คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069 - 1070/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1382, 1599, 1600
โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมาโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จำเลยจึงยกกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ แม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนการได้มาก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 228, 254
คำสั่งขอศาลอุทธรณ์เกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณา ย่อมฎีกาได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเฉพาะบ้านพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลย หากเพิกถอนไม่ได้ก็ให้จำเลยใช้ราคาบ้านแก่โจทก์ ดังนี้แม้จำเลยจะรื้อบ้านพิพาทไปโจทก์ก็ไม่เสียหายอย่างใดเพราะโจทก์จะได้ราคาบ้านพิพาทหากจำเลยแพ้คดี จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้จำเลยหาประกันสำหรับราคาบ้านพิพาทและค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องชำระหากจำเลยแพ้คดีมาวางศาลเสียก่อนที่จำเลยจะรื้อบ้านพิพาทไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 231 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
ในคดีล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พระราชบัญญัติล้มละลาย จำเลยจะร้องขอทุเลาการบังคับตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 ดังเช่นคดีแพ่งธรรมดาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 32 (3), 35
แม้ผู้ให้เช่านาจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่าในกรณีที่ผู้เช่าใช้ที่นาเพื่อการอย่างอื่นนอกจากการทำนา โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 32(3) ก็ตามแต่การบอกเลิกก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 35 ซึ่งมีวิธีการบอกเลิกการเช่านาเป็นขั้นตอนตามกฎหมายเพื่อให้คณะกรรมการควบคุมการเช่านาได้พิจารณาก่อนว่ามีเหตุสมควรหรือไม่อย่างไรโดยให้ผู้เช่ามีโอกาสคัดค้านด้วย โจทก์จะถือเอาคำฟ้องเป็นการบอกเลิกการเช่าไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 226
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลยมานั้นพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีโดยฟังว่าการกระทำของจำเลยเท่าที่ปรากฏไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิด คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานดังกล่าว เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 เมื่อโจทก์มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว แต่ไม่ได้โต้แย้งไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 420, 423, 449
โจทก์ได้เลียนแบบลายกนกสลากปิดผ้าโสร่งของจำเลยที่ 1 โดยจงใจที่จะลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าสินค้าผ้าโสร่งของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เสียหาย การที่จำเลยนำสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ปิดในใบปลิวซึ่งประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 คู่กับสลากปิดผ้าของโจทก์ เขียนข้อความข้างสลากของจำเลยที่ 1 ว่า 'แท้' ข้างสลากของโจทก์ว่า 'เทียม' และทำเครื่องหมายกากบาทไว้บนสลากของโจทก์ด้วย ส่งไปให้ประชาชนและร้านค้าผ้า เพียงเพื่อให้ผู้รับใบปลิวเข้าใจได้ถูกต้องว่า สลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 คือสลากปิดผ้าที่มีคำว่า 'แท้' อย่างข้าง ๆ ส่วนสลากปิดผ้าที่มีคำว่า 'เทียม' อยู่ข้าง ๆ นั้นเป็นสลากของเทียมไม่ใช่ของแท้ของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวเกี่ยวกับสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ไปตามความจริงเพื่อให้ผู้จะซื้อผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 ทราบ จะได้เข้าใจถูกต้อง มิใช่เป็นการกล่าวทับถมว่า ผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์มีคุณภาพเลวและไม่ควรซื้อแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1065/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 236
คำสั่งศาลอุทธรณ์ซึ่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ เป็นที่สุดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 ฎีกา ต่อไปไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2522
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ม. 17
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช2519 นั้น เมื่อได้สั่งให้ทรัพย์สินของ ณ. และภริยาที่ถูกอายัดหรือยึดไว้แล้วทั้งหมดตกเป็นของรัฐตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทก็ต้องถือว่าได้โอนมาเป็นของรัฐแล้วในทันทีที่มีคำสั่งและคำสั่งดังกล่าวระบุว่าการจะคืนทรัพย์สินใดซึ่ง ณ.และภริยา หรือบุคคลใดได้มาโดยสุจริตและโดยชอบจะต้องพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเสียก่อน หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี คำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ได้บัญญัติวิธีการที่จะชี้ขาดข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากคำสั่งไว้โดยเฉพาะและเป็นคำสั่งที่ออกมาตามอำนาจแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้นทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517ซึ่งตราขึ้นภายหลังก็ยังบัญญัติให้มีผลใช้บังคับต่อไปดังนั้น เมื่อคณะกรรมการได้ชี้ขาดไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 567, 572, 680
เมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับไป เพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่สัญญาเช่าซื้อระงับไปแล้ว
ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดต่อการสูญหายและเสียหายทุกชนิดอันเกิดขึ้นแก่ยานพาหนะ(รถยนต์ที่เช่าซื้อ) ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้จำเลยทั้งสองผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันใช้ราคาหรือค่าเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อหลังจากที่สัญญาระงับไปเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2522
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินค่าปรับและค่างานที่สูงขึ้นที่ลูกหนี้ (จำเลย) ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางและค้างชำระอยู่ แม้จะปรากฏว่าเหตุผิดสัญญาที่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับการชำระเงินค่าปรับแก่เจ้าหนี้เป็นรายวันไปทุกวันที่ยังผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้เงินค่าปรับดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันไป ฉะนั้น มูลหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