กฎหมายฎีกา ปี 2567
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2567
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 วรรคสอง, 186 (6), 186 (8)
คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ขอให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาโดยชอบจึงถือว่าเป็นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 แล้ว ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/1
บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งอำนาจปกครองเป็นอำนาจที่ผูกติดกับสถานะความเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบิดามารดาและบุตร การที่บุคคลอื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนอำนาจปกครองของบิดามารดาจะต้องรับผิดฐานละเมิดในทางแพ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ในทางอาญาด้วย ถึงแม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีออกจากบ้านก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 มารดาสิ้นสุดไป และในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่อยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ก็พยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 แต่ติดต่อไม่ได้ แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยังคงห่วงใยผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูก พ. ชักชวนไปค้าประเวณี และจำเลยซื้อบริการทางเพศ น. ส่วนพวกของจำเลยซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยมอบเงินค่าซื้อบริการทางเพศ น. และผู้เสียหายที่ 1 แก่ พ. และจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ด้วย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตรับตัวผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากจากมารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83
ส่วนสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นสิทธิของผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดอาญา กฎหมายกำหนดให้สามารถขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ถือว่าผู้ร้องพอใจในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแล้ว โจทก์ไม่อาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแทนผู้ร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 79
ผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักผลปาล์มในสวนของบุตรชายจำเลย การลักทรัพย์เป็นการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและเป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของผลผลิตและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องลงทุนลงแรง เมื่อจำเลยมีหน้าที่เฝ้าดูแลสวนป่าให้บุตรชายมาพบเห็นการกระทำของผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งหน้า ย่อมต้องเกิดโทสะและมีอำนาจที่จะปกป้องติดตามจับกุมผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อนำทรัพย์สินคืนมาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 79 แม้จะได้ความว่าจำเลยตะโกนบอกให้ผู้ตายและผู้เสียหายหยุด โดยผู้ตายและผู้เสียหายได้ทิ้งผลปาล์มที่ลักมาแล้วและพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายและผู้เสียหายไม่ยอมหยุดกลับรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีโดยมิได้รู้สำนึกในการกระทำผิดของตน ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจและก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลยยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย ซึ่งโทสะของจำเลยนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่บุคคลทั้งสองยังพยายามหลบหนี การใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยในขณะที่ถูกข่มเหงรังแกจากการถูกผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักทรัพย์และมีโทสะอยู่เช่นนี้ จึงนับเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1726 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173
คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้นคู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลย ไม่ต้องด้วยกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2567
พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ม. 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีซึ่งมีการเพิ่มโทษครบแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษดังกล่าว และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681/1
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่า การพิจารณาที่จำเลยเบิกความนั้นศาลได้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่ขณะที่จำเลยเบิกความตามที่เป็นคดีในคำฟ้องนี้ การพิจารณาคดียังมิได้ถูกเพิกถอน หากฟังได้ว่าจำเลยเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีก็ย่อมมีความผิด และถือได้ว่าได้กระทำความผิดสำเร็จไปแล้ว แม้การพิจารณาในส่วนดังกล่าวต่อมาจะถูกเพิกถอนก็หาได้กระทบการกระทำความผิดที่สำเร็จไปแล้วไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยได้เบิกความต่อศาลแล้ว แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งก็ไม่มีผลกระทบการกระทำของจำเลย แต่การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดหรือไม่ อยู่ที่ว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เมื่อในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ 135/2560 ของศาลชั้นต้น จำเลยเบิกความว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลย 1,000,000 บาท โดยจำเลยเบิกความประกอบสำเนาหลักฐานการกู้ยืมเงินและสำเนารายงานประจำวันรับแจ้ง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ 135/2560 ของศาลชั้นต้น ส่วนโจทก์ให้การและนำสืบในคดีแพ่งว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพียง 240,000 บาท ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กู้ยืมและรับเงินไปจากจำเลย 1,000,000 บาท ดังนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าวที่เบิกความว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลย 1,000,000 บาท เป็นความเท็จ การที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดง ผบ 135/2560 ของศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2567
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/1, 44/2 วรรคหนึ่ง, 182, 195 วรรคสอง, 225
ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 182 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนอาญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2567
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
การวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกข้อเท็จจริงตามฎีกาขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นว่า ผู้เสียหายทะเลาะวิวาทกับจำเลยมาก่อนแล้วผู้เสียหายมารอจำเลยที่บ้านของบิดาจำเลยโดยพร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกับจำเลย จำเลยจึงเกิดโทสะเข้าชกต่อยผู้เสียหายแล้วจำเลยพลั้งมือหยิบอาวุธมีดขนาดเล็กเหวี่ยงไปทางผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1720, 1723, 1726, 1736 วรรคสอง
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 4 วิธีการจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก ว่าด้วยการจัดตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคน และวิธีการจัดการมรดก ซึ่งมาตรา 1726 บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้จัดการมรดกหลายคนซึ่งต้องตกลงกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงดำเนินการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน ทำการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 ว่าด้วยการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมาตรา 1736 วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำในทางธรรมชาติของการจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น บางกรณีไม่อาจกระทำได้ด้วยผู้จัดการมรดกพร้อมกันทุกคน เช่น การครอบครองทรัพย์มรดก การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขอถอนผู้จัดการมรดก และไม่จำต้องกระทำการพร้อมกันทุกคน เช่น การทำนิติกรรม การรับชำระหนี้จากลูกหนี้ การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี เป็นต้น ทั้งตามบทกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น ต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมพร้อมกันทุกคนทุกคราวไป เพียงแต่ต้องกระทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เนื่องเพราะผู้จัดการมรดกทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อทายาทและบุคคลภายนอกดังเช่นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720 และ 1723 ฉะนั้น การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก หรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นผู้ร้อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 แล้ว ต่อมา บ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งถอน บ. ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า นัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ผู้ร้อง ป. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง ทนายผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และทนายผู้คัดค้านมาศาล โดยได้ความตามคำร้องขอแก้ไขคำร้อง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ของ บ. ผู้ร้องโดย อ. ทนายความผู้ร้อง เป็นผู้ลงนามในคำร้องและเป็นผู้เรียงคำร้องดังกล่าว ในหน้าที่ 5 มีข้อความว่า "กรณีผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินหลายรายการอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกนั้น ซึ่งทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเหล่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของผู้คัดค้านหรือชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนสู่กองมรดกนั้น ผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนในนามส่วนของตนเองได้โดยตรง ผู้ร้องยินดีให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านแต่ประการใด" นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวในหน้าที่ 3 มีข้อความอีกว่า "…ปัจจุบันผู้ร้องและทายาทโดยธรรมของผู้ตายทุกคน พักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ทนายความ และบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับผู้คัดค้านแทนผู้ร้อง และผู้คัดค้านสามารถติดต่อทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ตลอดเวลา.." จากข้อความดังกล่าว จึงฟังได้ว่า บ. ได้แต่งตั้งให้ ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจของตนในการดำเนินคดี และมีการแต่งตั้ง อ. เป็นทนายความของตน ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตาย ถือได้ว่า บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่น ให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วม อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่จะมีการประชุมผู้จัดการมรดก ดังนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกการประชุม ระบุว่า "..ผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมคือ 1) นางสาว ร. (ซึ่งก็คือโจทก์) และ 2) อ. และ ป. ตัวแทน บ." ซึ่งก็คือทนายความและผู้รับมอบอำนาจของ บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ในกองมรดกของผู้ตาย ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นตัวแทนของ บ. ในการประชุมผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการประชุมผู้จัดการมรดก เพื่อปรึกษาการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งอยู่ในชื่อตัวแทน 4 คน ที่ยังไม่สามารถเรียกคืนได้และอีกหนึ่งคนตกลงคืนแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์คืน โดยฝ่ายทายาทไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในท้ายรายงานการประชุมดังกล่าวได้แนบบัญชีทรัพย์สินในกลุ่มที่ 3 ระบุชื่อจำเลยจำนวน 2 รายการ คือ อันดับที่ 19 ที่ดินและบ้านพิพาท และอันดับที่ 20 เงินพิพาท จึงถือได้ว่า อ. ทนายความ และ ป. ผู้รับมอบอำนาจของ บ. เป็นตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ได้ร่วมประชุมจัดการมรดกและมีมติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกคืนสู่กองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1723 และเกี่ยวกับคดีนี้ก็คือการร่วมรู้เห็นและยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเข้าสู่กองมรดกนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมากตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1726 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินและบ้านพร้อมเงินพิพาทส่วนของผู้ตายคืนจากจำเลยได้