คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 543/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ตำแหน่งผู้ว่าการประปานครหลวงซึ่งโจทก์เคยดำรงตำแหน่งอยู่มีสองฐานะคือในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนการประปานครหลวงซึ่งเป็นนิติบุคคล และได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนการประปานครหลวง จึงเป็นนายจ้างของพนักงานจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและอีกฐานะหนึ่งเป็นผู้ที่การประปานครหลวงจ้างเข้าทำงาน และโจทก์ตกลงทำงานให้แก่การประปานครหลวงเพื่อรับค่าจ้าง จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391

โจทก์ทำสัญญาจองห้องแถวกับจำเลย 6 ห้อง ชำระค่าก่อสร้างเป็นเงินสดและเช็ค เช็คบางฉบับขึ้นเงินไม่ได้ แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ จำเลยต้องคืนเงินค่าก่อสร้างที่ได้ชำระไว้แล้วให้โจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หากจำเลยได้รับความเสียหายก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ แต่จำเลยก็มิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537

โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวและอาคารบ้านเรือน(ตลาดสด) ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ 7 ตึกแถว ฯ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นให้โจทก์มีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ตามสัญญาข้อ 2 โดยข้อ 2 มีความว่า ยอมให้โจทก์เช่าที่ดินมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อ ให้มาทำสัญญาใหม่ ถ้าไม่ทำสัญญาต่อโจทก์จะต้องส่งมอบสถานที่เช่าพร้อมตึกแถวฯ ให้แก่ผู้ให้เช่าจนครบถ้วนทุกอย่าง ดังนี้ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า จำเลยหาจำต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทต่อไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีการเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ม. ,

ลักษณะการจ่ายเงินค่าครองชีพซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างพื้นฐานมีลักษณะเป็นการจ่ายประจำและแน่นอนเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง แม้จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือในภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงขึ้นก็ตามเงินค่าครองชีพก็เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และไม่ใช่เงินประเภทเดียวกันกับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ซึ่งไม่ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ดังนั้น เงินค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนด้วย

ส่วนเงินรางวัลประจำปีหรือโบนัสนั้น คณะกรรมการบริษัทนายจ้างจะไม่อนุมัติให้จ่ายในปีใดก็ได้ ทั้งการจ่ายก็มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นรางวัลสำหรับความดีความชอบของลูกจ้างที่ทำงานมาด้วยดีและมีความประพฤติเหมาะสมเงินรางวัลประจำปีจึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ไม่เป็นค่าจ้างอันจะนำมาคำนวณเงินสบทบกองทุนเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177

จำเลยเคยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยเช่าซื้อที่ดินที่โจทก์ไม่อาจจัดการโอนกรรมสิทธิ์ได้เพราะติดจำนองจำเลยได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วแต่โจทก์ยังไม่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าซื้อให้จำเลย ดังนี้ ข้อสำคัญในคดีดังกล่าวมีว่า โจทก์ได้หลอกลวงให้จำเลยหลงเชื่อจึงเช่าซื้อที่ดินโจทก์หรือไม่คำเบิกความของจำเลยที่ว่าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ถึงหากจะเป็นความเท็จก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 176

การฉ้อฉลหมายถึงนิติกรรมอันลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้คือเจ้าหนี้ หาใช่ตัวผู้ทำนิติกรรมนั้นเองไม่ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกไปฟ้องคดีในอีกศาลหนึ่ง ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาแบ่งปันมรดกที่ตนได้ทำกับจำเลยไว้ แล้วทิ้งฟ้องจนศาลจำหน่ายคดีนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้องนั้น และทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 และย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาแบ่งปันมรดกคดีนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1546 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ที่ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น หมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเมื่อคนต่างด้าวมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงไม่อาจถอนสัญชาติไทยของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 537, 1476 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปไม่ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินกับโจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ามาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้

ทรัพย์ที่โจทก์ให้เช่าเป็นของบุตรโจทก์ การฟ้องขับไล่จำเลยจึงไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสของโจทก์กับสามีอันจะต้องทำร่วมกันตามป.พ.พ. ม.1476

กรณีจะเป็นนิติกรรมอำพรางได้จะต้องปรากฏว่า นิติกรรมที่อำพรางและนิติกรรมที่ถูกอำพรางคู่กรณีจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันและต้องทำขึ้นในคราวเดียวกัน จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากโจทก์ร่วมโดยโจทก์เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากแทนโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ภายในกำหนด ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ สัญญาเช่านี้มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่ทรัพย์คืน แต่เป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลบังคับกันโดยแท้จริง มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516, 1523 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

โจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปหลับนอนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นที่ทราบกันทั่วไปซึ่งโจทก์จะได้เสนอหลักฐานในชั้นพิจารณา ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่บรรยายถึงเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. ม. 1516(2) แล้ว

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาให้จำเลยที่ 2 เข้าไปหลับนอนในร้านของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไปพบก็มีการไปเจรจากันที่สถานีตำรวจโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 2 แต่ตกลงกันเรื่องค่าเสียหายและการเลี้ยงดูบุตรไม่ได้ดังนี้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์อับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ศาลกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 326, 328, 329 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484

หนังสือพิมพ์ระบุชื่อและนามสกุล ทั้งลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ประพฤติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม การที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เพราะโจทก์มีนิสัยชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์ บ้านเมืองจะไปไม่รอด ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์จะพึงกระทำหรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการที่ต้องรับผิดเป็นตัวการต้องเป็นบรรณาธิการซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการมีหน้าที่ทางด้านการจัดการและธุรการทั่วไป ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณา

« »
ติดต่อเราทาง LINE