คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 889, 896

ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา889หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน50,000บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 231, 280, 290 ประมวลรัษฎากร ม. 12

การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน23แปลงของจำเลยที่2ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่2ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้นแม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่2ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวจะมีผลจนกว่าจำเลยที่2จำชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตามแต่ที่ดินที่จำเลยที่2นำมาเป็นหลักประกันศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่นจึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่2ที่นำมาเป็นหลักประกันไวต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1300และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้องแต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)กรณีไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 48, 73 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 ม. 7, 8

จำเลยทั้งสองใช้เลื่อยยนต์เป็นเครื่องมือในการแปรรูปไม้ซึ่งสามารถแปรรูปไม่ได้รวดเร็วและเป็นจำนวนมาก เป็นพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเป็นอย่างมากซึ่งเป็นการกระทำที่มีลักษณะร้ายแรง การที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนกับรางวัล และปรากฏตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 7 และ 8 ว่าสินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล คดีนี้ไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างพิพากษาให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายเงินรางวัลร้อยละยี่สิบของค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ นั้น จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 59, 229

การขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายเป็นรายบุคคลไป ศาลจะอนุญาตหรือไม่ก็ต้องพิจารณาเหตุผลเฉพาะรายตามที่ได้ยื่นคำร้องนั้น ๆ ไม่มีผลถึงคู่ความรายอื่น สิทธิในการอุทธรณ์ก็เป็นเรื่อง เฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายไป จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เฉพาะของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาต เป็นการอนุญาตให้เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้จะถือสิทธิอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์มาพร้อมอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 174 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 91 (พ.ศ.2521)

เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ยี่ห้อสติล พร้อมบาร์และโซ่ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้แปรรูปไม้หวงห้ามในคดีนี้เป็นสินค้าที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรมิได้เว้นแต่สินค้าดังกล่าวได้บรรทุกในยานพาหนะเพื่อส่งจากต่างประเทศต้นทางมายังประเทศไทยก่อนวันที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่91พ.ศ.2521ใช้บังคับหรือได้รับหนังสืออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์ของกลางในคดีนี้เป็นสินค้าที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยถูกต้องเช่นนี้ก็ต้องฟังว่าเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์ของกลางเป็นสินค้าต้องห้ามตามกฎหมายเพราะมีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่91พ.ศ.2521ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วกำหนดไว้อย่างชัดเจนโจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 586, 587, 593, 596

จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 11 คูหาโจทก์ได้ก่อสร้างมาระยะหนึ่งก็หยุดไม่ทำต่อไป เมื่อโจทก์ทิ้งงานแล้ว จำเลยได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน โดยระบุแสดงเจตนาไว้ว่าไม่ให้โจทก์มาเกี่ยวข้อง ในการก่อสร้างต่อไป และจำเลยได้สอบถามคนงานว่าสามารถทำงานต่อไปได้หรือไม่ หัวหน้าคนงานของโจทก์ก็ตอบว่าสามารถทำงานต่อไปได้แม้จะไม่มีโจทก์ก็ตามและได้ทำงานต่อไปจนเสร็จโดยจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าแรงให้แก่คนงานดังกล่าว การที่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานให้จำเลยโดยทิ้งงานไป จำเลยก็แสดงเจตนาที่ไม่ต้องการให้โจทก์ทำงานตามสัญญาต่อไปอีก สัญญาก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์จำเลย เป็นอันเลิกกันโดยปริยาย หลังจากโจทก์ทิ้งงานแล้ว คนงานอื่น ๆ ของโจทก์อีกประมาณ80 คน ก็ทำงานต่อในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เช่นนี้คนงานของโจทก์ที่ทำงานต่อไปจึงทำในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยมิใช่ในฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่คนงานที่ทำงานหลังจากโจทก์ทิ้งงานต่อไปจนเสร็จดังกล่าวหาใช่เป็นการจ่ายแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าแรงงานในส่วนนี้จากโจทก์ตามฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2995

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2995/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 224 วรรคสอง, 248 วรรคสอง

ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224วรรคสองที่บัญญัติยกเว้นให้มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ไว้ว่า"บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครอง" นั้น มีความหมายว่าถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวแล้วมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้เท่านั้นแต่หาได้มีความหมายไปถึงว่าคดีเกี่ยวกับสิทธิสภาพบุคคลและสิทธิในครอบครัวดังกล่าวเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์เสมอไปไม่ โจทก์ฟ้องหย่าและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพอันเป็นการฟ้องตั้งสิทธิอันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวซึ่งมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224วรรคสองและ248วรรคสองแต่การที่โจทก์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูมาจำนวน180,000บาทและเรียกค่าทดแทนมาจำนวน200,000บาทรวม380,000บาทอันเป็นการฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินมีค่าเป็นจำนวนเงินเข้ามาด้วยกรณีสีจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งโจทก์จำต้องจำต้องชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเฉพาะเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทดแทนที่โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระตามกฎหมายเท่านั้นเมื่อโจทก์ไม่ชำระจึงเป็นการทิ้งฟ้องเฉพาะในส่วนข้อกำหนดตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้เท่านั้นคำฟ้องเฉพาะเรื่องขอหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่จำต้องชำระค่าขึ้นศาลส่วนคำฟ้องเกี่ยวกับคำขอค่าเลี้ยงชีพเป็นคำฟ้องเรียกค่าเสียหายในอนาคตซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าขึ้นศาลในอนาคตไว้ถูกต้องแล้วเมื่อฟ้องของโจทก์ในสองส่วนนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายอยู่และแยกเป็นคนละส่วนจากคำฟ้องที่โจทก์ทิ้งฟ้องได้เช่นนี้จึงไม่มีเหตุที่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องในสองส่วนนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 58 วรรคหนึ่ง

เมื่อจำเลยให้การรับว่าเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี 2 เดือน โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีและภายในเวลา 5 ปี จำเลยได้มา กระทำผิดคดีนี้อีก ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้อง และมิได้ขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าว เข้ากับคดีนี้มาท้ายฟ้องแต่ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏ แก่ศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่งที่แก้ไขแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 ศาลจึงต้องนำโทษที่ รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2977/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31

การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่3ถือไม้ไผ่ยาวขนาด1เมตรกว้าง2เซนติเมตรเข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในบริเวณศาลชั้นต้นแล้วใช้ไม้ไผ่ดังกล่าวตีผู้ถูกกล่าวหาที่2จำนวน3ทีและเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่1ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่1ล้มลงและได้รับบาดเจ็บแม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่3เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังได้ตรวจในถุงอาหารพบหลอดบรรจุเฮโรอีน1หลอดที่ญาติส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่2ซึ่งกำลังจะส่งต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่1ก็ตามแต่ห้องควบคุมของศาลมีขนาดไม่กว้างมากนักอีกทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจคอยควบคุมความสงบเรียบร้อยอยู่ด้วยผู้ถูกกล่าวหาที่3จึงไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องถือไม้ไผ่เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังโดยเกรงว่าจะถูกทำร้ายตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่3ฎีกาดังนั้นการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่3ใช้ไม้ไผ่ตีผู้ถูกกล่าวหาที่2ถึง3ทีและเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่1อีกโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายได้จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/3 วรรคสอง, 193/5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 216, 221 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา216บัญญัติให้คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟังทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/5บัญญัติว่าถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นเดือนให้คำนวณตามปีปฏิทินถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งเดือนระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นและคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่27กันยายน2539หากจำเลยจะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำเลยจะต้องฎีกาภายในวันที่17ตุลาคม2539แต่ทนายจำเลยยื่นคำร้องในวันที่16ตุลาคม2539ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก15วันซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเมื่อนับระยะเวลาเป็นวันตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/3วรรคสองบัญญัติมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยแล้วจึงเป็นผลให้ระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นฎีกาได้นั้นยืนออกไปอีกโดยจำเลยสามารถยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ภายในวันที่31ตุลาคม2539จำเลยยื่นคำร้องพร้อมฎีกาต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นในวันที่29ตุลาคม2539ขอให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา221ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะฎีกาได้จึงเป็นคำร้องที่ยื่นโดยชอบด้วยกฎหมายส่วนคำร้องของจำเลยพร้อมฎีกาที่ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา221ซึ่งยื่นเมื่อวันที่18พฤศจิกายน2539นั้นแม้จะเป็นการยื่นก่อนเวลาที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ตามแต่ก็เป็นการยื่นเพื่อปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา221เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียแล้วการยื่นคำร้องดังกล่าวของจำเลยต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยนั้นชอบแล้ว

« »
ติดต่อเราทาง LINE