กฎหมายฎีกา ปี 2554
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8717/2554
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 34 วรรคสี่, 40 วรรคสอง (1) (ง), 40 (2) (ข)
คำร้องของผู้ร้องแสดงเหตุอย่างชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการอย่างไร และขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เป็นคำร้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงลอยๆ ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อธรรมเนียมการก่อสร้าง จึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 34 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยไม่นำสืบว่าธรรมเนียมการก่อสร้างนั้น
ปฏิบัติกันอย่างไร ข้ออ้างของผู้ร้องตามคำแก้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น
สัญญาว่าจ้างข้อที่ 3 ข้อที่ 18 และข้อที่ 20 มีข้อตกลงกล่าวโดยสรุปว่า การขอขยายระยะเวลาทำงานหรือระยะเวลาก่อสร้าง ผู้ร้องจะต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบเพื่อขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นที่อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า แม้งานบางส่วนมีอุปสรรคเกี่ยวกับการรอแบบและวัสดุที่แก้ไข แต่มีงานหลายอย่างที่ไม่มีปัญหาแต่ผู้ร้องกลับทำไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องไม่ทำหนังสือขอขยายเวลาทำการตามสัญญาข้อที่ 20 ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิการขอขยายเวลาและถือว่าผู้ร้องผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงชอบนั้น เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักและเงื่อนไขตามสัญญาว่าจ้างงานภูมิสถาปัตย์แล้ว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
การที่ผู้ร้องอ้างเหตุทำนองว่าความล่าช้าของงานเกิดจากความผิดของผู้คัดค้านที่มีส่วนร่วมด้วยหรือผู้คัดค้านทราบเหตุแห่งการล่าช้าทุกครั้งเมื่อไม่มีการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีเหตุผล ผู้ร้องมีสิทธิขอขยายระยะเวลาทำงานออกไปได้นั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกันย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ
การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามสัญญาข้อที่ 21 แต่เห็นว่าค่าปรับที่ตกลงเป็นค่าเสียหายกรณีปฏิบัติผิดสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วนจึงปรับลดให้นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงไม่ใช่คำชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และไม่เป็นกรณีที่ว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง (1) (ง), (2) (ข) อันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2554
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 48 (เดิม)
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ได้บัญญัติให้การใช้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้แดนกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของร่วมในอาคารชุดให้น้อยลงซึ่งแตกต่างจากหลักกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป การที่จำเลยซื้อห้องชุดในอาคารชุด เป็นการสมัครใจของจำเลยเองที่จะต้องรับรู้ข้อจำกัดและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์
ระเบียงเป็นส่วนของห้องชุดที่ยื่นออกไปนอกฝาและเป็นส่วนที่มีการเปิดโล่ง เป็นการออกแบบเพื่อความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์สำหรับอาคารชุดนั้น และผู้ออกแบบประสงค์ให้ใช้ประโยชน์แบบพื้นที่นอกอาคาร ไม่ใช่ส่วนของห้องชุดที่จะมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับส่วนของห้องชุดที่อยู่ภายในหรือจะดำเนินการดัดแปลงต่อเติมโดยพลการได้ เว้นแต่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การต่อเติมของจำเลยต้องขอมติต่อเจ้าของร่วมและได้รับอนุญาตเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแล้วจึงจะกระทำได้ การต่อเติมห้องชุดของจำเลยจึงมีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกและโครงสร้างของอาคารจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่รื้อถอนผนังห้องชุด ขอถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอส่วนนี้ของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2554
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 45 (1)
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถอาคารพิพาทมีความสูง 2.03 เมตร แม้จะไม่ได้ระยะความสูงตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ.2521 ที่กำหนดให้ระยะดิ่งระหว่างพื้นดินถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร แต่ได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทางขึ้นที่จอดรถที่ผู้ร้องก่อสร้างจึงถูกต้องตามกฎหมาย การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่หยิบยกกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย แล้วชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากอนุญาโตตุลาการนำข้อกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ก็จะปรากฏให้เห็นได้ว่าการก่อสร้างของผู้ร้องมิได้เป็นความผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ร้องไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ปัญหานี้แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็สามารถยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นศาลได้ ผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 149, 213, 379, 383 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 18, 29
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี
หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8706/2554
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 735, 728
จำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนองมาจากนาย ก. สืบเนื่องมาจากการรับมรดก จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาย ก. กล่าวคือต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแทนนาย ก. หาใช่เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่อย่างใด กรณีของจำเลยทั้งห้าจึงมิต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 735 ที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2554
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18, 58 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 104
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบ 24 ปีบริบรูณ์ หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย แต่การส่งจำเลยที่ 1 ไปจำคุกต่อตามมาตรา 104 วรรคท้ายดังกล่าว มิใช่การพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2554
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม. 97
ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 170,610.55 บาท สูงเกินเกณฑ์กำหนดที่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 119,000 บาทแก่โจทก์ เป็นการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าที่ควรจะต้องรับผิดนั้น มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงในเรื่องดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาโดยกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 119,000 บาท และจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านจำนวนเงินค่าเสียหายดังกล่าวตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงมีแต่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ขอเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกตามจำนวนเงินที่เรียกร้องมาในคำฟ้อง คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์เพียงว่าสมควรที่จะกำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้นตามที่โจทก์อุทธรณ์เรียกร้องมาหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าเสียหายของโจทก์ที่ยุติไปแล้วโดยลดจำนวนเงินค่าเสียหายของโจทก์จาก 119,000 บาท ลงเหลือ 25,000 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2554
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 192 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม. 4, 11
คดีก่อน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนำเงิน 29,400,000 บาท ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตาม ป.อ. หรือกฎหมายอื่น โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพไปหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้ผู้ใดพบเห็นและทราบถึงลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนทั้งการได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากจะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว โจทก์ยังขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาด้วย ส่วนคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้เบิกเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสว่างแดนดินไปรวม 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 29,400,000 บาท แล้วไม่นำมาเก็บรักษาไว้ในที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน หรือนำไปใช้จ่ายในกิจการของที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน แต่กลับเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอให้ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 เห็นได้ว่า วันเวลา สถานที่รวมถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เป็นวันเวลา สถานที่เดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีก่อนของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในคดีดังกล่าวแล้วว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีการทุจริตยักยอกเงินถึง 22 ครั้ง แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมมิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2554
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ม. 31, 42 วรรคหนึ่ง, 84 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550
ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง บทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้นค่าปรับที่จำเลยชำระไปตามคำพิพากษาจนครบถ้วนแล้วจึงถือว่าการบังคับโทษปรับเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2554
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 625 พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4
ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง ช่องให้สำแดงสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงิน ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อจะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่ม จึงฟังได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
สัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนสินค้าทางอากาศกับผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน แม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดกรณีสินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญานี้ก็ให้โอกาสผู้ส่งตกลงให้จำเลยรับผิดสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็สามารถเอาประกันภัยได้ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม