คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกเหตุผลในการตัดสินมาหักล้างกับเหตุผลที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์นั้นตรง ๆ แต่ศาลอุทธรณ์ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ไว้โดยอ้อมแล้วว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อันหมายถึงว่าเหตุผลตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้นสู้เหตุผลที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินใจในปัญหาข้อเท็จจริงไว้แล้วจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 72

ผู้ตายทั้งสองมีเรื่องไม่พอใจน้องชายจำเลยแต่กลับไปหาเรื่องกับจำเลยและชี้หน้าด่าแม่จำเลยเห็นว่าการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองด้วยสาเหตุเพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา68แต่การที่ผู้ตายทั้งสองไปหาเรื่องกับจำเลยและชี้หน้าด่าแม่จำเลยนั้นถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2539

ประมวลรัษฎากร ม. 27 ทวิ, 30

แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดว่า ในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องชี้บ่งเป็นข้อความอย่างใดก็ตามแต่ก็จะต้องมีข้อความโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินว่า ประเมินภาษีไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างใด มีหลักฐานการชำระภาษีอย่างไร คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีข้อความว่าโจทก์ได้ยื่นแบบชำระภาษีโดยตลอดและถูกต้องไม่เคยหลีกเลี่ยงแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ในกรณีใดโจทก์เข้าใจว่าโจทก์ได้เสียภาษีไว้ถูกต้องแล้ว และเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์โจทก์ไม่มีโอกาสแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องโจทก์เสียเปรียบอย่างมาก โจทก์ยินยอมที่จะชำระภาษีตามการประเมินโดยไม่โต้แย้งเพียงแต่ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดงดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือหากไม่สามารถงดได้ก็ขอให้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในอัตราสูงสุดด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมิได้กล่าวอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรในประเด็นภาษีการค้าเดือนมีนาคมและเมษายน 2532 เพราะเหตุใด และโจทก์มีหลักฐานใดแสดงการเสียภาษีที่ถูกต้อง ที่โจทก์ อ้างว่าไม่มีโอกาสแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องทำให้เสียเปรียบ อย่างมาก ก็ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ให้เห็นหรือเข้าใจได้ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการคำนวณหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมินแต่เป็นอุทธรณ์ที่ขอให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์เท่านั้นมิได้ขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นการยื่นแบบภาษีการค้าเดือนมีนาคมและเมษายน 2532 และประเด็นการคำนวณหักค่าใช้จ่าย ในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจ ฟ้องในประเด็นดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ในการตรวจสอบภาษีโจทก์ เจ้าพนักงานผู้ตรวจสอบมีหมายเรียกให้โจทก์ไปพบและนำเอกสารหลักฐานการประกอบการลงบัญชีส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานโจทก์ขอผัดผ่อนแต่ไม่ไปพบจนถูกดำเนินคดีอาญาฐานไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกแสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของจำเลย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยต้องใช้วิธีประเมินไปตามเอกสารเท่าที่ตรวจสอบขอคัดมาได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5676

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5676/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 182, 226, 249

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา182เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องและศาลรับคำฟ้องแล้วศาลย่อมนัดชี้สองสถานไปได้โดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันเท่านั้นไม่ต้องนับจากวันที่จำเลยที่1มีสิทธิยื่นคำให้การจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นและวันนัดชี้สองสถานนั้นศาลอาจอนุญาตให้เลื่อนไปได้หากมีเหตุสมควรทั้งการนัดชี้สองสถานตั้งแต่วันที่ศาลรับคำฟ้องเช่นในคดีนี้ก็ไม่ทำให้จำเลยที่1และที่3ต้องเสียเปรียบเพราะจำเลยที่1สามารถแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทหรือตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทต่อศาลได้เมื่อศาลทำการชี้สองสถานแล้วจำเลยที่1และที่3ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลไม่ถูกต้องอย่างไรเมื่อศาลชั้นต้นแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้จำเลยที่1และที่3ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันการกำหนดวันชี้สองสถานของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยที่1เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ปรากฎว่าจำเลยที่1ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 234, 246

ในการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นอกจากจำเลยจะต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลแล้วยังจะต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลอีกด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา234ดังนั้นแม้จำเลยจะได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่ต้องรับผิดแทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลแล้วพร้อมกับการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวและจำเลยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลทั้งเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวและจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้อันเป็นการทิ้งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)ประกอบมาตรา246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 5 (2)

การที่ผู้ตายและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วและต่างขับรถเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งฟังได้ว่าขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่ายเมื่อผู้ตายมีส่วนกระทำผิดด้วยผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา2(4)โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา5(2)ไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4428/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 วรรคสอง, 80, 277 วรรคสอง, 279 วรรคสอง

จำเลยมิได้เอาอวัยวะเพศของจำเลยดันที่ปากช่องคลอดของผู้เสียหายเพื่อสอดใส่เข้าไปเพราะถ้าจำเลยเอาอวัยวะเพศของจำเลยดันที่ปากช่องคลอดของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง4ปีเศษช่องคลอดของผู้เสียหายจะต้องฉีกขาดหรือช้ำบวมมากจำเลยเพียงใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายทำให้เกิดรอยช้ำแดงที่บริเวณด้านนอกของปากช่องคลอดและไม่มีรอยถลอกจำเลยไม่มีเจตนาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายคงมีเจตนาเพียงกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา279วรรคสองเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา277วรรคสอง,80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 182, 827

