กฎหมายฎีกา ปี 2567
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328, 329
การที่จำเลยพิมพ์ข้อความ "#ท่าน ม.หัวหน้าพรรค ท. #ขอติดตามความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่อยู่ระหว่างการถูกสอบ #ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกเมื่อ 27 มีนาคม 2561 #ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วจะปล่อยให้ความไม่ถูกต้องอยู่แบบนี้หรือ #ขอขอบคุณภาพและข่าวจากสำนักข่าวไทยอสมท ท่าน สส. ม. เรื่องนี้ท่านต้องติดตามนะครับว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไรเท่าที่ทราบมีการตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการสรุปแล้วว่ามีความผิดจริงแต่เป็นความผิดเล็กน้อย ขอโทษนะครับถ้าเป็นมาตรฐานความผิดที่ ปปช. ลงดาบมาตลอดสำหรับการใช้รถหลวง ใช้เวลาหลวงไปใช้ในกิจการส่วนตัว ปปช. ไม่ไล่ออกก็ให้ออกครับไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยแบบนี้ คงต้องอาศัยท่าน สส. ม. สส. ขวัญใจประชาชนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยครับ"… ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เห็นว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตำแหน่งราชการสูงสุดของข้าราชการประจำกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายตาของสาธารณะการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ความสามารถ ตลอดจนจริยธรรมและคุณธรรม และการติดตามผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริตย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ การที่จำเลยติดตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการ ปปช. เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของปลัดกระทรวง พิมพ์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเว็บไซต์เฟซบุ๊กย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใช้ดุลพินิจตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโดยไม่สุจริตอย่างไร ต้องการสร้างความเสียหายหรือประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เพราะเหตุใดตามหน้าที่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ตามกฎหมายในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1471 (3), 1474 (1), 1474 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 323
แม้ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 20948 จะเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินกรรมสิทธิ์รวมโฉนดเลขที่ 2996 โดยที่ดินพิพาท 2,000 ส่วน ผู้ร้องรับโอนมาจาก จ. มารดาจากการยกให้โดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ส่วนที่ดินอีก 492 ส่วน ที่ผู้ร้องซื้อมาจาก น. ระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาท ผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 492 ส่วน ให้แก่ ว. น้องสาวของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 492 ส่วนนั้นแล้ว คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เฉพาะในที่ดิน 2,000 ส่วนเท่านั้น กรณีจึงไม่มีสินสมรสระคนปนอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทอันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรส ทั้งพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องและเจ้าของรวมอื่นได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดแล้ว กรณีจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์จะยึดนำออกขายทอดตลาดได้ จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360 - 361/2567
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/70 วรรคหนึ่ง, 90/58 (3)
ผู้บริหารแผนเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของการจัดสรรการชำระหนี้และขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนเดิม ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการที่ขอแก้ไขนั้นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 จะได้รับชำระหนี้เงินต้นลดลงจากแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม ผู้บริหารแผนจึงต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่แก้ไขสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 (3) ด้วยเช่นกัน เมื่อผู้บริหารแผนไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่แก้ไขสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 (3) ทั้งยังได้ความจากรายงานสรุปข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของผู้บริหารแผนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดทำมาเสนอต่อศาลว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และ 3 จะได้รับชำระหนี้กรณีฟื้นฟูกิจการน้อยกว่ากรณีล้มละลาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่แก้ไขสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้บางรายได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเสนอขอแก้ไขแผนฉบับต่อมาเป็นการขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนและขอแก้ไขเงื่อนไขการออกจากแผนโดยเป็นการขอแก้ไขต่อจากข้อเสนอขอแก้ไขแผนฉบับแรกซึ่งจำนวนเงินที่เจ้าหนี้บางรายจะได้รับชำระหนี้ยังคงน้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเช่นเดิม ศาลฎีกาจึงไม่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฉบับต่อมาทุกฉบับ และย่อมมีผลให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องกลับไปผูกพันกันตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิมที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน การที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 วรรคหนึ่ง โดยเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่มีการแก้ไขดังกล่าวได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว จึงต้องถูกยกเลิกเพิกถอนด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/27, 744 (1), 744 (2), 744 (3), 744 (4), 744 (5), 744 (6), 745 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 274
ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336, 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง, 1745, 1750 วรรคสอง ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 63 วรรคแรก, 63 วรรคสอง, 72
คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำกับทายาทของ ก. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก อันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินไม่ได้สูญหาย ใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (6), 43
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าจำเลยมีเจตนายักยอกเอารถตู้ของกลางคันที่เช่าซื้อมาเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตไป จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถส่งมอบรถตู้คันที่เช่าซื้อคืนให้แก่บริษัท ต. นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 อายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ น. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 จึงเกินกำหนดสามเดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธิของโจทก์ที่นำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทำให้คำขอส่วนแพ่งของพนักงานอัยการโจทก์ตกไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 1349 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 11, 13, 16
การเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้ หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352, 353 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (7), 161 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 252 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4, 22, 22 ทวิ
แม้อุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แต่ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ตราที่โจทก์ประทับในฟ้องเป็นตราประทับที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตามข้อบังคับของโจทก์หรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352, 353 มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทั้งไม่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ ตามมาตรา 22 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยจะฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฟ้อง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง ดังนั้น เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยเฉพาะศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี และการสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 (1), 335 (8) วรรคสอง
โจทก์ร่วมและจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติและต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม อสม. เมื่อจำเลยทราบว่าสมาชิกผู้สั่งซื้อเสื้อยังไม่ได้รับเสื้อ จำเลยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการรับสั่งจองเสื้อ จึงไปสอบถามและทวงเสื้อคืนจากโจทก์ร่วมโดยเปิดเผย ทั้งยังฝากเงินค่าซื้อเสื้อคืนให้แก่โจทก์ร่วมและนำเสื้อไปให้สมาชิกทันที พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเสื้อที่โจทก์ร่วมมีไว้ในครอบครอง โจทก์ร่วมได้รับไปโดยไม่ถูกต้อง การกระทำของจำเลยหาใช่เจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่เป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225
เดิมโจทก์ใช้ชื่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นชื่อคู่ความ ต่อมาแก้ฟ้องใช้ชื่อ ส. กับพวก ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นคู่ความแทน เมื่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ ไม่เป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ ดังนั้น ส. กับพวก ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ แม้ ส. กับ จ. จะเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ ดังกล่าว แต่ก็มิได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว จึงไม่สามารถมอบอำนาจให้ ภ. ดำเนินคดีแทนได้ เมื่อ ส. กับพวกไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ตามกฎหมายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225