คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 407, 409, 419

คดีก่อนโจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยโดยอาศัยเหตุที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและได้ใช้หนี้แทนจำเลยไป แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยโดยสำคัญผิดว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระแทนโดยอาศัยหลักลาภมิควรได้ ซึ่งเป็นการอาศัยเหตุต่างกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

โจทก์เพิ่งจะรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ เมื่อศาลพิพากษาในคดีก่อนว่าสัญญาที่โจทก์ค้ำประกันจำเลยนั้นไม่ผูกพันโจทก์ อายุความ 1 ปีจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีก่อน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 466/2492)

การชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407นั้น ต้องถือหลักว่ารู้หรือไม่รู้ตามความรู้เห็นของผู้ชำระเป็นประมาณ ไม่ถือเอาผลในกฎหมายว่ามีความผูกพันกันอยู่จริงหรือไม่เป็นเกณฑ์ เพียงแต่ผู้ชำระสำคัญผิดว่าตนมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น แม้ตามกฎหมายผู้ชำระจะไม่ต้องผูกพันก็จะถือว่าผู้ชำระรู้อยู่แล้วไม่ได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไปโดยสำคัญผิด โจทก์ก็ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 409

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 62

จำเลยเป็นข้าราชการบำนาญได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีรับเงินสมนาคุณจากงบประมาณแผ่นดินประเภทค่าทดแทนจำเลยซื้อที่ดินในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป. ภรรยาจำเลยร่วมกัน แล้วจำเลยดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมส่วนของ ป. อยู่ติดชายทะเลไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจำเลยจึงดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ที่ดินของ ป. ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเช่นนี้ จำเลยอาจเข้าใจผิดคิดว่าน่าจะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ยุ่งยากภายหลังในพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยน่าจะเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยทำได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดอาญา ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 9, 164 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 145, 249

ข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดถึงที่สุดแล้วในคดีก่อนซึ่งโจทก์จำเลยเป็นความกันนั้น ย่อมรับฟังยันโจทก์จำเลยในคดีหลังได้แม้ประเด็นทั้งสองคดีจะต่างกัน

จำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือข้อตกลงยอมให้เงินแก่โจทก์จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการชดเชยในการที่โจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่เช่าเต็มทั้งแปลงตามกำหนดเวลาที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือ แม้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นไม่มีพยานรับรองไว้สองคนศาลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

การฟ้องบังคับตามข้อตกลงดังกล่าวอยู่ภายใต้อายุความ 10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นประเด็นว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นจะยกขึ้นฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 112, 680 ประมวลรัษฎากร ม. 104

ธนาคารโจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อองค์การสะพานปลา ยินยอมใช้เงินให้แก่องค์การสะพานปลาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา ในการนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาไว้แก่ธนาคารโจทก์มีข้อความว่าตามที่ธนาคารโจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้กับองค์การสะพานปลานั้น ถ้าองค์การสะพานปลาเรียกร้องให้ธนาคารโจทก์ชำระเงินจำนวนที่ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบให้ธนาคารโจทก์ไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้ในจำนวนเงินที่ชำระไปนั้น เอกสารดังกล่าวมิใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงไม่เป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 241

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 241/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1586, 1619, 1627, 1629 (1), 1629 (3), 1630

เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมจำเลยที่ 2 จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586,1627 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมมรดกจึงตกได้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ที่1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดกหามีสิทธิได้รับมรดกไม่

ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกัน แม้สัญญาดังกล่าวจะกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นในภายหน้าเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็เป็นสัญญาที่ให้จำเลยที่2 ผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียวจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในการรับมรดกในทรัพย์มรดกบางส่วนให้แก่โจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1619ไม่มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 169, 189, 241, 369, 747

แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยและได้มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันการกู้เงิน ตามสัญญากู้มิได้กำหนดวันชำระเงินไว้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญากู้เริ่มนับตั้งแต่วันกู้เป็นต้นไป และมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นับตั้งแต่วันกู้เงินถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดฉบับพิพาทของโจทก์ไว้ขาดอายุความเสียแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดไว้เป็นประกันหนี้นั้นต่อไป

การที่โจทก์กู้เงินและมอบโฉนดให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ไม่เข้าลักษณะจำนำ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา189 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ไว้ต้องคืนให้โจทก์ (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2521)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

การที่จำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อขายจำหน่าย ก็โดยเจตนาขายจำหน่าย และเฮโรอีนที่จำเลยขายไปก็คือเฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้นั่นเอง ดังนั้นการมีเฮโรอีนเพื่อขายและการขายเฮโรอีนของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

ความผิดฐานเสพรับเข้าร่างกายหรือใช้ด้วยวิธีอื่นใดซึ่งยาเสพติดให้โทษนั้น กฎหมายประสงค์ลงโทษผู้เสพรับเข้าร่างกายหรือใช้ด้วยวิธีอื่นใดซึ่งยาเสพติดให้โทษแก่ตนเองเท่านั้น ลักษณะแห่งความผิดไม่เปิดช่องให้ผู้อื่นร่วมกระทำความผิดด้วยกันได้ ดังนั้น แม้จำเลยจะฉีดเฮโรอีนเข้าร่างกายให้ ร. ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมเสพรับเข้าร่างกายซึ่งเฮโรอีนที่ฉีดให้ ร. นั้นด้วย จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186, 190

ศาลชั้นต้นเขียนคำพิพากษาย่อบันทึกไว้หลังปกสำนวน ต่อมาเจ้าหน้าที่ของศาลจึงพิมพ์ฉบับเต็ม แต่ปรากฏว่าพิมพ์ข้อความขาดตกไป ดังนี้ ถือว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาด ชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069 - 1070/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1382, 1599, 1600

โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมาโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จำเลยจึงยกกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ แม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนการได้มาก็ตาม

« »
ติดต่อเราทาง LINE