้ซ้อมยิงปืนในค่ายทหารซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเลยกระทำอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากนั้นจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาใช้ก่อเหตุ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดกวดขันในการอนุญาตให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่จำเลยสามารถหยิบอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าววัตถุประสงค์ให้ผู้ร้องทราบก่อน ย่อมแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 92

โจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา บรรยายฟ้องในส่วนของการขอเพิ่มโทษว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2772/2561 ของศาลจังหวัดปทุมธานี ให้จำคุก 9 เดือน ฐานลักทรัพย์ ภายในเวลาห้าปีนับแต่พ้นโทษในคดีดังกล่าว จำเลยมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก ซึ่งความผิดในคดีก่อนและคดีนี้จำเลยได้กระทำในขณะที่มีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และบรรยายฟ้องในส่วนขอให้นับโทษจำคุกต่อว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 1375/2562 ของศาลชั้นต้นซึ่งได้ยื่นฟ้องพร้อมกันต่อศาลชั้นต้นในวันนี้ ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีในส่วนขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษา ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจำเลยให้การรับสารภาพตามคำให้การที่ศาลบันทึกไว้ข้างต้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวด้วยแล้ว ทั้งความยังปรากฏต่อศาลเองด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2772/2561 ของศาลชั้นต้น และจำเลยได้มากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงอยู่ในเงื่อนไขเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดนี้ตาม ป.อ. มาตรา 92 และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกิน 6 เดือนจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยและรอการลงโทษจำคุกจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 172, 1367

อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 715 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50 วรรคสอง, 52

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์

« »