กฎหมายฎีกา ปี 2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 280

โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาการที่ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีโดยอ้างว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสร้างขึ้นและผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในอีก คดีหนึ่งนั้น ผู้ร้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สิน ที่มีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งหกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นและคดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดี อันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8592

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8592/2544

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 821

โจทก์ยอมให้บุคคลอื่นเชิดตนเองเป็นตัวแทนของโจทก์ ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าโจทก์มอบอำนาจบุคคลอื่นกระทำการแทนตนเอง โจทก์ก็ต้องมีความผูกพันตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลง ถือว่าบุคคลภายนอกเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์และการเป็นตัวแทนเชิดหาจำต้องมีการมอบอำนาจต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587/2544

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 680

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่บริษัท ส. และบริษัทในกลุ่มบริษัท ย. ทุกบริษัทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากบริษัทส. ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน ดังนี้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 จะค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่บริษัท ย. และเฉพาะแก่บริษัทในกลุ่มบริษัท ย. ทุกบริษัท ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 58 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 212 พระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 ม. 13

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านให้จำเลยฟังตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522มาตรา 13 แล้ว จำเลยไม่คัดค้าน เป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานนั้นว่าศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำพิพากษาให้จำคุก6 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ระหว่างรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้อีก ศาลที่พิพากษาในคดีหลังต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษศาลอุทธรณ์จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรกไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8470

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8470/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (10), 174 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 15, 66

การใช้สายลับช่วยล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน ดังนี้ การใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ จึงมิใช่เป็นการใช้ให้ไปกระทำความผิดและแม้จะไม่ได้นำตัวสายลับมาเป็นพยานในชั้นศาลเนื่องจากเพื่อประโยชน์แก่ราชการในภายหน้าหรือเพื่อความปลอดภัยของสายลับก็ตาม ย่อมอยู่ในดุลพินิจของโจทก์ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าพยานหลักฐานที่นำสืบมาเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้แล้ว ก็หาจำต้องนำตัวสายลับดังกล่าวมาเป็นพยานในชั้นศาลด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 204

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จโดยจำเลยมิได้อยู่ในศาล ก็มีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียวตามมาตรา 204 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่(1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะจำเลยมิได้มาศาลในวันสืบพยานฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง

ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธและไม่แน่ชัดรับฟังไม่ได้ว่า จ. ลงชื่อในสัญญากู้นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จ. ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของ จ. จึงฟังได้ว่า จ. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและลงชื่อในช่องผู้กู้ ดังนั้นปัญหาตามฎีกาของจำเลย จึงเป็นปัญหาอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8464

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8464/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174, 246

แม้ที่ดินที่เป็นเหตุให้โจทก์จำเลยพิพาทกันในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่งก็ตามแต่ก็เป็นคนละคดีกัน เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีเรื่องนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์และมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มจำเลยก็ชอบที่จะต้องนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลชั้นต้นให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนที่จำเลยเห็นว่าจำเลยไม่ควรต้องวางเงินค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ซ้ำอีก เพราะได้วางเงินค่าขึ้นศาลในอีกคดีหนึ่งแล้ว ก็เป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิที่จะคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไว้แล้วฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวในภายหลังได้ แต่การที่จำเลยไม่นำเงินมาวางตามกำหนดโดยการขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีกหลายครั้ง ทั้งมีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลอุทธรณ์เพิ่มด้วย เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประวิงเวลาให้ชักช้า ถือได้ว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยปฏิบัติและจำเลยก็ได้ทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463/2544

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39, 195

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้

จำเลยพรากเด็กชาย พ. ไปจากผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กชาย พ. ไป โดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อมารดาเด็กชาย พ. ด้วย ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กชาย พ. โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กชาย พ. หากขัดขืนเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยเนื่องจากฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรกจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460/2544

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 193, 216 พระราชบัญญัติจราจรทางบก ม. 157 ทวิ

ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาซึ่งเมื่อนับถึงวันยื่นฎีกานี้เป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือนแล้ว หากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองก็อาจมีผลทำให้จำเลยต้องถูกลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า6 เดือนนั้น เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อนหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้ตามลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

« »