คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 458, 1299, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 117
ปลอมลายมือชื่อเจ้าของในใบมอบอำนาจโอนที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบโดยประมาทเลินเล่อ เพราะเห็นได้ชัดว่าลายมือชื่อที่ปลอมกับลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในสารบบแตกต่างกันทั้งวิธีการเขียนและลายเส้นเมื่อต่างเป็นผู้สุจริตด้วยกัน ผู้รับโอนที่พิพาทจากผู้ไม่มีอำนาจเป็นความประมาทของผู้รับโอนเอง ผู้รับโอนไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปจำนอง แม้ผู้รับจำนองกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ไม่ได้สิทธิตามสัญญาจำนอง
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม แม้พยานโจทก์ซึ่งปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตผู้ลงนามรับรองลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ไปติดต่อกับพยานด้วยตนเอง ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะพยานต้องยืนยันเช่นนั้นเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นผิด การที่พยานโจทก์เบิกความเป็นปรปักษ์แก่โจทก์เช่นนี้ จึงหาได้เป็นข้อพิรุธของโจทก์แต่ประการใดไม่
ผู้นำที่ดินไปขายโดยอาศัยใบมอบอำนาจปลอมไม่เคยรู้จักโจทก์ทั้งโจทก์เป็นข้าราชการบำนาญมีฐานะดี มีที่ดินติดต่อกับที่พิพาทซึ่งรวมกันแล้วถึง 15 โฉนด มีบุตรเพียง 2 คน ต่างมีครอบครัวและอาชีพเป็นหลักฐาน พฤติการณ์ดังนี้ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์รู้เห็นในการทำปลอมใบมอบอำนาจการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนอง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264
กรณีเกี่ยวกับลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้แม้เจ้าของลายมือชื่ออนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยทำหนังสือถึงผู้จัดการสหกรณ์ แจ้งให้ทราบว่า ศ. น้องสาวโจทก์เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศและขอลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ โดยใช้ชื่อโจทก์หรือลงลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ศ.และสหกรณ์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523 - 1524/2525
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์โดยโจทก์ทราบดีแล้วว่า ขณะที่ออกเช็คนั้นจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ และจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกบีบบังคับให้ต้องออกเช็คการออกเช็คของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดต่อกัน จำเลยตกลงยอมให้โจทก์ทำถนนในในที่ดินของจำเลย เพื่อโจทก์และผู้อื่นที่อาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกได้ ดังนี้เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปิดกั้นถนนดังกล่าวโจทก์ก็ฟ้องจำเลยไม่ได้ เพราะยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกิดขึ้น
การที่ถนนซึ่งโจทก์ทำขึ้นจะเป็นทางสาธารณะหรือไม่ย่อมเป็นไปตามสภาพของการใช้ ไม่จำต้องให้ศาลมีคำสั่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288
พ. รับโอนที่พิพาทมาหลังจากที่จำเลยแพ้คดีในศาลชั้นต้นแล้วโดย พ. ทราบเรื่องที่จำเลยถูกฟ้องเป็นอย่างดีจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต ผู้ร้องรับโอนต่อจาก พ. โดยรู้ถึงการโอนโดยไม่สุจริตระหว่างจำเลยกับ พ. ดังนี้เป็นการสมคบกันโอนและรับโอนทรัพย์พิพาทของจำเลยเพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับคดีถือว่าผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธินำยึดที่พิพาทซึ่งมีส่วนของจำเลยรวมอยู่ด้วยเพื่อขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้มอบตัวจำเลยแก่บิดาจำเลย ให้บิดาจำเลยระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายภายในกำหนด 3 ปีมิฉะนั้นให้บิดาจำเลยชำระเงินต่อศาลครั้งละ 500 บาททุกครั้งที่จำเลยก่อเหตุร้ายขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ประกอบด้วยมาตรา 74 วิธีการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดนี้เบากว่าโทษจำคุก ดังนั้นจึงถือว่าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกว่าจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1537/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 472, 483
ศาลมีคำสั่งให้บริษัทจำเลยเลิกกิจการ จำเลยได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ โดยให้ผู้ซื้อประมูลราคา โจทก์ได้ซื้ออ่างอาบน้ำจากจำเลย และได้ชำระราคาแล้ว จำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ ด้านหลังใบเสร็จรับเงินได้หมายเหตุไว้ว่า'แตกร้าวคืนเงินภายหลัง' เช่นนี้เป็นการขายอ่างอาบน้ำโดยมีเงื่อนไขรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่อง เฉพาะที่แตกหรือร้าวเท่านั้น ไม่รวมถึงรอยสีถลอกหรือมีสนิมขึ้น เมื่ออ่างอาบน้ำมีแต่เพียงรอยถลอกและสนิมขึ้น ไม่มีรอยแตกร้าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งเงินคืนตามราคาหรือใช้ค่าเสียหายได้ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 มาใช้บังคับในกรณี นี้หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 94, 248 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457
อสังหาริมทรัพย์ที่ฟ้องขับไล่อาจให้เช่าได้เดือนละไม่เกิน 5,000 บาท หรือไม่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวความข้อนี้มาในฟ้อง ก็ต้องพิจารณาจาก ข้อเท็จจริงในสำนวนเมื่อบ้านพิพาทปลูกสร้างมาไม่น้อยกว่า 50 ปี บนเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ดังนี้ จึงอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ5,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคสอง ผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าวมีอำนาจฟ้องแทนศาลจ้าวได้ และการนำสืบการแต่งตั้งผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราศาลจ้าวตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 นั้น มิได้ บัญญัติว่าจะต้องมีเอกสาร (หมายตั้ง) มาแสดง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 229
หลังจากเลยกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยอ้างว่าทนายจำเลยมิได้แจ้งผลคดีให้จำเลยทราบว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเมื่อใด เพิ่งได้ทราบหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ แล้ว จึงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาได้ เหตุดังกล่าว หาใช่เหตุสุดวิสัยตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ศาลชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515
นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ว่า พนักงานผู้ซึ่งได้รับการปลดเพราะเกษียณอายุจะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายซึ่งบริษัท (จำเลย)มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะมีขึ้นในอนาคตหรือเงินบำเหน็จมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายเป็นมูลฐานการคำนวณหนึ่งเดือนต่อจำนวนหนึ่งปีแห่งการทำงานบริบูรณ์ต่อเนื่องกันทุก ๆ ปี การทำงานให้แก่บริษัทตามแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่ากันโดยบริษัทจะเป็นผู้ออกเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุจำนวนเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชย โจทก์จึงเลือกรับเงินบำเหน็จและลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับดังกล่าวมีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชย ด้วยการสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ไม่มีผลใช้บังคับโจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย