คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94 (1), 102, 119

ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยยืมเงินไปใช้ แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้ยืม จึงเป็นหนี้ที่ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งเป็นหนี้ที่ขอรับชำระไม่ได้ในคดีล้มละลาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิจะนำมาหักกลบลบหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102 ประกอบด้วยมาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 78, 82, 86, 276, 284, 310 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 192

ผู้เสียหายกับเพื่อนนั่งรอเรืออยู่ที่ท่าน้ำ จำเลยกับ ส. เข้ามาทักทายผู้เสียหายแล้วจำเลยอุ้มผู้เสียหายไป ส. พูดขู่ห้ามไม่ให้เพื่อนผู้เสียหายช่วยแล้ววิ่งตามจำเลยไป จำเลยอุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วาก็วางผู้เสียหายลงแล้วกลับบ้านโดยไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอีก ส่วน ส.ฉุดผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกับ ส. พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร และเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา การที่จำเลยวางผู้เสียหายแล้วกลับบ้าน มิใช่เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้เสียหายต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82

การกระทำของจำเลยและ ส. ดังกล่าว เป็นการกระทำด้วยความอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษให้และแม้ จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนแต่ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ คดีรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลย

ฟ้องว่าจำเลยกับพวกหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้หลังจากที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราแล้ว เมื่อฟังได้ดังกล่าวข้างต้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยไม่จำต้องมีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ณ ที่ใดอีก จึงเป็นการลงโทษจำเลยนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม มาตรา 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 127

หนังสือรับรองว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดของสำนักงานทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์จึงไม่จำต้องมาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใดเมื่อจำเลยไม่นำสืบหักล้าง ก็ต้องถือว่าเป็นหนังสือรับรองที่แท้จริงและถูกต้องแล้วฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208

การที่จำเลยรับคำบังคับแล้วเข้าใจว่าต้องคอยพบเจ้าพนักงานมาติดต่อและจำเลยต้องดูแลกิจการซ่อมรถ หากกิจการหยุดชะงักลงจะได้รับความเสียหาย ครั้นจำเลยไปกรุงเทพมหานครเพื่อซื้ออะไหล่ซ่อมรถ ได้ติดต่อที่ศาลแพ่งจึงทราบว่าถูกฟ้องแต่เป็นเวลาใกล้หมดเวลาทำการของศาลแล้ว ไม่สามารถติดต่อทนายความให้ยื่นคำขอพิจารณาใหม่ได้ทันในวันนั้น มิใช่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ และแม้จำเลยสามารถหาทนายความให้ยื่นคำขอพิจารณาใหม่ได้ทัน ก็ล่วงพ้นเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2525

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 92, 96 (3), 107 (1), 115, 151

เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้กู้ยืมเงินในฐานะเจ้าหนี้มีประกันได้ความว่าลูกหนี้ได้กู้เงินจากเจ้าหนี้โดยทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน โดยทำสัญญาจำนองและรับเงินกันในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งเพิกถอนการจำนองรายนี้ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย เมื่อศาลสั่งเพิกถอนแล้ว เจ้าหนี้ยังมีสิทธิขอรับชำระหนี้เดิมได้ตามมาตรา 92การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ตามมาตรา 107(1) นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่ไม่ชอบศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำใหม่ให้ถูกต้องได้ตามมาตรา151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, 151, 197, 201

โจทก์ขอบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินราคา 460,000 บาทถ้าไม่สามารถโอนขายได้ ให้ใช้ค่าเสียหาย 1,940,000บาท คำขอข้อหลังจะใช้บังคับเมื่อคำขอข้อแรกบังคับไม่ได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ที่สูงกว่าคือทุนทรัพย์ 1,940,000 บาท

เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ดังกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30, 163, 164, 218

โจทก์ร่วมเข้ามาดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการ จึงไม่มีอำนาจขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องให้นอกเหนือไปจากฟ้องของพนักงานอัยการ หากศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องส่วนที่โจทก์ร่วมขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องไว้ก็มีอำนาจสั่งงดเสียได้

เมื่อศาลมิได้อนุญาตให้แก้และเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องของโจทก์ร่วม จึงลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องนั้นไม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 1 เดือนปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831 - 3832/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

แม้ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีสิทธิที่จะหักเงินบำเหน็จลงตามจำนวนค่าชดเชยที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง แต่ไม่ปรากฏว่านายจ้างใช้สิทธิดังกล่าว คงปรากฏแต่เพียงว่านายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างในลักษณะเป็นเงินบำเหน็จ ถือไม่ได้ว่านายจ้างได้จ่ายเงินค่าชดเชยรวมไปด้วยแล้ว นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 335

ผู้เสียหายตกลงขายนาพิพาทให้จำเลยแล้ว ต่อมาได้บอกเลิกการขายโดยยินยอมให้จำเลยเกี่ยวข้าวในนา และวิดน้ำจับเอาปลา ในบ่อไปได้ การที่จำเลยจับเอาปลาในบ่อที่นาพิพาทของผู้เสียหายไป จึงไม่เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184 - 2195/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 248 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 34

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วมออกจากที่ดิน จำเลยและจำเลยร่วมต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยทุกสำนวนได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คู่ความย่อมมีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224, 248

ที่พิพาทแปลงใหญ่เป็นของวัดโจทก์ แม้ที่พิพาทบางแปลงจะมีโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยและจำเลยร่วมในโฉนด จำเลยและจำเลยร่วมก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ของวัดโจทก์ไม่ เพราะที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดหาได้ไม่ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34

« »
ติดต่อเราทาง LINE