คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2525

ประมวลรัษฎากร

เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย โจทก์อุทธรณ์การประเมินยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง ขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิ ฟ้องว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องและขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งได้ยุติไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 820, 900, 904

จำเลยนำเช็คไปขายลดให้แก่โจทก์ แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้อื่นไปโดยบกพร่องต่อหน้าที่อันส่อไปในทางไม่สุจริต โจทก์จำต้องรับผิดในการที่จำเลยไม่ได้รับเงินค่าขายลดเช็ค การขายลดเช็คยังไม่สมบูรณ์เพราะถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าขายลดเช็คให้จำเลยตามสัญญาขายลดเช็ค. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 438, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243

ลูกจ้างขับรถแทรกเตอร์ของจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่จุดโคมไฟแสงแดงที่ท้ายรถและที่ปลายสุดของผาลไถซึ่งยื่นล้ำข้างท้ายของรถ เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถชนกันแต่บุตรโจทก์ก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยคือขับรถตามหลังมาด้วยความเร็วสูง มิได้ใช้ความระมัดระวังพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงทีหากมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าแต่ลูกจ้างจำเลยประมาทมากกว่าจึงให้จำเลยรับผิด 2 ใน 3 ส่วน

ศาลอุทธรณ์ฟังว่าลูกจ้างจำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ก็วินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7), 121, 123 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497

ข้อความในรายงานประจำวันเป็นถ้อยคำที่โจทก์ผู้แจ้งได้เล่าเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ออกเช็คชำระหนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำเช็คมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความตำรวจรับแจ้งไว้และได้มอบเช็คคืนให้โจทก์รับไปในวันนั้น ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 ม. 53, 53 ทวิ

เดิมกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้ในมาตราเดียวกัน ต่อมาได้มีการแก้ไขโดยบัญญัติแยกไว้คนละมาตรา เป็นคนละฐานความผิด จึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกการมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้เป็นคนละความผิดกัน ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้ในความครอบครองในวาระเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 31 (2)

สภาพปกติของการนัดหยุดงานได้แก่การที่ลูกจ้างหยุดการกระทำใด ๆอันลูกจ้างมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่ตามปกติผลที่เกิดขึ้นจากการหยุดผลิตหรือหยุดการขนส่งย่อมถือเป็นผลธรรมดาหรือธรรมชาติของการหยุดงาน แต่การที่ผู้คัดค้านกับพวกซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เพียงแต่หยุดงาน แต่กลับปิดกั้นประตูทางเข้าออกบริษัทผู้ร้อง จนเป็นเหตุให้บริษัทผู้ร้องไม่อาจปฏิบัติตามสัญญากับคู่สัญญาได้ และต้องรับผิดในความเสียหายต่อคู่สัญญา ย่อมถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นมิใช่ผลธรรมดาของการนัดหยุดงาน แต่เป็นเรื่องที่กรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60, 61, 84, 172, 183

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์เนื่องจากถูกไฟไหม้ ซึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งแล้วว่าผู้เอาประกันภัยจะเป็นผู้เผารถเองหรือใครเผาก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่กล่าวถึงผู้เผารถมาเช่นนี้เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ดังฟ้องหรือไม่ มิได้ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่ประการใด และเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์เนื่องจากถูกไฟไหม้ จำเลยต่อสู้คดีว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เผารถยนต์คันที่เอาประกันภัยเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ดังนี้ หน้าที่นำสืบในข้อนี้ตกแก่จำเลย

ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามว่า เมื่อทนายความได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีใดแล้ว จะทำหน้าที่เป็นทนายความในคดีนั้นอีกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความเป็นผู้ฟ้องคดีแทน และแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นทนายความของตนอีกฐานะหนึ่งด้วย ศาลก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยผู้แพ้คดีใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1649

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ ต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกส. ผู้ตาย หาใช่ ส.ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของส. ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพ สผู้ตาย แม้โจทก์จะได้จัดการทำศพและใช้จ่ายในการปลงศพส. ผู้ตายไปจริง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่าทำศพแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 172

การที่จำเลยขอผัดชำระหนี้ด้วยวาจาหรือยอมรับด้วยวาจาต่อหน้าผู้อื่นว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ด้วยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172

โจทก์ผู้เป็นพ่อค้าใช้สิทธิเรียกร้องราคาสินค้าจากจำเลยเกินกว่าสองปีนับแต่วันส่งมอบคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 148, 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 852

จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เคยฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว และโต้เถียงข้อแถลงของโจทก์ที่ว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์แถลง ดังนั้น การที่ศาลแรงงาน ฯ วินิจฉัยว่า จำเลยได้ให้คำมั่นกับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำจึงเป็นการไม่ชอบ

โจทก์เคยฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันคืน แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยว่า จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์ยอมตามที่จำเลยตกลงโดยไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์ใด ๆ และไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปทั้งทางแพ่งและอาญาจากการเลิกจ้างนี้ ดังนี้ สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยต่างมีมูลมาจากการเลิกจ้างซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยตั้งแต่จำเลยเลิกจ้างแล้ว ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลรวมไปถึงโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยด้วย การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ

« »
ติดต่อเราทาง LINE