กฎหมายฎีกา ปี 2560
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 84 วรรคสี่, 226, 226/1
การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/33 (5), 193/34 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 352 วรรคแรก
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 4 (3), 4 (48)
เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม…" ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6 (3), 7 วรรคสอง, 7 วรรคสาม, 13, 96 (1), 101 วรรคสอง
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า "ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า "เวสเซล" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า "เวสเซลล์" แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน "S" ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน "S" บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า "VESCELL"และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน "V" และ "C" บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 153 วรรคสอง, 271, 295 (3), 295 ตรี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2560
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 102
คนร้ายซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ที่บริเวณแฮนด์ (มือจับ) ด้านซ้าย และอยู่ภายในช่องแฮนด์ที่มีปลอกพลาสติกหุ้มอยู่ซึ่งมิใช่เป็นที่เก็บสิ่งของ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่คนร้ายได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนและรถจักรยานยนต์ของกลาง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2560
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม
จำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิดตามที่มีผู้ว่าจ้างให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนในที่เกิดเหตุซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้ง โดยลงจากรถไปยืนที่บริเวณดังกล่าวตามที่นัดหมายไว้ อันเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ แต่จำเลยที่ 1 กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจมาพบและถูกจับกุมได้เสียก่อน จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2560
พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ม. 19
คดีเดิมจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และคดีนี้จำเลยก็ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ปรากฏว่ามีเหตุอื่นที่ต้องห้ามมิให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 19 ให้แล้วเสร็จก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2560
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ม. 8, 80 (2)
ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม หมายถึง ราคาที่ผู้ผลิตขายให้แก่ผู้ซื้อโดยสุจริตและเปิดเผย ณ สถานที่ผลิตสินค้าหรือราคาซื้อขายสินค้ากัน ณ สถานที่ผลิตสินค้าเท่านั้น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า ณ โรงอุตสาหกรรม หรือสถานที่ผลิตสินค้าไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตหรือการกำเนิดสินค้า หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรมไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการผลิตจนถึงขั้นตอนที่มีการขายสินค้าดังกล่าวออกไปให้แก่ผู้ซื้อ ต้องนำมาถือเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมหรือสถานที่ผลิตได้เนื่องจากรายการที่ต้องระบุในแบบแจ้งราคาขาย หรือแบบ ภษ.01-44 นอกจากค่าวัตถุดิบ ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการผลิตแล้ว ยังต้องระบุค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และกำไรประกอบไปด้วย โจทก์แจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่ำกว่าราคาขายตามใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนหักส่วนลดใด ๆ ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีขายที่ออก ณ โรงอุตสาหกรรม โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าส่วนต่างระหว่างราคาขายตามใบกำกับภาษีของโจทก์ดังกล่าวกับราคาขายตามที่โจทก์แจ้งว่าเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตอย่างไร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า ส่วนต่างระหว่างราคาขายตามใบกำกับภาษีขายของโจทก์กับราคาขายตามที่โจทก์แจ้งว่าเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ราคาที่ระบุไว้ตามแบบแจ้งราคาขาย หรือแบบ ภษ.01-44 จึงไม่ใช่ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมจริงที่จะใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิตดังที่โจทก์อ้าง การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ตามราคาที่ระบุในใบกำกับภาษีขายเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 8 (1) จึงชอบแล้ว ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2551 โจทก์ขายเครื่องดื่มขนาด 0.535 ลิตร ในหลายราคา การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ในราคาสูงสุดของสินค้านั้นในเดือนที่ล่วงมาแล้ว ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 8 (1) วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดราคาสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ข้อ 2 (2) และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคาสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี กรณีที่ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมมีหลายราคา ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 ข้อ 1 จึงชอบแล้วเช่นกัน และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์แจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมราคาหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์ขายสินค้าตามใบกำกับภาษีขายอีกราคาหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานจำเลยประเมินภาษีโดยไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 80 (2) ก็ไม่ได้ทำให้การประเมินไม่ชอบ