คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2123/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374

สัญญาต่างตอบแทนให้สร้างตึกเช่า 15 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ให้เช่าขายที่ดินโดยผู้ซื้อบันทึกยอมรับข้อผูกพันเดิม จึงมีผลถึงสัญญาตอบแทนที่ชำระหนี้แก่คนภายนอกด้วย ผู้ซื้อต้องให้ผู้เช่าเช่าต่อไปตามสัญญาเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

จำเลยเอาความเท็จฟ้องว่าโจทก์ชิงทรัพย์ และเบิกความเท็จทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 175,177 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31

ก. นั่งอยู่กับจำเลยในศาล ศาลอ่านคำพยานโจทก์ให้พยานฟังตามที่ศาลจดไว้ว่า ร้านอยู่ห่างกัน 20 วา ทนายโจทก์และพยานแถลงว่าที่ถูกเป็น 20 ห้อง ไม่ใช่ 20 วา ก.ลุกขึ้นพูดว่า "20 วา ไม่ใช่ 20 คูหาเพราะได้จดไว้" ศาลกำชับว่าคนนอกคดีไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นก. ก็ไม่ขัดขืนอย่างไร ดังนี้ ยังไม่ถือเป็นประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ไม่เป็นละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 680, 898, 908

เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินดังกล่าว หาได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินไม่สัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะดังนั้น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนดอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116 - 2117/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 147, 157, 264, 268

จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมลายมือชื่อของบุคคลอื่นหลายคนลงในบัญชีหลักฐานการจ่ายค่าแรงงาน ซึ่งความจริงบุคคลเหล่านั้นไม่เคยทำงาน และไม่ได้รับเงิน แล้วจำเลยกับพวกได้เสนอบัญชีหลักฐานการจ่ายค่าแรงนี้ไปขอเบิกเงินจากทางราชการ และเบียดบังเอาเงินจำนวนนั้นไปเป็นของ ตนและผู้อื่นเสียโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,264,268 นั้น เห็นได้ว่าการที่จำเลยกับพวกปลอมและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ก็โดยเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังยักยอกเงินอันเป็นค่าแรงนั่นเอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 อันเป็นบทหนัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 1012, 1272 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 179

เดิมโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ครึ่งแปลง และจำเลยได้รับเงินไปเรียบร้อยในวันทำสัญญาครั้นเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเดิมโดยเพิ่มเติมข้อความว่า โดยจำเลยตกลงให้โจทก์นำเงินไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่บริษัท ย.ค้างชำระบริษัท ว..และโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทว.เรียบร้อยแล้ว. จึงถือว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา. ข้อความที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมนี้.เป็นแต่เพียงอธิบายข้อความที่กล่าวว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์แล้วในวันทำสัญญานั้นโจทก์จำเลยตกลงกันให้ถือเอาการที่โจทก์นำเงินไปชำระหนี้ซึ่งบริษัท ย.ของจำเลยติดค้างอยู่กับบริษัทว. ของโจทก์เป็นการชำระราคาที่ดินที่จำเลยทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์นั่นเอง แม้จะเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจากคำฟ้องเดิมและกล่าวพาดพิงไปถึงบริษัทของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากตัวจำเลย โจทก์มีสิทธิทำได้

โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์ที่ค้างชำระข้อที่ว่าบริษัทของจำเลยค้างชำระราคารถยนต์อยู่เท่าใด จึงเป็นรายละเอียดซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวมาในฟ้อง

สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งกำหนดไว้ว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมภายใน 1 ปี เพียงแต่มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำที่ดินที่จะซื้อขายกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยจะต้องนำเงินที่ขายได้มาแบ่งกันคนละครึ่งเท่านั้นการมีข้อตกลงเป็นพิเศษเพียงเท่านี้หาทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกลายเป็นสัญญาหุ้นส่วนไปไม่ และกฎหมายมิได้กำหนดอายุความสำหรับการเรียกร้องให้แบ่งเงินตามข้อตกลงดังกล่าวจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 315, 821

บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์มอบรถยนต์ของโจทก์แก่ส.ไปขายต่างจังหวัด.จำเลยซื้อรถยนต์จากส. โดยจำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญา ไปให้โจทก์กรอกข้อความส่งคืนมา ทำอยู่ 1 ปี ขายรถยนต์ไปกว่า 100 คัน โดยโจทก์ไม่ทักท้วงจน ส. หลบหนีไป เป็นการยอมให้ ส.เชิดออกเป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยชำระราคารถยนต์แก่ ส.ถือว่าชำระแก่ผู้มีอำนาจรับชำระ อยู่ในความหมายของคำว่าชำระหนี้แก่เจ้าของรถยนต์ ไม่ถือเป็นการฝากส่งเงินแก่โจทก์ตามที่ระบุในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 6, 420, 421 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 280, 284, 288

ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดาโจทก์และภริยาของลูกหนี้จำเลย ลูกหนี้จำเลยเป็นผู้ทำนาในที่พิพาทตลอดมาขณะที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดที่พิพาทโจทก์ก็อยู่ด้วย โจทก์มิได้คัดค้านว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวและมิได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาแสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจทราบได้ว่าที่พิพาทไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่จำเลยนำยึดที่พิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก ได้ความว่าฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทของเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทั้งสองฝ่ายต่างทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ตกทอดได้แก่ตนให้แก่ ถ. น้องชายของเจ้ามรดกไว้ โดยผู้ร้องได้ที่ดินกับหุ้น ผู้คัดค้านได้เงินสดไป 4,500,000 บาท ดังนี้ เมื่อการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากว่า การจัดการมรดกขัดข้องเฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์กับหุ้นที่จะต้องโอนกันตามข้อตกลง ซึ่งจะต้องมีผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2522

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22, 22 ทวิ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 ม. 10, 11

ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลแขวงได้มีคำสั่งในคดีที่ต้องห้าม อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ มาตรา22 ว่า "ครบ กำหนดวันที่ 1 เป็นวันเสาร์และวันที่ 2 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งหยุดราชการ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิยื่นวันนี้ได้ รับเป็นอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลย" ดังนี้ ไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้นั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณา

« »
ติดต่อเราทาง LINE