กฎหมายฎีกา ปี 2567
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440/2567
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, 24, 146
การที่ผู้คัดค้านทำรายงานความเห็นและมีหมายแจ้งให้โจทก์คืนเงิน 2,500,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลายเป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ซึ่งตามรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้โจทก์ทราบ แม้ในตอนท้ายจะมีข้อความขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหมายนี้ ก็มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม รายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงหามีสภาพบังคับแก่โจทก์ไม่ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าผู้คัดค้านดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ลำพังรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 146 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนรายงานความเห็นของผู้คัดค้านที่ให้เรียกเงิน 2,500,000 บาท คืนจากโจทก์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (11)
ตามใบรับผู้ป่วยในจำเลยลงลายมือชื่อในช่องข้อมูลผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลว่าผู้รับผิดชอบแทนผู้ป่วย หมายความว่า จำเลยยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. มารดาในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. โดยตรง มิใช่จำเลยในฐานะบุคคลภายนอกที่ยินยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่ ก. มารดาจำเลยค้างชำระต่อโจทก์ โจทก์เป็นสถานพยาบาลฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยทำสัญญารับผิดชอบ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (11)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/33 (2)
เมื่อสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นงวด ๆ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดคือเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระก่อนย่อมไม่อาจทำได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้แต่ละงวดซึ่งถึงกำหนดไม่พร้อมกัน ย่อมมีระยะเวลาครบกำหนดอายุความไม่พร้อมกัน หนี้ที่ถึงกำหนดชำระในงวดก่อน ย่อมครบกำหนด 5 ปี ก่อนหนี้ที่ถึงกำหนดทีหลังถัดกันไป ไม่ใช่ว่าหนี้งวดแรกซึ่งถึงกำหนดก่อนครบกำหนดอายุความแล้ว จะทำให้หนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้ในงวดหลัง ๆ ต้องครบกำหนดอายุความไปด้วยไม่ เนื่องจากสัญญาไม่ได้กำหนดไว้ว่า หากผิดนัดชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดแล้วก็ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดทุกงวด ดังนั้นหนี้แต่ละจำนวนซึ่งถึงกำหนดชำระไม่พร้อมกัน จึงไม่ได้ขาดอายุความไปพร้อมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559 ม. 30, 46 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ม. 15
พนักงานคุมประพฤติจัดทำรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีโดยได้ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกสืบเสาะและพินิจแล้วจัดทำรายงานและเสนอความเห็นต่อศาล ซึ่งข้อมูลที่พนักงานคุมประพฤติแสวงหามาได้มีทั้งผลดีและผลร้ายต่อจำเลยเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษาหรือดุลพินิจในการกำหนดโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 30 ข้อเท็จจริงในชั้นพนักงานคุมประพฤติเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดโทษผู้นำความลับนั้นไปเปิดเผย รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยจึงเป็นข้อมูลที่เป็นความลับและเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 15 (2) (3) (4) และ (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์คัดถ่ายรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 52 (1), 86 ป.ยาเสพติด ม. 90, 145 วรรคสาม (2), 152
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่กระทำความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนลดโทษให้ประหารชีวิต ดังนั้น โทษสองในสามส่วนของโทษประหารชีวิตจึงเท่ากับจำคุกตลอดชีวิต เทียบ ป.อ. มาตรา 52 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานนี้ก่อนลดโทษ ให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลงโทษปรับ และมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 ด้วย จึงชอบแล้ว เพราะศาลอุทธรณ์ไม่ได้ลงโทษสองในสามส่วนของโทษจำคุกที่ต้องลงโทษปรับด้วยเสมอตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 152
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2567
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
แม้จำเลยจะออกเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมถอนฟ้องจำเลยในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดอาญาแผ่นดินก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมจะถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ร่วมอันพึงกระทำได้ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง โดยกฎหมายมิได้ห้ามโจทก์ซึ่งฟ้องคดีความผิดอาญาแผ่นดินไว้แล้วจะถอนฟ้องไม่ได้ การที่โจทก์ร่วมรับเช็คพิพาทจากจำเลยแล้วถอนฟ้องในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฟ้องเท็จ ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มูลหนี้ตามเช็คพิพาทมิได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1330, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (14), 7 (2), 271, 278, 295 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 58 ตรี, 61
กระบวนวิธีการบังคับคดีในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบ มาตรา 271 โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 808 ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 20 ปีเศษ ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 6 ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเพิ่งทราบว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล สิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 จึงไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีไม่อาจบังคับตามคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 828, 1599, 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (1), 43, 44/1, 47 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 42, 60
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน
ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 (2)
แม้โจทก์มีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยด่าทอโจทก์และไล่โจทก์ออกจากบ้าน ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความสนับสนุนก็ตาม ซึ่งจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ด่าทอโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากบ้าน ทำให้ต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความฝ่ายใดจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์เริ่มแรก ก่อนที่จำเลยจะเข้ามาเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ โจทก์เบิกความว่าก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์และ พ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ม. เป็นเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ มี ส. และ ท. พ่อตาแม่ยายของจำเลยมาเฝ้าดูแล และพาไปโรงพยาบาล จนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกันจนกระทั่งโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ทำให้เห็นว่าจำเลยและครอบครัวทางภริยาพยายามเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์เป็นพิเศษ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาดูแลเอาใจใส่พาโจทก์และ พ. ไปโรงพยาบาล ให้ที่พักอาศัยพาไปทำบุญและท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ทั้งโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์ต่างเป็นหญิงชรา โจทก์มีโรคประจำตัวหลายโรคทั้งเบาหวาน และความดัน ส่วน พ. ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อโจทก์และ พ. มีทรัพย์สินและเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าไม่ใช่น้อยจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยในการกระทำของจำเลยและครอบครัวว่ากระทำด้วยความสุจริตหรือไม่ ซึ่งต่อมาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและเงินสดให้แก่จำเลย แต่โจทก์ก็ยังเป็นห่วงจำเลยว่าเครือญาติของโจทก์จะมีเรื่องทรัพย์สินพิพาทกับจำเลย จึงจดทะเบียนยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ย่อมรักไว้ใจและผูกพันจำเลยเสมือนบุตรและหวังฝากผีฝากไข้ไว้กับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิต 4,770,000 บาท และนำไปฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ปรากฏว่าในวันเดียวกันมีการถอนเงินออกไป 2,700,000 บาท และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 มีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีก 2,010,000 บาท โจทก์เบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้เบิกถอน ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่า เงินที่ถอน 2,700,000 บาท โจทก์ยกให้จำเลยนำไปชำระหนี้ส่วนตัวของจำเลยและภริยา ส่วนเงินที่ถอน 2,010,000 บาท โจทก์ให้นำไปใช้ในครอบครัวและดูแลความเป็นอยู่ของโจทก์ แม้ให้การไม่สอดคล้องกัน แต่ก็ทำให้เห็นว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการที่ดูแลโจทก์เพียงไม่กี่เดือน นับแต่ที่โจทก์รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมและจำเลยพาโจทก์มาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากที่โจทก์ย้ายออกมาจากบ้านพ่อตาแม่ยายของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ตรวจสอบบัญชีเงินฝากจึงทราบว่าเหลือยอดเงินฝากเพียง 68.03 บาท โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาลักทรัพย์ และพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ลักเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ไปโดยใช้บัตรกดเงินสด (บัตรเอทีเอ็ม) รวม 37 ครั้ง และลักเงินสด รวมยอดเงินที่จำเลยลักไปในคดีดังกล่าว 560,504 บาท ในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ช่วงที่โจทก์พักอาศัยอยู่กับจำเลย ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาสุจริตที่รับเลี้ยงดูแลโจทก์ดังที่จำเลยนำสืบ แต่การกระทำของจำเลยแฝงไว้ด้วยเล่ห์เพทุบายในการหลอกล่อเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปโดยทุจริต จนเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์เหลือเพียง 68.03 บาท และโจทก์ยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้เป็นของจำเลยแล้วจนโจทก์แทบไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง และไล่โจทก์ออกจากบ้าน เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำที่จำเลยด่าทอโจทก์ที่ว่า "ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม ไม่รักลูก เงินแค่นี้ก็ทวง จะไปตายที่ไหนก็ไป หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม" กับการที่โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโจทก์ก็เปรียบเสมือนเป็นมารดาของจำเลยคนหนึ่ง จำเลยย่อมต้องให้ความเคารพและยกย่องเชิดชูโจทก์ คำว่า "ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม" เป็นการกล่าวหาโจทก์ว่า ไม่รู้จักชอบชั่วดี ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ทำให้ถูกคนอื่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ส่วนคำว่า "หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม" แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีความละอายแก่ใจที่มาอาศัยอยู่กับจำเลยและครอบครัว อันเป็นถ้อยคำที่ไร้ความเคารพนับถือ เป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)