คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296, 296 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542

คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตาม น.ส. 3 รวม 12 แปลง เป็นของโจทก์และขับไล่จำเลย และบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ส่งมอบที่ดิน 12 แปลงแก่โจทก์ตามคำพิพากษา หลังจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่หลายร้อยไร่และยังมีปัญหาโต้แย้งแนวเขต ที่ดินกับจำเลย จะมีปัญหาในการบังคับคดี ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้น เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังโต้แย้งในเนื้อที่ดินพิพาท จึงให้นัดไต่สวน ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบางส่วนแล้วศาลชั้นต้น มีคำสั่งงดการไต่สวนโดยวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหาก ถ้าการบังคับคดีเป็นที่เสียหายแก่จำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งเช่นนั้นได้

เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จลงเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 1469

คดีนี้เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีเงื่อนไขฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว ต่อมาเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่สำเร็จผล มีผลให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นอันตกไปไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์และจำเลยจึงได้ทำข้อตกลงกันใหม่เป็นสัญญาใหม่ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยแทนสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 แต่จำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาใหม่ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 นั้นได้อีก จำเลยได้ยื่นข้อเสนอขึ้นมาใหม่ เมื่อโจทก์ไม่ตกลงจึงยังไม่เกิดเป็นสัญญา เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 โจทก์ต้องฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวเป็นคดีใหม่

ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นข้อตกลงเพื่อจัดการทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสเป็นสัญญาระหว่างสมรส คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อจำเลยได้บอกล้างข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สัญญาระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยจึงเป็นอันสิ้นผล โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 672

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 672/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

คดีก่อนโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 144/2532 มาฟ้องขอให้จำเลย ล้มละลาย และศาลฎีกาได้หยิบยกเอาที่ดินที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีทรัพย์สินที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีไม่ต้องด้วยเหตุที่กฎหมายสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงยกฟ้อง ต่อมาโจทก์นำเอา มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 144/2532 มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีก โดยอ้างว่านำยึดที่ดินดังกล่าวแล้วแต่ติดจำนองและไม่มีผู้เข้าประมูล อีกทั้งหากขายได้ก็จะได้เงินส่วนของจำเลยไม่พอชำระหนี้ ดังนี้ หนี้สินและทรัพย์สินที่โจทก์กล่าวในฟ้องล้วนแต่เป็นหนี้สินและทรัพย์สินที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อน จึงเป็นการที่โจทก์รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 277, 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ผู้เสียหายเบิกความบรรยายพฤติกรรมของจำเลยตั้งแต่ต้นก่อนและขณะกระทำชำเรา เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับว่ามีการใช้กำลังกายอย่างไร พูดจาบังคับขู่เข็ญอย่างไร และกระทำการกระทำชำเราเป็นเหตุเป็นผลไม่ขัดต่อหลักความจริงของธรรมชาติ หากมิได้มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กก็จะไม่สามารถเบิกความในลักษณะเช่นนั้นได้ จึงยากที่ผู้เสียหายจะปั้นแต่งขึ้นมาเองประกอบกับผู้เสียหายยังเป็นนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงเป็นสิ่งน่าอับอายที่จะนำมาเปิดเผยให้ผู้อื่นล่วงรู้ ผู้เสียหายย่อมไม่มีจริตเสแสร้งเอาความอันเป็นเท็จพูดบอกแก่ผู้อื่นให้เสื่อมเสียแก่ตัวเองและครอบครัว และเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายมาถึงบ้าน ผู้เสียหายก็วิ่งเข้ากอด อ. ทันทีแล้วร้องไห้และบอกเรื่องที่ถูกจำเลยกระทำชำเราต่อ ท. และชาวบ้านอีกหลายคน เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำผิด แม้การตรวจร่างกายผู้เสียหายในวันนั้นจะไม่พบน้ำอสุจิในช่องคลอดก็มิได้หมายความว่าผู้เสียหายไม่ถูกกระทำชำเรา เพราะผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยเอาอวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแล้วความผิดจึงสำเร็จ ซึ่งการที่ไม่พบน้ำอสุจินี้ย่อมสันนิษฐานว่าจำเลยได้หลั่งน้ำอสุจินอกช่องคลอด แต่ผลจากการตรวจยังพบว่าเยื่อพรหมจารีผู้เสียหายฉีกขาดมีเลือดซึมผนังช่องคลอด ปากมดลูกบวมแดง แสดงว่าผู้เสียหายผ่านการร่วมประเวณีมา จึงเป็นข้อสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายว่ามีการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหายจริง

บิดามารดาผู้เสียหายนำผู้เสียหายไปฝากให้ อ. ป้าของผู้เสียหายช่วยดูแลแทนเนื่องจากต้องไปรับจ้างทำงานที่กรุงเทพมหานคร วันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายจากบ้าน ส. เพื่อไปส่งที่บ้าน อ. แต่จำเลยกลับพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าข้างทาง โดยที่ผู้เสียหายมิได้รักใคร่และยินยอมร่วมประเวณีด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีภริยาและบุตรหรือไม่

จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายจากบ้าน ส. ไปเพื่อการอนาจารเป็นการกระทำความผิดสำเร็จในข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจารสำเร็จไปตอนหนึ่งแล้วเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปถึงที่เกิดเหตุแล้วลงมือกระทำชำเรา จึงเป็นการกระทำกรรมใหม่อันเป็นความผิดขึ้นอีก แยกต่างหากจากการพรากเด็ก จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 86, 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

จำเลยที่ 2 เป็นคนส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ 1 ฟันทำร้ายพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งหลังจากที่จำเลยที่ 2 ส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ 1 แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรอีกเลยแม้ว่าตอนที่จำเลยที่ 1 วิ่งตามผู้เสียหายที่ 2 ไปนั้น จำเลยที่ 2 ได้วิ่งตามไปด้วยก็ดี หรือขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 จะเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้พูดห้ามปรามว่าอย่ารุมก็ดี ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ตั้งใจจะร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีมือจำเลยที่ 1 จนอาวุธปืนสั้นหลุดจากมือ จำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดพร้าฟันผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 2 เสียเอง อันพอจะเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าตั้งใจจะเข้าช่วยเหลือในลักษณะเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ตามสภาพอาวุธของตนที่มีอยู่ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่ส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้เข้าร่วมใช้มีดพร้าฟันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เสียเอง จึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดดังกล่าว แต่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดก่อนกระทำความผิดอีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ในตอนแรก จำเลยที่ 2 ยังมิได้ดำเนินการอะไรให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนสั้นมายังที่เกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 ถือมีดพร้ามาด้วยนั้น พฤติการณ์พอถือได้ว่า ต่างคนต่างเจตนาจะครอบครองอาวุธของตนเองตามลำพัง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาจะร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนดังกล่าวทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 227

แม้สิบตำรวจตรี ว. เบิกความในชั้นศาลว่า ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ แต่ในบันทึกการจับกุม ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวหาใช่ข้อสาระสำคัญแห่งคดีไม่

เวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบ คือสิบตำรวจตรี ว.ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายที่ถูกแปลงสภาพให้ผิดไปจากเดิมที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อทราบจากจำเลยที่ 1 ว่ารับซื้อรถของกลางจากจำเลยที่ 2 สิบตำรวจตรี ว. ก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับซื้อรถของกลางมาจากจำเลยที่ 3 และเมื่อสิบตำรวจตรี ว.ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้จำเลยที่ 3 ก็ยอมรับสารภาพอีกว่ารับซื้อรถของกลางมาจากผู้มีชื่อ จึงเห็นได้ว่าการที่สิบตำรวจตรี ว. สามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากจะอาศัยข้อมูลการสืบสวนทางหนึ่งแล้วยังได้อาศัยข้อมูลจากจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างมากอีกต่างหาก พยานโจทก์จึงไม่ใช่มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เท่านั้นแต่ยังมีคำเบิกความของสิบตำรวจตรี ว.มาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 อีกด้วยจึงเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2543

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 6, 247, 264 พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 ม. 15, 17

การที่ศาลจะส่งความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 ต้องเป็นกรณีที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาล หากคดีถึงที่สุดแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะส่งคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจกระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

คดีนี้ถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 โดยจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แล้ว

คดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วเหลือเพียงการส่งจำเลยข้ามแดนเท่านั้น การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีของจำเลย หามีผลให้คดีกลับกลายเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่งไม่

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคสอง ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ตาม แต่ในกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าเหตุตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจปรับบทกฎหมายและตีความบทกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพราะล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1600

เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดอันเป็นทรัพย์สินที่ พ. มีอยู่ ในกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. บริษัท ท. และกิจการของบริษัท ด. อันได้แก่เงินลงหุ้น ค่าหุ้น ผลกำไร และเงินปันผลเป็นต้น ย่อมเป็นมรดก

แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้แบ่งกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดทั้งสองดังกล่าวก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องระบุว่า เงินที่ใช้ลงทุนในการก่อสร้างกิจการเป็นของ พ. เจ้ามรดก ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่เป็นสิทธิอันเป็นทรัพย์สินของ พ. ที่มีอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดทั้งสองนั้นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 650, 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

หลังจากที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทกับโจทก์แล้วโจทก์ได้โอนเงินจำนวนตามสัญญากู้ยืมเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้วนำไปหักกับดอกเบี้ยเงินกู้รายอื่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยแล้ว สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 650 วรรคสอง

มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเกิดจากการที่โจทก์กับจำเลยแสดงเจตนาก่อนิติสัมพันธ์ในระหว่างกันขึ้นใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ในขณะนั้น แม้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นแก่โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ตามสัญญากู้ยืมเงิน และเป็นหนี้เงินที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินกู้ยืมจึงไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย

ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70, 77, 900

ธนาคารตามเช็คได้มอบเช็คพิพาทให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวัน จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 ในช่องผู้สั่งจ่าย ก็เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง และมาตรา 900 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คต่อผู้ทรงเป็นส่วนตัวหากจำเลยที่ 2 กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ต่อไป

« »
ติดต่อเราทาง LINE