สัญญาพิพาทที่โจทก์และฝ่ายจำเลยทำกันไว้เป็นสัญญาที่โจทก์มอบหมายให้ฝ่ายจำเลยเป็นตัวแทนไปเจรจาขอเช่าที่ดินของก. เพื่อก่อสร้างอาคารเมื่อไปเจรจาเป็นผลสำเร็จและฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วฝ่ายจำเลยจะต้องจัดการให้โจทก์ได้เช่าอาคารที่ก่อสร้างขึ้นนั้นจากกรมธนารักษ์ไม่ได้มีผลผูกพันกันเป็นพิเศษว่าจะเลิกสัญญาต่อกันไม่ได้ดังนั้นฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนจะบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้เสียเมื่อใดก็ได้เว้นแต่จะเป็นการบอกเลิกในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ฝ่ายจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา827 เมื่อปรากฎว่าหลังจากทำสัญญากันแล้วจำเลยได้ไปติดต่อขอเช่าที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างตึกแถวเป็นอาคารพาณิชย์จากก.แต่ก.ได้กำหนดให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขหลายประการและก.ได้กำหนดให้ผู้ขอเช่าที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์ปฎิบัติตามเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนซึ่งฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าก.กำหนดให้ผู้ที่จะขอก่อสร้างอาคารต้องประมูลกันใครให้ผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตและผู้ประมูลจะต้องเป็นนิติบุคคลหลังจากแจ้งไปแล้วโจทก์ก็ไม่ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประมูลต่อมาได้มีการบอกเลิกสัญญาที่พิพาทเนื่องจากคู่กรณีไม่สามารถที่จะปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาได้เพราะขัดกับระเบียบของกรมธนารักษ์ดังนี้ฝ่ายจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้ต่อโจทก์ได้แม้ตามสัญญาจะไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดๆได้ก็ตามและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่ฝ่ายโจทก์ประกอบกับหนังสือบอกเลิกสัญญาฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาโดยเด็ดขาดแต่ยังให้โอกาสโจทก์มาทำความตกลงกับฝ่ายจำเลยได้อีกภายใน7วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแต่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มาทำความตกลงอย่างหนึ่งอย่างใดกับฝ่ายจำเลยเช่นนี้สัญญาที่โจทก์ทำกับฝ่ายจำเลยจึงสิ้นความผูกพันต่อกันแล้ว ส่วนการที่จำเลยได้รับเงินสินจ้างไปจากโจทก์และยังไม่ได้คืนโจทก์นั้นเมื่อเงินจำนวนดังกล่าวนี้ตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้ระบุให้มีผลผูกพันต่อกันไว้แต่ประการใดเลยและเงินจำนวนนี้ฝ่ายโจทก์ให้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการที่ฝ่ายจำเลยไปติดต่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึกแถวใหม่แทนตึกแถวเดิมดังนี้เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงื่อนไขว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ดังนั้นภายหลังจากที่ฝ่ายจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วฝ่ายจำเลยได้เข้าประมูลและสามารถประมูลงานก่อสร้างอาคารในที่ดินของก.ได้และได้ทำการก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จกับส่งมอบให้แก่ทางราชการเป็นที่เรียบร้อยฝ่ายจำเลยซึ่งหมดความผูกพันกับโจทก์แล้วจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 457 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (2) พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 54

การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่2ผู้รับโอนที่ดินพิพาทขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์เป็นการพิพากษาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา54วรรคหนึ่งซึ่งเป็นการบังคับขายตามกฎหมายมิใช่เป็นการซื้อขายโดยสมัครใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวมิใช่เพียงแต่ต้องการคุ้มครองผู้เช่านาให้ได้สิทธิซื้อที่นาที่เช่าอยู่ก่อนคนอื่นเท่านั้นแต่ยังต้องการคุ้มครองผู้รับโอนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ไม่ต้องเสียหายเกินสมควรโดยให้ได้รับการชดใช้คืนซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นานั้นมาอย่างบริบูรณ์ด้วยการให้ผู้รับโอนรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งอาจเป็นจำนวนท่วมราคาซื้อขายทั้งๆที่ผู้รับโอนถูกบังคับขายเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าทำให้ผู้รับโอนมิได้รับการชดใช้ซึ่งสิ่งที่ได้ลงไปในการซื้อที่นามาอย่างบริบูรณ์และไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับโอนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายค่าธรรมเนียมในการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่านาจะต้องรับภาระเองดังนั้นแม้คำพิพากษาศาลฎีกาจะมิได้กำหนดให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์ก็จะอาศัยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการซื้อขายหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากราคาซื้อขายที่กำหนดในคำพิพากษาไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาและจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลโดยมิใช่คำร้องที่สามารถทำได้ฝ่ายเดียวศาลย่อมมีอำนาจส่งสำเนาให้โจทก์เพื่อให้โอกาสคัดค้านและเมื่อศาลฟังคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วก็สามารถมีคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา21(2)หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วหากโจทก์ยังคงไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาจำเลยที่2ก็ชอบที่จะขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83,343วรรคหนึ่งจำคุก3ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา341คงจำคุก3ปีเช่นกันเป็นการแก้ไขเฉพาะการปรับบทกฎหมายโดยมิได้แก้ไขโทษเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งโจทก์ฎีกาว่าลักษณะการกระทำของจำเลยเป็นการชักชวนบุคคลทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแม้ไม่มีการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปและจำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ทุจริตและมิได้หลอกลวงบรรดาผู้เสียหายรวมทั้งไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค2เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้าม

« »
ติดต่อเราทาง LINE