คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172

ระหว่างเกิดเหตุ จ. เป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยย่อมถือได้ว่าจ. เป็นผู้แทนบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในอันที่จะแสดงออกถึงความประสงค์แทนบริษัทจำเลยได้ การที่ จ. ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ทำการติดตั้งถังน้ำในโรงงานเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยแม้จะฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทที่ระบุว่าต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งร่วมลงนามด้วย แต่ระหว่างที่โจทก์ดำเนินการตามสัญญากรรมการของบริษัทจำเลยคนอื่นไม่ได้ทักท้วงและรับมอบผลงานนั้นจากโจทก์ไว้แล้ว จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 188

สัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย จำเลยเอาไปดูแล้วไม่ยอมคืนให้ผู้เสียหาย ทั้งกลับปฏิเสธอ้างว่าผู้เสียหายคืนให้จำเลยเพราะจำเลยชำระหนี้แล้ว ดังนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2525

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

การซ่อมแซมบางส่วนของอาคาร คือประตูหลังด้านข้างและผนังตึกบางส่วนเอาลูกกรงเหล็กออกแล้วเปลี่ยนเป็นก่ออิฐโปร่งแทนไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 288

จำเลยชักชวนให้ ท.ทำร้ายผู้ตายขณะท. ใช้ให้ผู้อื่นไปหยิบท่อนไม้ยาว 33 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วครึ่งมาให้จำเลยก็รู้เห็นด้วย เมื่อ ท. ใช้ไม้ดังกล่าวซึ่งมีขนาดพอจะทำร้ายคนให้ถึงตายได้ตีศีรษะผู้ตายขณะที่เดินผ่าน ท. และจำเลยในระยะกระชั้นชิดเป็นการเลือกตีในที่สำคัญ แม้จำเลยจะมิได้ลงมือทำร้ายผู้ตายเองและตีเพียงทีเดียวผู้ตายก็ตายเพราะบาดแผลที่ถูกตีทำร้ายนี้ ถือได้ว่า ท. มีเจตนาฆ่าผู้ตายและจำเลยร่วมกระทำผิดกับ ท. ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสาม

โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดโดยเจตนา แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดโดยประมาท เมื่อปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามที่พิจารณาได้ความเพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสารสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 800, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60

โจทก์มอบอำนาจให้ ป. ฟ้องคดีแทน ในหนังสือมอบอำนาจมีความว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ป. ดำเนินคดีแก่ร้าน อ. เกี่ยวกับสินค้าที่ร้าน อ. สั่งซื้อไปจากโจทก์และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการค้าโดยใช้สมญานาม ว่า อ. จึงเห็นได้ว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ป. ดำเนินคดีแก่ร้าน อ. ก็เท่ากับ โจทก์มอบอำนาจให้ป.ดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้าน อ. นั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

โจทก์บรรยายฟ้องว่า 'เมื่อวันเดือนใดไม่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสองร่วมกันบังอาจบุกรุกที่ดินและทำให้เสียทรัพย์ โจทก์เพิ่งทราบการกระทำผิดของจำเลยเมื่อเดือนมกราคม 2523' เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ทราบแน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดวันเวลาใด แต่โจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำผิดเท่าที่ทราบพอสมควรที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจแล้วไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้หรือเสียเปรียบ ฟ้องของโจทก์จึงมีข้อความสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 420, 425 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้สินค้าในรถของโจทก์ทั้งสองคันเสียหาย คือปลาสด 7,370 กิโลกรัมเศษ กุ้งสด 5,638 กิโลกรัม เศษ ปูสด 35 กิโลกรัม ไข่สด 1,195 กิโลกรัม กับอีก 5,000 ฟอง และน้ำแข็ง 93 ลัง เสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงินรวม 372,909 บาท โจทก์รับจ้างขนสินค้าดังกล่าวจึงต้องชดใช้ราคาสินค้าทั้งหมด และโจทก์ได้ชดใช้เงินค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าของสินค้าครบถ้วนแล้วโจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลย ดังนี้ เป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาจำต้องบรรยายว่าทรัพย์สินที่เสียหายเป็นของผู้ใด จำนวนเท่าใดไม่ เพราะเป็นรายละเอียดอันจะนำสืบกันในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ที่เกิดเหตุมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวเป็นปกติซึ่งจำเลยที่ 2 และนายท้ายเรือคนอื่น ๆ เคยประสบมาเป็นประจำอยู่แล้วโดยไม่เกิดเหตุร้าย แสดงว่าในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่าแม้กระแสน้ำจะไหลเชี่ยว ถ้าจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอย่างเช่นเคย เรือแพขนานยนต์ก็ไม่เอียง และรถจะไม่ไหลตกทะเล เหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดแต่จำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่า หาใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288

จำเลยโต้เถียงกับผู้ตายแล้วกลับบ้านไปนำปืนติดตัวมาหาผู้ตายอีก แสดงว่าจำเลยสมัครใจที่จะกลับไปวิวาทกับผู้ตาย เพราะจำเลยมีทางหลีกเลี่ยงไม่กลับไปพบผู้ตายได้แต่ก็ไม่กระทำ เมื่อผู้ตายเตะจำเลย จำเลยก็ยิงผู้ตายทันที การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

แม้การที่โจทก์ดื่มสุราในหอพักจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่การฝ่าฝืนนั้นนายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ต่อเมื่อได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงก็ไม่จำต้องตักเตือน ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เพราะการดื่มสุราส่งเสียงดังไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง ทั้งข้อบังคับก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงด้วย

ส่วนการที่โจทก์ไปพูดขอยืมปืนจากยามเพื่อจะไปยิงน้องชายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง การกระทำของโจทก์ก็ยังไม่เป็นความผิด ไม่เข้าเกณฑ์การกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกเช่นกัน

« »
ติดต่อเราทาง LINE