กฎหมายฎีกา ปี 2544
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8519/2544
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 5
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่า พวกของจำเลยทำบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในชื่อที่ไม่ตรงความจริง นับเป็นการกระทำที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ ทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นที่เป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงได้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านย่อมมีหน้าที่ในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่กลับมากระทำความผิดเสียเอง เหตุที่จำเลยอ้างว่าเคยประกอบคุณความดีต่าง ๆมาก่อนนั้นไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อการรอการลงโทษจำคุกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2544
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1), 334
ผู้เช่าซื้อบอกให้จำเลยไปขับรถออกมา เพราะผู้เช่าซื้อกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อตกลงกันได้แล้ว จำเลยก็ไปเอารถคืนมาและมอบให้แก่ผู้เช่าซื้อในทันที การที่จำเลยเข้าไปเอารถที่จอดอยู่และขับออกมาจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้ออย่างเปิดเผยเป็นการกระทำโดยสุจริตและโดยเชื่อว่ามีการตกลงกันได้ตามที่ผู้เช่าซื้อบอกจำเลย การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8508/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 จะระบุไว้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทโอนไปยังจำเลยที่ 1 ทันที และโจทก์จะดำเนินการจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรายการสมุดคู่มือจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสียก่อน โดยเช็คที่ออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถูกธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน 4 ฉบับ โจทก์จึงได้ใช้สิทธิของตนเพื่อการบังคับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4ซึ่งระบุว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใด งวดหนึ่ง ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดทั้งหมดและยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยหักส่วนที่ชำระมาแล้วออกก่อนคงบังคับเอาเฉพาะส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระ พร้อมทั้งยินยอมให้โจทก์กลับเข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ทันที นอกจากนี้แล้วข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาก็ปรากฏว่าหลังจากผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองได้ยินยอมให้โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวกลับคืนไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ด้วย ฉะนั้นเมื่อโจทก์ได้รับรถยนต์ซึ่งยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของตนกลับคืนมาแล้วโจทก์จึงสามารถนำรถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อได้โดยไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 แต่อย่างใด โจทก์ได้นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อไป ซึ่งการขายและการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวได้กระทำภายหลังที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นผลให้หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระงับไปดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างเมื่อโจทก์ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 188
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2544
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 45
จำเลยส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.14 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีประกอบคำเบิกความพยานบุคคลของจำเลยต่อศาล โดยไม่ยื่นสำเนาต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานและส่งสำเนาเอกสารหมาย ล.11/6 เป็นพยานต่อศาล เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นต้องสืบพยานเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.14 อันเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี จึงสั่งรับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของจำเลย และรับฟังสำเนาเอกสารหมาย ล.11/6 ประกอบคำเบิกความของพยานจำเลย ย่อมเป็นการสั่งรับโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้อำนาจไว้โดยเฉพาะการสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
รายได้จากการกรีดยางที่ได้มาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว มิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดก แต่เป็นดอกผลของที่ดินทรัพย์มรดกตกได้แก่เจ้าของที่ดินตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336และ 1360 โจทก์ทราบดีว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้นำน้ำยางไปจำหน่ายหารายได้ตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีก่อนขอแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกและศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยแบ่งที่ดินแก่โจทก์โดยที่ดินดังกล่าวเป็นสวนยางพารามีรายได้จากการกรีดยางตั้งแต่ขณะโจทก์ฟ้องคดี ก่อนซึ่งจำเลยได้เอาไว้เป็นประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบรายได้จากการกรีดยางดังกล่าวแก่โจทก์เสียในคราวเดียวกัน แต่กลับมาฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6126/2544
nan
ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงต้องนำคดีไปฟ้องยัง ศาลแรงงานนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกเรื่องอำนาจศาลขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพิ่งมายกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งปัญหาเรื่องอำนาจของศาลชำนัญพิเศษกับอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลชั้นเดียวกันจะต้องยุติใน ศาลชั้นต้นเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางแก่คู่ความประวิงคดี หากคู่ความไม่โต้แย้งหรือศาลชั้นต้นไม่ยกปัญหาขึ้นจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แสดงว่าคู่ความยอมรับอำนาจศาล ปัญหาตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2544
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 145, 146, 147
แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
คู่ความตกลงท้ากันว่า หากเสียงข้างมากจากผลการตรวจตามหลักทางการแพทย์ของโรงพยาบาล 3 แห่งระบุว่าโจทก์ที่ 2เป็นบุตรผู้ตาย จำเลยทั้ง 5 ยอมให้โจทก์ที่ 2 รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิ เมื่อคำท้าระบุให้โรงพยาบาล 3 แห่งใช้วิธีตรวจตามหลักการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จะให้พิสูจน์ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญ วิธีการตรวจจึงเป็นเรื่องที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องไปดำเนินการตามที่เห็นสมควรโดยใช้หลักทางการแพทย์เพื่อให้ได้ผลออกมาแน่นอน และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด หาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นการตรวจพิสูจน์เพียงครั้งเดียวหรือการตรวจพิสูจน์จะต้องกระทำเฉพาะระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายเท่านั้นไม่หากโรงพยาบาลหนึ่งโรงพยาบาลใดเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมโดยได้ทำการตรวจ 2 ครั้ง หรือจะต้องนำบุคคลภายนอกซึ่งอ้างว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 มาตรวจพิสูจน์เพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้น ก็ย่อมกระทำได้ ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำท้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8593/2544
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 57, 91
จำเลยเสพเฮโรอีนและเสพกัญชาโดยหั่นกัญชาผสมเฮโรอีนบรรจุในบ้องกัญชาแล้วจุดไฟสูบ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเสพทั้งเฮโรอีนและกัญชา ซึ่งผสมกันเสมือนวัตถุอันเดียว การที่จำเลยเสพยาเสพติดให้โทษทั้งสองประเภทไปในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา