คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 114, 582
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มีผลบังคับอย่างกฎหมายและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้นข้อตกลงที่ตัดสิทธิที่จะพึงได้รับค่าชดเชยของโจทก์ตามประกาศดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ
หนังสือของจำเลยที่กล่าวถึงการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎและระเบียบของจำเลยและในตอนท้ายของหนังสือได้กล่าวให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎและระเบียบของจำเลยมิฉะนั้นอาจมีการเตือนหรือปลดออกจากงาน ถือว่าเป็นคำเตือนถึงความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตกลงไว้กับจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า
จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถให้โจทก์ตามตำแหน่งเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะใช้จ่ายในการนี้หรือไม่และหากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าได้มากกว่ากำหนดก็จะได้รับค่าน้ำมันรถเพิ่มขึ้น จึงมีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานถือได้ว่าเงินค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง
จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์มีจำนวนแน่นอนและเป็นประจำทุกเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของโจทก์เช่นเดียวกับเงินเดือนถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 41 (9)
ค่าชดเชยเป็นเงินที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมดังนั้น แม้นายจ้างจะได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อได้เลิกจ้างแล้วก็ตาม แต่ถ้าการเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็มีอำนาจให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้าง ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เป็นบทกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเป็นกฎหมายคนละส่วน มิได้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850
บันทึกที่พนักงานสอบสวนจดแจ้งข้อความตามคำแจ้งความของฝ่ายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่แจ้งกล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่า กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย แม้ความจะปรากฏตามบันทึกดังกล่าวนั้นด้วยว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดและยินดีชดใช้ค่าเสียหายให้ โดยได้กำหนดเวลานำเงินมาชำระหนี้ไว้ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการยอมรับผิดตามข้อสอบถามของพนักงานสอบสวนที่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าฝ่ายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามนั้นด้วยทั้งจำนวนเงินอันเป็นค่าสินไหมทดแทนก็เป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน เพียงแต่ระบุไว้โดยประมาณเอาเท่านั้น และที่ว่าคู่กรณีตกลงกันได้ตามบันทึกตอนท้ายนั้น ก็เห็นได้ว่าเป็นเพียงความเข้าใจของพนักงานสอบสวนผู้เขียนบันทึกเองเท่านั้น บันทึกดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันคู่กรณีประสงค์จะระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่แล้วนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 850 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 689/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ก่อนแล้ว ศาลตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายให้เป็นผู้จัดการมรดกอีกได้ และเพื่อมิให้การปฏิบัติหน้าที่เกิดขัดแย้งกันจึงให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันจัดการมรดกรายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 880 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 90 (2), 172
ผู้รับประกันภัยรถคันที่ถูกชนเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิบังคับให้จำเลยรับผิดด้วยในมูลละเมิด มิได้ฟ้องขอให้บังคับตาม กรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมากับฟ้อง ทั้งจำเลยก็ให้การได้ถูกว่าโจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิฟ้องคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 และมิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งกรมธรรม์ประกันภัยต่อศาล
กรมธรรม์ประกันภัยโจทก์หาไม่พบ และต้นฉบับอยู่ที่สำนักงานประกันภัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2) ศาลย่อมรับฟังเอกสารได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าซื้อสินค้าโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อสินค้าเครื่องปรับอากาศยี่ห้อแอร์โรมาสเตอร์ขนาด 1,200 บีทียูถึง60,000บีทียู ทั้งแบบแยกส่วนและแบบติดผนังของโจทก์ไปจำหน่าย กำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยมีจำเลยที่ 21 ถึงที่ 9 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ได้แนบสำเนาสัญญาซื้อขายมาท้ายฟ้องด้วยในสัญญานี้ได้ระบุราคาของเครื่องปรับอากาศแต่ละชนิดและขนาดรวมทั้งวิธีการชำระเงินไว้แล้ว โจทก์ได้ส่งมอบเครื่องปรับอากาศให้จำเลยที่ 1 รับไปจำหน่ายครั้งละหลาย ๆ เครื่อง จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 7 ฉบับ จำนวนเงินรวม805,863 บบาท ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ โจทก์นำเช็คดังกล่าว 6 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จำนวน 805,863 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์บรรยายถึงเรื่องเช็คมาด้วยกเพื่อแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวน ชนิด ขนาดและราคาของสินค้าเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา แม้โจทก์จะมิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องก็หาทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88
เดิมคู่ฉบับกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์อ้างส่งศาลไว้ได้ระบุวันทำสัญญาประกันภัยเป็นวันที่ 30 เมษายน 2522 และระบุวันทำกรมธรรม์ประกันภัยเป็นวันที่ 16 เมษายน 2522 แต่ระบุระยะเวลามีผลบังคับเริ่มต้นวันที่ 30 ธันวาคม 2520 สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2521 เห็นได้ว่ามีการพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับวันทำสัญญาประกันภัยและวันทำกรมธรรม์ประกันภัยในคู่ฉบับผิดพลาดไปโดยมีผลย้อนหลัง การที่โจทก์ขออ้างต้นฉบับ ซึ่งระบุวันทำสัญญาประกันภัยและวันทำกรมธรรม์ประกันภัยเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2520เป็นพยานเพิ่มเติมหลังจากโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จแล้วนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงวันทำสัญญาประกันภัย และวันทำกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนระยะเวลามีผลบังคับและวันสิ้นสุดรวมทั้งชื่อผู้เอาประกันภัยคงระบุไว้ตรงกัน ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควร เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ก็ย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์หยุดงานโดยยื่นใบลาย้อนหลังอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลย จำเลยจึงออกหนังสือเตือนและให้โจทก์ลงชื่อรับทราบ โจทก์ไม่ยอมลงชื่อ ผู้จัดการฝ่ายโรงงานของจำเลยจึงพูดกับโจทก์ว่า 'ถ้าคุณไม่ยอมเซ็นผมปลดคุณ' โจทก์พากันกลับไปและไม่มาทำงานอีกพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582
การเลิกจ้างลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยเป็นทายาทของผู้ตายจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้เป็นทายาทของผู้ตายศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเป็นทายาทของผู้ตายหรือไม่ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยเป็นทายาทของผู้ตาย ดังนี้ ประเด็นโดยตรงแห่งคดีจึงเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้