คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2529
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2539 - 2540/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1033, 1080, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 172, 249
โจทก์บรรยายฟ้องว่าช.คนขับรถยนต์ของจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับรถเข้าไปในช่องทางเดินรถคันที่โจทก์ที่3ขับเป็นเหตุให้รถชนกันเป็นการบรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม. ฎีกาในประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์มี3คนและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการหุ้นส่วนผู้จัดการคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิกระทำกิจการในนามห้างโจทก์ได้. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336เจ้าของทรัพย์สินนอกจากจะมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้แล้วยังมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วยเมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60, 177 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
การที่อ.กับจ.กรรมการบริษัทจำเลยลงชื่อมอบอำนาจให้ถ.ดำเนินคดีแทนบริษัทจำเลยเป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยจึงเป็นการกระทำของบริษัทจำเลยแม้ต่อมาอ.จะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยไปหนังสือมอบอำนาจฉบับนั้นก็หาระงับไปไม่ถ.จึงยังมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้ส.ต่อสู้คดีแทนจำเลยโดยทำคำให้การยื่นต่อศาลได้. จำเลยประสบภาวะการขาดทุนมากมีความจำเป็นเพียงพอต้องเลิกจ้างลูกจ้างและจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะเลิกจ้างผู้ใดก่อนอย่างสมเหตุผลการที่โจทก์เป็นผู้ต้องถูกเลิกจ้างเพราะลากิจลาป่วยและมาทำงานสายมากจะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางคนมิได้เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2529
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, ตาราง 1
โจทก์ฟ้องคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์แม้ศาลจะมิได้พิจารณาในประเด็นที่มีคำขอตามทุนทรัพย์โดยตรงเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีก็ไม่ทำให้คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้กลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ศาลจึงไม่จำต้องคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2957/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 807, 812, 823
จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์ได้อนุมัติให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดต่อระเบียบกฎเกณฑ์และคำสั่งของโจทก์การที่จำเลยรายงานยอดบัญชีไปให้โจทก์ทราบทุกสิ้นเดือนทุกหกเดือนและทุกสิ้นปีโดยแจ้งชื่อลูกหนี้และประเภทหนี้รวมทั้งการที่จำเลยอนุมัติให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีด้วยนั้นการรายงานดังกล่าวเป็นเพียงการรายงานตามที่โจทก์วางระเบียบไว้เป็นเรื่องจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนรายงานกิจการที่ได้กระทำไปต่อโจทก์ซึ่งเป็นตัวการแม้โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยที่ผิดระเบียบแล้วไม่ทักท้วงคัดค้านก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้สัตยาบันในการที่จำเลยอนุมัติให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดต่อระเบียบกฎเกณฑ์และคำสั่งของโจทก์ ฟ้องโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์จำเลยกระทำการเกินอำนาจของผู้จัดการสาขามิได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์และคำสั่งของโจทก์โดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะตัวแทนให้รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นตัวการในการที่จำเลยกระทำการนอกเหนืออำนาจที่โจทก์มอบหมายตามป.พ.พ.มาตรา812มีอายุความ10 ปี.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2954/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 83, 84, 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายซึ่งเป็นความผิดที่มีการกระทำอย่างเดียวแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่3ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้ตายโดยมิได้กระทำร่วมกับจำเลยที่1จำเลยที่3กระทำโดยลำพังตนเองเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนมีการกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตายโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่3จึงลงโทษจำเลยที่3ฐานทำร้ายร่างกายไม่ได้เพราะไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสี่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่1ที่2เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่2มิได้ร่วมกับจำเลยที่1ยิงผู้ตายเป็นแต่จำเลยที่2ได้ร้องบอกจำเลยที่1ขึ้นว่าพี่พลยิงเลยอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่1กระทำผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา84ดังนี้จะลงโทษจำเลยที่2ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่2เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่1กระทำผิดเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่2ร้องบอกจำเลยที่1ขึ้นว่าพี่พลยิงเลยเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่1กระทำความผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา86ด้วยซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้(วรรคนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่6/2529).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2747/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ม. 30, 31 (4), 61 ทวิ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 ม. 44 (6), 86
โจทก์เป็นกำนันปัญหาที่ว่าการที่จำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอได้รับหนังสือร้องเรียนจากราษฎรกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้วเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมิได้สืบสวนข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าราษฎรที่ร้องเรียนมีภูมิลำเนาอยู่ตามหนังสือร้องเรียนจริงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้นโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่าจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวอย่างไรซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามมาตรา157อนึ่งหน้าที่ในการดำเนินการตามหนังสือร้องเรียนนั้นก็เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะพิจารณาสั่งการต่อไปการที่จำเลยเสนอหนังสือร้องเรียนโดยมิได้สืบสวนเรื่องภูมิลำเนาของผู้ร้องเรียนจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2746/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6, 1299 วรรคสอง, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177 วรรคแรก
จำเลยที่1ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382เป็นการได้ทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเมื่อจำเลยที่1ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาจำเลยที่1จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามมาตรา1299วรรคสองและตามมาตรา6ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตเมื่อจำเลยที่1มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตจึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วจำเลยที่1จึงอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ยันโจทก์ไม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2529
ประมวลรัษฎากร ม. 42 (9)
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา42(9)ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทที่บัญญัติว่าการขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หมายความว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยผู้ได้มาไม่มีเจตนาจะมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตรงกันข้ามถ้าผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมีเจตนาจะมุ่งในการค้าหรือหากำไรแล้วต่อมาได้ขายทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้. ข้อเท็จจริงที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมาแล้วเกิดความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจึงนำที่ดินไปจำนองค้ำประกันหนี้ที่ธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้ในทางการค้าหรือการใดๆก็ดีและซื้อแล้วได้ใช้ตึกแถวเป็นที่เก็บสินค้าของห้างหุ้นส่วนก็ดีย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พึงใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นกระทำกันทั่วไปส่วนที่ว่าที่ดินและตึกแถวตั้งอยู่ในย่านทำเลการค้าก็หาแสดงว่าผู้ซื้อได้ซื้อมาโดยเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไม่เพราะผู้ซื้ออาจซื้อมาให้เป็นสถานประกอบการค้าหรือเพื่ออาศัยในอนาคตก็ได้. การขายที่ดินและตึกแถวไปในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาหาแสดงว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเพราะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจมีราคาสูงขึ้นตามสภาพและค่าของเงิน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2529
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
ฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยเบิกพัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าไปจากโจทก์เอาไปใช้งานแล้วมีของเหลือไม่ส่งคืนและปรับปรุงรื้อถอนอุปกรณ์การไฟฟ้าแล้วไม่ส่งคืนโจทก์ทำให้อุปกรณ์การไฟฟ้าขาดบัญชีเป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยมิได้กล่าวว่าจำเลยเบิกอุปกรณ์การไฟฟ้าอย่างใดไปจากโจทก์เมื่อใดกี่ครั้งแต่ละครั้งเป็นเงินเท่าใดรื้ออุปกรณ์การไฟฟ้าอย่างใดและอย่างใดไม่ส่งคืนเป็นเงินเท่าใดฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นฟ้องเคลือบคลุม(ประชุมใหญ่ครั้งที่2/2529).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2947/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 163, 164, 228 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 19, 156, 164
เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522มาตรา19ยังไม่ได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารไว้เป็นการต่างหากจึงต้องนำประกาศของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา49แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ2497มาใช้ตามมาตรา164แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522จึงมิใช่การนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บังคับและลงโทษแก่จำเลย รถประจำทางปรับอากาศต้องหยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารณสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดหรือสถานที่หยุดหรือจอดรถตามที่มาตรา164แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522บัญญัติไว้เท่านั้นการที่จำเลยหยุดหรือจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์รถแห่งอื่นจึงเป็นความผิดตามมาตรา156แล้วแม้จำเลยจะนำรถเข้าหยุดหรือจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดในภายหลังก็ตามก็ไม่เป็นการลบล้างการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้กระทำมาแล้วให้หมดสิ้นไป คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา156แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522ครบถ้วนแล้วแต่เนื่องจากสถานที่หยุดหรือจอดรถยังคงเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่26มกราคม2503ตามที่มาตรา164แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522ได้บัญญัติไว้ว่าให้นำมาใช้ได้การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องระบุว่าสถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานีขนส่งตามที่กำหนดไว้และขอระบุประกาศดังกล่าวเป็นพยานเพ่ิมเติมภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานหมดไปแล้วแต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีจึงกระทำได้ตามมาตรา163และมาตรา164แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและการขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้เพราะจำเลยก็ทราบว่าจำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งอยู่แล้วและการที่โจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มเติมภายหลังที่โจทก์ได้แถลงหมดพยานแล้วนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะสืบพยานจึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี.