คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241, 456 วรรคสอง

โจทก์ตกลงขายบ้านให้จำเลยโดยรับเงินค่าบ้านมาเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยขอผัดผ่อนจะจดทะเบียนโอนกันวันหลัง แต่ได้มอบการครอบครองบ้านให้จำเลยนั้น ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวนี้ย่อมผูกพันโจทก์อยู่ จำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านพิพาทของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อ และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยบ้านซึ่งครอบครองนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงบ้านหลังนั้นไว้ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 375, 1754

ทายาททุกคนทำสัญญาตกลงยกที่ดินมรดกบางส่วนให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ของผู้ตาย โดยโจทก์มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย จึงเป็นการทำสัญญาเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ลงชื่อรับทราบสัญญาในช่องพยานและยึดถือสัญญานั้นไว้ ประกอบกับได้บอกกล่าวจำเลย ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกให้โอนที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 จำเลยต้องโอนที่ดินนั้นให้แก่โจทก์และทายาทจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญานั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ให้โอนที่ดินตามสัญญาที่ทายาทตกลงยกให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ เป็นการฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องคดีมรดกอันอยู่ในบังคับจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1311

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1311/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77ให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานที่จะให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่เห็นว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง คำเตือนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มิใช่คำวินิจฉัยชี้ขาด ว่านายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดคุ้มครองแรงงาน และไม่มีผลบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นายจ้างไม่มีอำนาจฟ้องพนักงานตรวจแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 127

โจทก์ขู่ให้จำเลยแก้วันในสัญญาประนีประนอมยอมความเดิมจาก พ.ศ.2521 เป็น 2520 โดยว่าถ้าไม่แก้จะนำเช็คซึ่งจำเลยออกให้ผู้อื่นและตกอยู่ในมือโจทก์ไปฟ้องคดีอาญาว่าออกเช็คไม่มีเงินการขู่ดังนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามปกตินิยมไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2522

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195, 212, 225

จำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไปแล้ว ต่อมาไปตกลงกับธนาคารว่า เช็คของจำเลยต้องประทับตราด้วย.จึงจะจ่ายเงินได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้ประทับตราผู้สั่งจ่าย ทั้งจำเลยก็สั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค ประกอบกับจำเลยมีหนี้ตามเช็คเป็นยอดเงินอีกจำนวนมาก ซึ่งธนาคารไม่ยอมผ่านเช็คให้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ข้อที่โจทก์มิได้ให้จำเลยประทับตราก่อนจึงไม่เป็นข้ออ้างตามกฎหมายที่จะให้จำเลยพ้นผิด

จำเลยออกเช็คสองฉบับชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ เป็นความผิดสองกระทง

ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษรวมกันมาเป็นการไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 ศาลฎีกาเรียงกระทงลงโทษ แต่กำหนดโทษให้เป็นไปตามเดิมได้ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293/2522

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2509 ม. 4 (3) บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 1

สินค้าที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก ตามบัญชี 1 หมวด1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21)พ.ศ.2509 หมายความโดยตรงถึงการจำหน่ายสินค้าในรูปลักษณะบรรจุไว้ในภาชนะหรือในหีบห่อผนึก หาใช่หมายความถึงการนำสินค้าบรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกเพื่อการเก็บรักษาสินค้าไม่ ดังนั้น การที่โจทก์เก็บลูกกวาด ซึ่งทำด้วยน้ำตาลไม่มีกระดาษห่อหุ้มไว้ในปีบ.เพื่อมิให้ถูกอากาศชื้นเสียหาย จึงเป็นการเก็บรักษาสินค้า และเมื่อโจทก์จำหน่ายสินค้า โจทก์ก็นำลูกกวาดออกจากปีมาชั่งขาย มิได้จำหน่ายไปทั้งภาชนะหรือหีบห่อผนึก สินค้าของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะสินค้าที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกตามบัญชี 1 หมวด 1(4) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่เป็นสินค้าที่ไม่ได้ระบุไว้ตามบัญชีที่ 1 ซึ่งตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชกฤษฎีกานั้นให้เรียกเก็บภาษีการค้าร้อยละ1.5ของรายรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลที่ทำไว้กับโจทก์โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินหนึ่งแปลงพร้อมเรือนหนึ่งหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลกันเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวไว้จ่ายให้ผู้ร้องครึ่งหนึ่งเพราะทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องและจำเลยรวมกันได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องและจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาและต่างก็มีรายได้ที่ดินและเรือนพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันหนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวดังนี้ การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไปยืมเงินโจทก์มาใช้จ่ายในการดำรงชีพและนำมาซื้อที่ดินพร้อมทั้งปลูกเรือนพิพาทและผู้ร้องรู้เห็นในการกู้ยืมด้วยจึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1309

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1309/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 472, 474

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยติดต่อค้าขายกันหลายปีโดยโจทก์รับซื้อกระป๋องบรรจุน้ำมันหล่อลื่น จากจำเลยมีข้อตกลงว่าถ้ากระป๋องชำรุดรั่วใช้การไม่ได้ จำเลยยอมรับคืนและยอมใช้ค่ากระป๋องในราคาที่จำเลยขายให้โจทก์ โจทก์ได้ส่งกระป๋องที่ชำรุดจำนวนหนึ่งคืนจำเลย แต่จำเลยไม่ใช้ราคา โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ดังนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยขายให้โจทก์ชำรุดบกพร่องโดยตรง ตกอยู่ภายใต้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ไม่ใช่เรื่องโจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าขายกระป๋อง ชำรุดอันจะ ใช้อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15

ผู้ร้องเป็นฝ่ายนำสืบก่อนและได้ยื่นบัญชีพยานไว้แล้วแต่ในวันสืบพยานผู้ร้อง ผู้ร้องส่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจต่อศาลโดยมิได้ระบุในบัญชีพยาน แม้จะเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาแต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานก่อนเสร็จการสืบพยานผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะอ้างได้การที่ทนายผู้ร้องมิได้คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับเอกสารเพราะเหตุที่ผู้ร้องมิได้ระบุอ้างเป็นพยานในการยื่นบัญชีพยานครั้งแรกมิได้หมายความว่า ผู้ร้องจะยื่นบัญชีเพิ่มเติมให้ถูกต้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 420, 826

จำเลยที่ 4 เป็นบุตรของ อ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ อ. โจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 4 เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ อ. ก่อนตาย อ. ได้ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้ หลังจาก อ. ตายแล้วโจทก์นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปโอนที่พิพาทมาเป็นของตน เจ้าพนักงานที่ดินไม่ทราบว่า อ. ตายแล้ว จึงจัดทำให้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับบรรดาทายาทของ อ. ทำหนังสือรับรองและรับรู้ว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อ. ยกที่ดินพิพาท และทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ถอนชื่อโจทก์ออกจากโฉนด เพราะรับโอนมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 4 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. มีหน้าที่แบ่งมรดกของ อ.ให้แก่ทายาทโดยธรรม โจทก์มิใช่ทายาทโดยธรรมของอ.ไม่มีสิทธิรับมรดกที่โจทก์เอาหนังสือมอบอำนาจของ อ. ไปขอโอนกรรมสิทธิ์หลัง อ. ตายแล้ว เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทของ อ. จะได้ทำหนังสือรับรองและรับรู้ดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นเพียงมีความหมายว่า ไม่ติดใจยกเอาเรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้าง เพื่อฟ้องร้องเรียกที่ดินนั้นคืนจากโจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ถูกเพิกถอนชื่อออกจากโฉนด เป็นเพราะเจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ อ. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

« »
ติดต่อเราทาง LINE