คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5483/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 183
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่ย่อมแปลได้ว่าถ้าหากการครอบครองที่พิพาทของจำเลยยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้กรรมสิทธิ์โจทก์ก็ยังเป็นเจ้าของที่พิพาทอยู่แต่ถ้าหากการครอบครองที่พิพาทของจำเลยเข้าเกณฑ์ได้กรรมสิทธิ์โจทก์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาทอีกต่อไปประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดดังกล่าวจึงคลอบคลุมไปถึงปัญหาที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 5462/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31 (1), 33
แม้การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาจะกระทำนอกบริเวณศาลแต่การอ้างเช่นว่านั้นก็เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาลผลที่เกิดขึ้นจึงมุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลโดยเฉพาะคดีนี้ยังมีการทวงถามเงินดังกล่าวในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกเงินจากผู้กล่าวหาด้วยจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 314 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 116, 124, 135 (3)
แม้คำร้องที่ผู้ร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยอ้างว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่1ได้อายัดไว้มากกว่าหนี้ของเจ้าหนี้ที่เหลือหลายเท่าตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องถูกเพิกถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งทำให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโอนกลับคืนเข้าไปเป็นกองทรัพย์สินของจำเลยผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยได้ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องได้ขอวางเงินในจำนวนที่เพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วการที่ผู้ร้องซึ่งต้องเสียสิทธิในที่ดินที่ได้รับซื้อฝากเพราะศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา116ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมก็เพื่อให้ที่ดินเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่าง>เจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา124หากเจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วนแล้วผู้คัดค้านที่1ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตลอดจนไม่ต้องเก็บรวบรวมที่ดินของผู้ร้องที่ถูกเพิกถอนนั้นถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้จึงชอบที่จะเข้าชำระหนี้นั้นได้แม้จะเป็นการเข้าชำระหนี้โดยขืนใจจำเลยก็ตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา314วรรคสองเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เข้าชำระหนี้ของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายรวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายของจำเลยเพราะเหตุที่หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา135(3)ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 104
การที่จำเลยที่2ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่1ก่อขึ้นต้องได้ความว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2เมื่อพยานโจทก์เบิกความเพียงว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่2มาชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่1จะเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2หรือไม่พยานมิได้เบิกความถึงประกอบกับจำเลยที่2ก็นำสืบปฎิเสธว่าจำเลยที่1ไม่ได้เป็นลูกจ้างของตนด้วยโจทก์จึงนำสืบได้ไม่สมฟ้องการที่ศาลสันนิษฐานหรือถือว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 230, 314 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 32, 45
การที่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง14แปลงแทนลูกหนี้ของผู้ล้มละลายเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียที่จะเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินของผู้ร้องผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้เสียแทนลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา230,314 เมื่อข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องแทนลูกหนี้มีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการยึดที่ดินทั้ง14โฉนดอันเป็นทรัพย์ในคดีล้มละลายศาลชอบที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องตามมาตรา32แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 305 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, 110, 122, 146
ขณะศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของลูกหนี้ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีแพ่งแต่การบังคับคดียังไม่สำเร็จบริบูรณ์กำลังประกาศขายทอดตลาดจึงไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในอำนาจจัดการของผู้คัดค้านตามมาตรา 22(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อสิทธิตามสัญญาที่ ส.ขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามโดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ส.นั้น เป็นผลแห่งสัญญาที่ลูกหนี้กระทำขึ้นภายหลังที่ผู้ร้องนำยึดที่ดินพิพาทของลูกหนี้ไว้ในคดีแพ่งแล้ว ซึ่งการก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่อาจใช้ยันแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305(1) แล้วผลแห่งการนั้นก็ย่อมไม่อาจใช้ยันต่อผู้คัดค้านได้เช่นกันผู้คัดค้านจึงไม่ชอบที่โอนที่ดินพิพาทให้แก่ ส.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 36
ผู้ร้องฟ้องและถอนฟ้องจำเลยไปโดยไม่ปรากฎข้อความในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแล้วต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้อีกแม้ว่าผู้ร้องอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องกล่าวหรือมีข้อแม้ในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ตามแต่พฤติการณ์ที่ผู้ร้องเพิ่งจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หลังจากที่ได้ถอนฟ้องคดีเดิมไปแล้วเป็นระยะเวลานานกว่า10เดือนเห็นได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะถอนฟ้องจำเลยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่ต้นความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา36การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเท่ากับนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่จึงต้องห้าม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349
ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบแต่มีทางที่โจทก์จะออกไปสู่ทางสาธารณะได้3ทางทางแรกยาว115เมตรทางที่สองยาว140.30เมตรทางที่สามยาว115.50เมตรโดยอาศัยผ่านที่ดินของผู้อื่นหากโจทก์จะทำทางผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะยาว84เมตรก็ใกล้กว่าทางอื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโจทก์จะถือเหตุเพียงเพื่อความสะดวกของโจทก์เท่านั้นหาได้ไม่เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่ต้องผ่านที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอทำทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง
ขณะจำเลยกับพวกและผู้ตายกับพวกดูภาพยนตร์ในงานศพผู้ตายกับพวกใช้ขวดสุราขว้างปาจอภาพยนตร์และล้มจอระหว่างผู้ตายกับพวกเดินกลับบ้านได้ร่วมกันทำร้ายน้องชายจำเลยจนตกลงในคูน้ำเมื่อมาพบจำเลยกับเด็กเดินสวนทางมาก็ได้ร่วมกันทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียวจนตกลงไปในคูน้ำจำเลยวิ่งกลับบ้านซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ300เมตรเอามีดมาต่อสู้กับพวกผู้ตายแม้ไม่ได้กระทำลงทันทีหรือณที่ซึ่งถูกข่มเหงแต่อยู่ในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันถือว่าจำเลยกระทำผิดด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและแม้จำเลยมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6, 213, 237, 238, 374, 375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
จำเลยที่5โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1มาเจรจาตกลงกันตามบันทึกเอกสารหมายล.8ซึ่งจำเลยที่5ได้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่1และโจทก์ทั้งสองตกลงกันในเรื่องเงินช่วยค่าก่อสร้างโดยถืออัตราค่าก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารเป็นเกณฑ์กำหนดตามที่ กรมธนารักษ์แจ้งมาและโจทก์ทั้งสองก็ยินยอมเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารตามจำนวนที่จำเลยที่5ไกล่เกลี่ยแม้จำเลยที่1ไม่ยินยอมและตกลงด้วยก็ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาแก่จำเลยที่1และที่5แล้วดังนั้นจำเลยที่1และที่5จึงหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา375 แม้จะได้ความว่าจำเลยที่2และที่3เป็นบุตรของ ว.หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1ย่อมจะรู้ถึงสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่มีต่อจำเลยที่1และจำเลยที่5อันจะถือได้ว่าจำเลยที่2และที่3เข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่5โดยไม่สุจริตก็ตามแต่เมื่อจำเลยที่2และที่3โอนสิทธิการเช่าแก่จำเลยที่4จำเลยที่4ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่ากระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา6โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่4รับโอนสิทธิการเช่าโดยไม่สุจริตแต่โจทก์ทั้งสองนำสืบได้แต่เพียงว่าจำเลยที่4ได้สอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองตลอดมาซึ่งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยที่4ไม่สุจริตด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจเพิกถอนสัญญาเช่าอาคารระหว่างจำเลยที่4กับจำเลยที่5ได้ สัญญาระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่5เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกเมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแสดงเจตนาแก่จำเลยที่1และที่5ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่1และที่5แล้วการที่จำเลยที่1และที่5ระงับสิทธิของโจทก์ทั้งสองโดยให้จำเลยที่2และที่3เข้าทำสัญญาเช่าอาคารแทนที่จำเลยที่1และที่5จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแต่โจทก์ทั้งสองประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายเอากับจำเลยที่1เท่านั้นจึงบังคับให้ได้เท่าที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องสำหรับจำเลยที่2และที่3นั้นมิใช่คู่สัญญาในสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองส่วนจำเลยที่4นอกจากฟังไม่ได้ว่ารับโอนสิทธิการเช่าโดยไม่สุจริตยังไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเช่นกัน