กฎหมายฎีกา ปี 2555
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1307 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 25
ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของต้นยางพาราที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ต้นยางพาราพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องถูกห้ามยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ประกอบ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 25 จึงเป็นฎีกานอกคำร้องและนอกประเด็น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6728/2555
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 29
การจะพิจารณาว่าสัญญาประกันที่มีกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของผู้ร้องเป็นหลักประกันนั้นเป็นสัญญาประกันตัวจำเลยเพื่อให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นสัญญาประกันการชำระหนี้ค่าปรับ ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ รูปแบบ และเนื้อความแห่งสัญญาประกันที่ศาลเลือกใช้ ในคดีนี้ปรากฏว่า กรมธรรม์ประกันอิสรภาพที่ผู้ร้องออกให้ไว้แก่ศาลนั้น ผู้ร้องรับรองต่อศาลว่าหากจำเลยไม่มาศาล ผู้ร้องก็จะชำระเงินให้แก่ศาลในวงเงิน 90,000 บาท ข้อความตามสัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นการรับรองว่าจำเลยจะมาศาลเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ศาลอนุญาตให้ผัดชำระค่าปรับ อันเป็นสัญญาประกันตัวจำเลยเพื่อขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อการชำระหนี้ค่าปรับที่ในชั้นที่สุดจะบังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับตามคำพิพากษาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 24
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 428 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 17, 18, 27, 31, 63, 64 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 15, 24
การที่จำเลยจงใจและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์มิได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ดังกล่าวแก่จำเลยนั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยไม่มีสิทธิและผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่มิได้ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์
เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสิบห้าเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นเพลงส่วนหนึ่งของเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องและยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ให้จำเลย การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดีเพลงดังกล่าวเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และการที่จำเลยโดยรู้อยู่แล้วได้นำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้ายังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย เมื่อโจทก์พบการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 การที่จำเลยนำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกำไรที่ได้มาจากการขายซีดีดังกล่าวโดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรนั้นให้แก่โจทก์ และโจทก์ย่อมสูญเสียประโยชน์ในการแสวงหากำไรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ด้วย แต่ผลกำไรที่จะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายก็ต้องหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกเสียก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการที่ซีดีแต่ละชุดมิได้ประกอบด้วยเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด จึงต้องเทียบตามสัดส่วนของเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในแต่ละชุดด้วย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด 6 ชุด จำนวนชุดละ 14 เพลง รวมจำนวน 84 เพลง แล้ว จะเป็นสัดส่วนเพลงของโจทก์ประมาณร้อยละ 10 ของเพลงทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงของโจทก์ทั้งเก้าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงดังในอัลบั้มเพลงจำนวน 4 ชุด ในจำนวน 6 ชุด ดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพลงทั้งเก้าเพลงนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าเพลงอื่น จึงเห็นควรกำหนดความสำคัญของเพลงโดยการเทียบสัดส่วนกับเพลงอื่น ๆ ในจำนวน 6 ชุด นั้นเป็นร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมด เพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยผลกำไรที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับสำหรับการกำหนดค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงผลกำไรที่หักต้นทุนเพื่อให้เห็นถึงผลกำไรที่แท้จริงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ขายแผ่นซีดีที่มีเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แผ่นละ 100 บาทเศษ หากขายได้ 50,000 แผ่น จะได้กำไรแผ่นละ 30 บาทเศษ อัตราผลกำไรดังกล่าวเป็นอัตรากำไรที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นสมควรนำมาเทียบเคียงและกำหนดค่าประมาณในการคำนวณหาผลกำไร โดยกำหนดผลกำไรให้เป็นอัตราร้อยละ 30 ของยอดขายจำนวน 36,000,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้ง เมื่อคำนวณแล้วได้ผลกำไรจากการขายเพลงทั้งหมดในซีดีทั้งหกชุดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท เมื่อนำสัดส่วนเพลงดังของโจทก์ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมดมาคำนวณจากผลกำไรดังกล่าวแล้ว จะได้ค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับจากกำไรเป็นเงิน 2,160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 2,160,000 บาท
การที่จำเลยแอบอ้างว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวนดังกล่าว จำเลยนำเพลงนั้นไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จำนวน 15 ฉบับ และที่จำเลยอ้างต่อบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ว่าเพลงที่จัดเก็บลิขสิทธิ์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย กับการที่จำเลยได้ทำซ้ำและดัดแปลงงานเพลงจำนวน 15 เพลง อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วผลิตเป็นซีดีสิ่งบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์โดยการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นในลักษณะเดียวกันจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเพราะจำเลยมิได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหรือทำนองเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเนื้อร้องหรือทำนองเพลงที่โจทก์ได้แต่งขึ้นในลักษณะที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ลามก หรือให้ผิดเพี้ยนไปจากที่โจทก์ประสงค์จะสื่อสารไปถึงผู้ฟังเพลงแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมในอันที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวโดยมิชอบ เพราะจำเลยยังคงระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 15 ฉบับ ว่าโจทก์เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าว มิได้บิดเบือนว่าจำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 15 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13254/2555
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้รับเงินจากการจำหน่ายคูปองบริการให้แก่สมาชิกของโจทก์ร่วม หลายรายการ รวมเป็นเงิน 1,737,032,30 บาท อันเป็นเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,737,032,30 บาท แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏว่าเป็นความผิดหลายกรรม ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องการให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ดังนี้แม้จะพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นหลายกรรม ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยหลายกระทงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12772/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 139, 1476, 1480
สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11292/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคแรก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 190 เม็ด แต่พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 190 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.19 กรัม จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ซึ่งปริมาณของยาเสพติดดังกล่าวกฎหมายสันนิษฐานไว้เด็ดขาดว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานนี้ แต่การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยตนเองตามลำพัง แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยจะต้องมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะนำไปจำหน่าย ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21908/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานรับของโจร เป็นการกระทำเพื่อรักษาสิทธิและชื่อเสียงในทางการค้าของตนโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนขั้นตอนหลังจากจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ตามกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับการร้องทุกข์ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ตรวจสำนวนดังกล่าวเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ จึงฟ้องโจทก์ต่อศาล ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เสียหายคดีอาญาได้อาศัยกระบวนการดังกล่าวจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ การที่จำเลยใช้สิทธิของตนในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นการกระทำของโจทก์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 19, 113, 114, 123 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 238, 240
การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น
ผู้ร้องทำการสอบสวนเจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลาง กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน
นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้แก่ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามข้อตกลงข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 และการที่จำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้แก่เด็กชาย ช. และเด็กหญิง บ. บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารเดิมให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หา จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้คัดค้านที่ 1 กับบุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อบุตรทั้งสอง เป็นการกระทำในช่วงเวลาที่ตนอาจรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 40 จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123
แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงถือว่ารับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18949/2555
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 102
การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 หมายถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างสังกัดอยู่เท่านั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ระบุว่าจำเลยให้กรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานได้ตามที่หน่วยราชการมีหนังสือขอความร่วมมือโดยไม่ถือเป็นวันลานั้น ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 การลาไปร่วมประชุมที่จะไม่ถือเป็นวันลาจึงหมายความถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่เท่านั้น การที่โจทก์ลาไปร่วมประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร และลาไปร่วมสัมมนาทางวิชาการรวมพลังส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ใช่การประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ ไม่ใช่การลาที่ไม่ถือเป็นวันลาตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง