คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 183
โจทก์จำเลยตกลงท้ากันขอให้สืบ ส.เป็นพยานหากส. เบิกความเจือสมฝ่ายใด ให้ฝ่ายนั้นชนะคดี ดังนี้ คำท้าของโจทก์จำเลยจึงเป็นคำท้าที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ใช้บังคับได้ เมื่อ ส. เบิกความเจือสมฝ่ายโจทก์โจทก์ก็เป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้า จำเลยจะกลับมายื่นคำร้องอ้างว่า ส. เบิกความโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลไต่สวนและเพิกถอนคำท้าภายหลังที่ ส. ได้เบิกความต่อศาลไปแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลให้รับฟัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 937/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208
จำเลยลงชื่อรับคำบังคับตามคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2521 แต่มายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ในวันที่ 5 มิถุนายน 2521 เป็นเวลาเกินสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ทั้งคำร้องของจำเลยก็มิได้กล่าวคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลไว้เลยว่า จำเลยอาจชนะคดีได้อย่างไร คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงไม่ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ศาลรับไว้พิจารณาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 521
จำเลยได้ออกเงินชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อแทนโจทก์ โจทก์จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเป็นการตอบแทน จึงไม่ถือว่าเป็นการให้โดยเสน่หา โจทก์จะมาขอถอนคืนการให้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119
ค่าปรับตามสัญญาประกันผู้ต้องหาชั้นสอบสวนเป็นเบี้ยปรับถ้าสูงเกินส่วน ศาลลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา383
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1360, 1745
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก พ. ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินมรดกที่จำเลยเช่าจาก พ. เมื่อได้ความว่าขณะนี้ทรัพย์มรดกของ พ. ยังมิได้มีการแบ่งกัน และจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. ด้วยคนหนึ่ง ดังนี้ จำเลยและทายาทอื่นย่อมมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ พ. ร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันแล้วเสร็จซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1745 ให้ใช้ มาตรา1356 ถึง มาตรา1366(ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม) บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพ 6 จำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรวม ซึ่งหมายถึงว่ามีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยโจทก์จึงจะฟ้องให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดแก่ผู้ถือ จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ค่าสินค้าโจทก์ฝากเช็คนั้นให้ ธ.นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของ ธ. เพื่อให้เรียกเก็บเงิน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ธ. จึงได้มอบเช็คพิพาทคืนแก่โจทก์ดังนี้ ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คอยู่ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 253, 256
บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 นั้น คำว่า'ปีปัจจุบัน' หมายถึงปีที่ผู้มีบุริมสิทธิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเงินของลูกหนี้มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่ผู้มีบุริมสิทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 9 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245
ลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้มีพยานลงลายมือชื่อรับรองคนเดียวโจทก์ลงชื่อในสัญญากู้ในช่องผู้ให้กู้ไม่ได้เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้ไม่ชอบด้วย มาตรา 9 วรรค 3 ฟ้องบังคับคดีแก่ผู้กู้ไม่ได้ เป็นเหตุลักษณะคดีแม้โจทก์ฎีกาฝ่ายเดียว ศาลก็พิพากษายกฎีกาโจทก์และยกฟ้องผู้ค้ำประกันด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2522
ประมวลรัษฎากร
เครื่องจักรพร้อมด้วยส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักรของโจทก์ ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรใช้ผลิตสินค้ามาเป็นเวลานานแล้วส่วนสินค้าตามฟ้องที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งนี้มิใช่ส่วนประกอบหรืออุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้อยู่หากแต่เป็นส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่สั่งเข้ามาภายหลัง เพื่อใช้ทดแทนของเดิมที่ชำรุดจึงหาใช่สินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79ตรี(11) ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2522
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 14 (2) พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงนครราชสีมา ศาลแขวงสุรินทร์ ศาลแขวงอุบลราชธานี ศาลแขวงอุดรธานี ศาลแขวงขอนแก่น ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลแขวงลำปาง ศาลแขวงพิษณุโลก ศาลแขวงนครสวรรค์ ศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงนครศรีธรรมราช ศาลแขวงสุราษฎร์ธานี และศาลแขวงสงขลา พ.ศ.2520 ม. 5
ขณะเกิดเหตุคดีของโจทก์อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดที่จะต้องรับฟ้องไว้พิจารณา แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอำนาจศาลให้คดีของโจทก์อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลแขวง
คดีที่เกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงถ้ายื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลจังหวัดที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้