คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (2)

ผู้ร้องสอดขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม อ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองเช่าที่ดินผู้ร้องสอด ไม่ได้เช่าจากโจทก์ หากจำเลยแพ้คดี อาจฟ้องร้องผู้ร้องสอดให้เสียหาย ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องและภายหลังปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดีไปแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์เป็นเหตุให้คดีถึงที่สุด สิทธิในการดำเนินคดีของจำเลยจึงไม่มีอีกแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 428

จำเลยจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างตึกความเสียหายแก่ตึกของโจทก์เกิดจากการตอกเสาเข็มในการก่อสร้างตึกของจำเลย จำเลยเป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้างและการก่อสร้างต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยสั่งให้ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้าง จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 448

อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้แทนของกรมทางหลวงแต่ผู้เดียวเจ้าหน้าที่อื่น ๆ หาใช่ผู้แทนไม่ ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าอธิบดีได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินหนึ่งปีคดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ส่งมอบที่พิพาทคืน โจทก์ให้การต่อสู้คดีแล้วได้มีการท้ากันและโจทก์แพ้คดีตามคำท้า โจทก์มาฟ้องใหม่ว่าที่ดินซึ่งโจทก์ปลูกบ้านอยู่นอกเขตที่ดินของจำเลย ไม่ใช่ของจำเลย ดังนี้ คดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์มีประเด็นอยู่ว่าที่ดินที่จำเลยฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะให้ศาลวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยตรงเพราะคู่ความตกลงท้ากัน แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความแล้ว ก็ต้องถือว่าศาลได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันและคดีก่อนถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องใหม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005 - 1006/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

โจทก์ 2 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยมาในคดีเดียวกันรวมค่าเสียหายเกิน 50,000 บาท โดยต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวแยกกันแต่ละรายไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้

ฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ฎีกาข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161, 177

ที่ธรณีสงฆ์แม้จะครอบครองทำประโยชน์มาเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

จำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่า หากศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์จะต้องใช้ค่าที่ดินเพิ่มขึ้นให้จำเลยโดยจำเลยขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกจากโจทก์ต่อไปเท่านั้นจำเลยหาได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์มาในคำให้การด้วยไม่ศาลจึงไม่อาจบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นได้

การกำหนดความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความของคู่ความนั้น ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 993

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989 - 993/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 60

โจทก์ขอออกโฉนดที่พิพาท จำเลยซึ่งครอบครองที่พิพาทอยู่ คัดค้านว่าเป็นที่ของจำเลย เจ้าพนักงานที่ดินทำการเปรียบเทียบ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงสั่งให้โจทก์ไปฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน ต่อมาโจทก์ได้มาฟ้องคดีเอาคืนการครอบครอง แต่พ้นเวลา 1 ปีนับแต่จำเลยคัดค้านดังนี้โจทก์หมดสิทธิฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้วเพราะการนับระยะเวลาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง คือนับแต่วันที่จำเลยคัดค้าน อันแสดงว่าจำเลยโต้แย้งโดยเปิดเผยต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานทำการเปรียบเทียบ กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1358

เมื่อโจทก์จำเลยได้แบ่งกันครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดมาแต่แรกแล้วแม้โจทก์จำเลยจะมีชื่อร่วมกันในโฉนดก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะเจ้าพนักงานที่ดินแนะนำให้ขอออกโฉนดร่วมกันไปก่อนเนื่องจากที่พิพาทเป็นที่ดินตกสำรวจจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยมีส่วนในที่ดินแปลงพิพาทเท่ากันตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304

หนองน้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติสำหรับราษฎรในหมู่บ้านใช้เป็นที่จับปลาและเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้ทางราชการจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญเพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกระทำดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1361, 1498 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477

การเป็นสามีภริยากันก่อนใช้บทบัญญัติบรรพ 5 และต่อมาแยกกันอยู่ภายหลังที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แล้ว โดยมิได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันตามนัยแห่งมาตรา 1497,1498 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ย่อมไม่ทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และได้ครอบครองที่พิพาทอยู่ด้วย โดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินแก่จำเลยที่ 1 ทายาทผู้รับมรดกอีกผู้หนึ่งเป็นรายปีทุกปีตลอดมายังมิได้แบ่งปันกันต้องถือว่าต่างเป็นเจ้าของร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกนี้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอน กลับคืนมาได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE