กฎหมายฎีกา ปี 2545
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 273, 275 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 3, 44, 46, 108, 110
การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 มีบทบัญญัติมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งกำหนดให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46วรรคแรก เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 46 วรรคสอง ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯเมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลังมาตรา 3 วรรคแรก ให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้ให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือว่ามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ดังนั้นการที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จึงมีความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 271
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์มีอำนาจดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งทางราชการไม่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใดได้ แต่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจขอให้บังคับคดีแก่เจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2545
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ม. 86, 89, 96
หลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29(พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งให้ทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ 6 มิใช่เพียงแต่ยื่นคำร้องเป็นหนังสือตกลงยินยอมชำระภาษีและของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อลูกหนี้ยังมิได้ชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนั้นเมื่อลูกหนี้ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้มิได้ยื่นคำคัดค้านการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงเป็นการสละการใช้สิทธิคัดค้านต่ออธิบดี สละสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และสละสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 86,89 และ96 หนี้ภาษีของลูกหนี้ย่อมถึงที่สุด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้กรมสรรพสามิตเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
จำเลยมิได้รับของโจร แต่ร่วมกับ ว. ลักรถจักรยานยนต์ของกลาง แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษฐานรับของโจร โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม และกรณีมิใช่การพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอเพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องและร้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานหนึ่งฐานใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17 วรรคหนึ่ง, 20, 118
เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานที่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1336, 1337
การที่จำเลยที่ 2 นำแผ่นเหล็กปิดกั้นประตูด้านข้างตึกแถวของโจทก์ หรือทำประตูเหล็กปิดกั้นปากทางเข้าออกหอพัก ล้วนได้กระทำภายในเขตโฉนดที่ดินของตนที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และปากทางเข้าออกหอพักนั้นก็ไม่ได้ตกอยู่ในภารจำยอมอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว โดยเฉพาะการที่บุคคลใดจะใช้ประโยชน์จากที่ดินของบุคคลอื่นได้นั้นต้องมีสิทธิอันมีกฎหมายรองรับ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเช่นว่านี้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอย รวมทั้งมีสิทธิขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
การที่จำเลยที่ 2 นำแผ่นเหล็กและทำประตูเหล็กปิดกั้นก็เพราะมีบุคคลภายนอกเข้ามาใช้ทางเข้าออกหอพัก และเพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยอยู่ในหอพักเป็นการใช้สิทธิตามปกติวิสัยของผู้เป็นเจ้าของที่ดินในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและโจทก์เองก็สามารถประกอบกิจการค้าขายด้านหน้าร้านได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะลดความสะดวกลงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337
ขณะทำสัญญาซื้อขายตึกแถว จำเลยที่ 1 ได้ตกลงให้โจทก์ทำประตูเหล็กปิดเปิดที่ผนังด้านข้างของตึกได้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้มีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อที่ดินต่อจากจำเลยที่ 1 และไม่ใช่กรณีผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 147, 391, 574
จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 วรรคท้าย
สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349
การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียวแต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 215, 225 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ม. 4, 30, 82
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า จัดหางานหมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน โจทก์จึงต้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางาน หรือดำเนินการเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศแต่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดหางานในต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายได้ เพราะจำเลยไม่เคยไปติดต่อหาสถานที่ทำงานในต่างประเทศมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30วรรคหนึ่งและมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91
เจ้าพนักงานตำรวจล่อซื้อเฮโรอีนได้จากจำเลย 2 หลอด และเข้าค้นตัวจำเลยพบเฮโรอีน 11 หลอด และเมทแอมเฟตามีน 18 เม็ด การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกัน และถูกจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกัน แต่เมื่อเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายคนละมาตรากันกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็หาทำให้การกระทำกรรมเดียวกลายเป็นการกระทำหลายกรรมไปได้ไม่