กฎหมายฎีกา ปี 2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208 วรรคสอง

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง (เดิม) ที่บัญญัติว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ความหมายก็คือ ต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งสองประการ คือ ทั้งเหตุที่ได้ขาดนัดพิจารณาและทั้งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาด คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย กล่าวเพียงเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้นแต่จำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดพิจารณาเป็นเหตุที่จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะให้มีการพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8622

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8622/2544

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 9

การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การให้เป็นประเด็นพิพาท เพื่อที่จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาคดี เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำให้การแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจำเลยเพิ่งจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์

ตามคำฟ้องโจทก์เสนอข้อหาต่อศาลว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาจากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8616/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271

คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินแปลงที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและรับชำระราคาบ้านพร้อมที่ดินส่วนที่เหลือ ให้จำเลยติดตั้งโทรศัพท์ประจำบ้านที่ตกลงจะขายและชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะโอนขายบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ หากไม่อาจโอนขายบ้านและที่ดินได้ให้คืนเงิน 950,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 1,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงิน 1,950,000 บาท ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดังนั้นการบังคับคดีจึงต้องอาศัยคำพิพากษาดังกล่าวเป็นหลักแห่งการบังคับ เมื่อจำเลยได้ติดตั้งโทรศัพท์ประจำบ้านที่ตกลงจะซื้อจะขายและพร้อมจะทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ เท่ากับจำเลยพร้อมจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในลำดับแรกแล้ว โจทก์จะกล่าวอ้างและเรียกร้องให้จำเลยแก้ไขความชำรุดบกพร่องและความไม่เรียบร้อยของบ้านพิพาทก่อนโดยจำเลยไม่ยอมรับและตกลงด้วยนั้นไม่ได้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าบ้านพิพาทอยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย โจทก์เสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7154/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59, 249

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 มิได้ยกประเด็นที่ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของตน คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวมาแต่ต้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ประเด็นดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างมาในฎีกาว่าพยานเอกสารบางฉบับเข้าสู่สำนวนโดยมิชอบ ก็ถือว่าเป็นปัญหาในเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8609

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8609/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 4, 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง

คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจสอดคล้องต่อเนื่องกันเป็นไปตามลำดับตั้งแต่ร้อยตำรวจเอก ณ.ได้รับทราบจากสายลับว่าจำเลยเป็นผู้ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงได้วางแผนจับกุมจำเลยโดยการล่อซื้อและนายดาบตำรวจ ป.กับสายลับได้ไปพบจำเลยและเจรจาตกลงซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจนกระทั่งมีการนัดส่งมอบ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง อีกทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน แม้โจทก์จะมิได้นำสายลับมาเบิกความเป็นพยานและมิได้นำเงินที่ใช้ในการล่อซื้อส่งอ้างเป็นพยาน พยานหลักฐานของโจทก์ก็มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง

จำเลยได้เจรจาตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นายดาบตำรวจ ป.ผู้ล่อซื้อ 10 ถุง ถุงละ 200 เม็ด ในราคาถุงละ 14,000 บาทและก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยนั้น จำเลยได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามที่ตกลงจำหน่ายให้แก่นายดาบตำรวจ ป.แล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนสำเร็จแล้ว ไม่ว่านายดาบตำรวจ ป.จะส่งมอบเงินตามที่ตกลงกันให้แก่จำเลยหรือไม่ก็ตาม เพราะการส่งมอบเงินที่ตกลงซื้อเมทแอมเฟตามีนไม่ใช่องค์ประกอบหรือสาระสำคัญของการกระทำความผิดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 144 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 64 วรรคหนึ่ง

ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และความผิดฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 เป็นความผิดที่ผู้กระทำการจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการกระทำผิดอีกฐานหนึ่งก็ตาม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7138/2544

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2537 โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทในราคา 323,000 บาท ครั้นวันที่ 20 ตุลาคม2539 โจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา323,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าต้องการจะเปลี่ยนจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาเช่าซื้อและคู่สัญญาไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ทั้งโจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงเลิกสัญญาซื้อขายกันแล้วสมัครใจเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่ และจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ดังนั้น สัญญาซื้อขายจึงสิ้นผลผูกพันโจทก์และจำเลยนับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อทำให้หนี้ตามสัญญาซื้อขายเป็นอันระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ คำฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์เท่านั้นไม่ได้กล่าวถึงสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายซึ่งระงับไปแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8599

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8599/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 197 วรรคสอง, 201 วรรคหนึ่ง

คำร้องของโจทก์ที่โต้แย้งคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง และมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) มิได้กล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบ หรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายใด คงอ้างแต่เพียงว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถมาศาลได้ โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งของศาล ขอให้ไต่สวนและกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา จึงถือได้ว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียได้ โดยไม่ต้องทำการไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 309 ทวิ

กฎหมายวิธีสบัญญัติส่วนที่มีการแก้ไข เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด คดีของจำเลยจะไม่ต้องห้ามฎีกา แต่ขณะที่จำเลยยื่นฎีกาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 175, 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 165

ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

»