คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 1562 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสหย่าและตกลงกันให้แบ่งที่ดินยกให้เป็นของบุตร เมื่อภริยาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสามีฟ้องขอบังคับให้แบ่งตามข้อตกลงได้ โดยฟ้องในนามตนเองให้ภริยาปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งไม่เป็นการที่บุตรฟ้องบิดามารดา ไม่ต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

แม้ศาลจะพิพากษาแล้วว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และเป็นที่ดินที่รวมอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยก็ตามจำเลยก็ไม่มีหน้าที่อย่างใดที่จะต้องไปจัดการโอนที่พิพาทให้เป็นของโจทก์ หากที่พิพาทยังมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยเฉพาะส่วนที่ออกทับที่พิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เท่านั้น

การที่โจทก์ขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกให้ก็พอจะแปลความหมายได้ว่าโจทก์ต้องการที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์ แต่เมื่อศาลเห็นว่าไม่สามารถจะบังคับให้ได้ตามคำขอ คงบังคับได้แต่เพียงให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะส่วน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาเช่นนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 349, 656 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, 249

จำเลยมิได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่าสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นเอกสารปลอมและศาลอุทธรณ์ก็มิได้ยกประเด็นที่ว่าสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นดังกล่าวเพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์

จำเลยกู้เงินโจทก์ 5,000 บาท ต่อมาจำเลยตกลงโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้โดยทำเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นการแปลงหนี้ใหม่มาจากหนี้เงินกู้ยืมและในสัญญาจะซื้อขายได้กำหนดราคาที่พิพาทไว้แน่นอนว่าเป็นราคา 5,000 บาทที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่พิพาทมีราคา 10,000 บาทสูงกว่าหนี้เงินกู้นั้นก็เป็นราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเอาไว้สำหรับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นเท่านั้นหาใช่ราคาท้องตลาดแห่งที่พิพาทในเวลาที่ทำสัญญากันไม่เมื่อตามข้อสัญญาได้มีการกำหนดราคาที่พิพาทลงไว้แน่นอนว่าเป็นราคา 5,000 บาทและไม่ปรากฏว่าเป็นราคาผิดกับราคาท้องตลาดในขณะนั้นสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจึงมีผลใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะเพราะขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1430

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1430/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 188

ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ฝ่ายเดียว เมื่อหนี้ขาดอายุความแล้ว และขอผ่อนผันการดำเนินคดี เจ้าหนี้ไม่ตอบรับ ไม่เป็นการรับสภาพหนี้โดยสัญญา ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383

ลานายจ้างไปศึกษาต่างประเทศโดยรับเงินเดือนระหว่างลามีสัญญาว่าถ้าไม่กลับมาทำงานตามเดิมจะคืนเงินและปรับอีก 1 เท่าของเงินเดือนระหว่างลา ศาลลดเบี้ยปรับลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425/2522

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 121

การจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 121 นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร สมควรจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด ซึ่งธรรมดาย่อมทราบได้จากการสอบสวนหรือไต่สวนลูกหนี้เจ้าหนี้โดยตรงดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพไป โดยสั่งในคำร้องของลูกหนี้ที่ขอให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพนั้นเอง ไม่ได้พิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบศาลย่อมให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาสั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 199, 224

จำเลยยื่นคำร้องว่า ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ถึงวันเวลานัดศาลชั้นต้นได้สอบจำเลยแล้ว จึงมีคำสั่งว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ดังนี้ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้ว

คดีมีทุนทรัพย์ 9,940 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่จงใจขาดนัด อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422 - 1423/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213, 1299, 1378, 1410 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 28, 84, 138, 142, 243, 247

ที่พิพาทเป็นที่ดินมี น.ส.3. เดิมเมื่อ พ.ศ. 2511 บ. เคยฟ้อง ม. แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดย บ. ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของ ม. และ ม. ยินยอมให้ บ. อาศัยในเรือนของ บ. ที่ปลูกในที่พิพาท และให้ใช้คอกกระบือเดิมในที่พิพาทที่เคยใช้มาแล้วต่อไป ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแต่ บ. ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมา พ.ศ. 2516 ม. ขายที่พิพาทให้ ช. โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนแล้วมีคดีพิพาทกันต่อมา 2 คดี คือ คดีแรก ช. เป็นโจทก์ฟ้อง บ. เป็นจำเลยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ม. เมื่อ พ.ศ. 2516 จำเลยได้มาปลูกคอกกระบือในที่พิพาทของโจทก์ ขอให้ขับไล่ คดีหลัง บ. เป็นโจทก์ฟ้อง ม. และ ช. ว่า ม. จดทะเบียนขายที่พิพาทให้ ช. โดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนและให้ ม. จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีทั้งสองขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแยกกัน ศาลฎีกามีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันตามที่คู่ความขอ

ดังนี้ สำหรับคดีแรก การที่จำเลยให้การว่าคอกกระบือนั้นเป็นคอกกระบือเดิมที่ ม. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยใช้ต่อไปเท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยมิได้เข้าปลูกคอกกระบือในที่ดินของโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2517 เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยเสียแล้ววินิจฉัยว่า สิทธิของจำเลยได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความยังมิได้จดทะเบียนไม่บริบูรณ์พิพากษาให้จำเลยรื้อคอกกระบือออกไป เป็นการงดสืบพยานไม่ชอบ แต่เมื่อคดีหลังได้มีการสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นกระแสความแล้วศาลฎีกาชอบที่จะ ไม่ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วให้สืบพยานต่อไป แต่ย่อมนำ พยานหลักฐานในคดีหลังมาวินิจฉัยได้ และเมื่อวินิจฉัยแล้วฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้เข้าปลูกคอกกระบือในที่ดินของโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2517 ศาลย่อม พิพากษายกฟ้องโจทก์คดีแรกเสีย

สำหรับคดีหลัง เมื่อที่พิพาทยังเป็นของ ม. อยู่ ม. จึงมีสิทธิขายให้ ช. ได้ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ทั้งเมื่อ ม. ขายที่พิพาท และมอบการครอบครองให้ ช. ไปแล้วโจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับ ม. ไปจดทะเบียนสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมอีกมิได้ เพราะที่พิพาทไม่ได้เป็นของ ม. แล้วศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง คดีหลังด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 350, 132, 1098

จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำเลยที่ 2 ทำหนังสือตกลงรับชำระหนี้รายนี้และใช้หนี้นั้นไป 3 งวด และขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดรับโอนกิจการของจำเลยที่ 1 มาทำ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยการ แปลงหนี้ใหม่ ซึ่งศาลตีความในเอกสารประกอบพฤติการณ์แห่งคดีทั้งมวลโดยเพ่งเล็งเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าตัวอักษร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

จำเลยเข้าทำการค้าในแผงลอยที่โจทก์เช่ามาแต่เป็นเวลาหลังจากที่โจทก์คืนแผงลอยที่เช่าแก่ผู้ให้เช่าแล้วโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยฐานบุกรุก

« »
ติดต่อเราทาง LINE