คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2529
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3918/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 385 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 218
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย1ปีปรับ5,000บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218 ฟ้องของโจทก์ในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองทางสาธารณะอันเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้นโจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทนั้นเป็นที่ดินของรัฐได้อย่างไรและเป็นที่ดินของรัฐตั้งแต่เมื่อใดเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคดีเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)แล้ว ที่พิพาทแม้ทางราชการจะเคยให้เอกชนเช่าอยู่3ปีก็เลิกเช่าแต่ประชาชนสัญจรไปมาในที่พิพาทตลอดมาถือได้ว่าที่พิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์มีอำนาจฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา108ทวิได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3892/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 90, 364, 365, 392
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญคดีได้ความว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปขับไล่ให้ผู้เสียหายออกไปเสียจากขนำของผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายขัดขืนจำเลยจึงใช้ปืนที่ติดตัวไปยิงขู่จนผู้เสียหายตกใจกลัวออกไปจากขนำการกระทำของจำเลยมีเจตนาขู่เข็ญเพื่อขับไล่ผู้เสียหายให้ออกไปจากขนำเป็นข้อสำคัญจึงเป็นความผิดกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3887/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1), 336 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 458
การรับโอนทรัพย์ของผู้ตายภายหลังเจ้าของทรัพย์ตายแล้วไม่แน่เสมอไปว่าผู้รับโอนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะอาจได้รับโอนทรัพย์มาจากทายาทของผู้ตายก็ได้ จำเลยมีทะเบียนรถแสดงว่าได้รับโอนรถจักรยานยนต์คันพิพาทจากเจ้าของก่อนนำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจำเลยบอกกับโจทก์ว่ารถจักรยานยนต์เป็นของจำเลยและเอาทะเบียนรถให้ดูเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกจำเลยไปพบจำเลยก็นำทะเบียนรถไปแสดงพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ารถจักรยานยนต์คันพิพาทเป็นของตนและเอารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากความครอบครองของโจทก์โดยขาดเจตนาทุจริตจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3882/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4 วรรคสาม, 113, 680, 681 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 54, 142 (5), 161, 167, 177 วรรคสอง, 183, 225, 249, ตาราง 6
จำเลยให้การว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเป็นการยกถ้อยคำในกฎหมายมาอ้างโดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาคำขอคำบังคับหรือข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ข้อใดที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ชัดแจ้งอย่างไรคำให้การจำเลยจึงแสดงเหตุไม่ชัดแจ้งไม่มีประเด็นว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก่อนโจทก์จะนำหลักทรัพย์ไปประกันตัวผู้ต้องหาโดยมิได้ระบุมูลค่าแห่งความรับผิดไว้แน่นอนเพื่อให้โจทก์ประกันผู้ต้องหาในคดีอาญาจากศาลโดยทำสัญญาไว้ว่าถ้าผู้ต้องหาหลบหนีและนายประกันถูกปรับจำเลยรับชดใช้ค่าปรับแทนจนครบถ้วนสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบจำเลยแต่ประการใดเพราะหากโจทก์ไม่นำหลักทรัพย์ไปประกันตัวผู้ต้องหาสัญญาค้ำประกันที่ทำกันไว้ก็ไม่มีผลบังคับส่วนจำนวนความรับผิดก็เป็นไปตามที่ศาลจะตีราคาประกันและสั่งปรับเมื่อผิดสัญยาประกันต่อไปสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวกำหนดว่า'หากข้าพเจ้าปล่อยให้จำเลยหลบหนีด้วยเหตุใดๆก็ดีถ้านายประกันถูกปรับหรือถูกริบทรัพย์ข้าพเจ้าจะเป็นผู้รับชดใช้ค่าปรับแทนนายประกันจนครบถ้วนและจะเป็นผู้รับไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่จำนองประกันคืนแก่นายประกันโดยมิชักช้า'ดังนี้เพียงแต่โจทก์ถูกศาลสั่งปรับจำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่ประกันคืนแก่โจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ไม่ต้องรอให้มีการขายทรัพย์อันเป็นหลักประกันก่อน ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนตามกฎหมายและสั่งในคำพิพากษาให้ฝ่ายใดชดใช้แก่ฝ่ายใดหรือให้เป็นพับกันไปก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา161,167และตาราง6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังนี้การที่สัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ผิดแผกแตกต่างไปจากกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับมิได้ข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3846 - 3847/2529
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยแจ้งด้วยวาจาพร้อมกับมอบระเบียบข้อบังคับในการทำงานและกฏข้อบังคับของพนักงานบริษัทจำเลยให้แก่โจทก์ในวันสัมภาษณ์ว่าโจทก์ต้องทดลองงาน180วันยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ'แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือ'ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46แต่เป็นเพียงการส่งมอบเอกสารให้โจทก์ไปศึกษาว่าจำเลยมีข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นประการใดเท่านั้นทั้งในวันสัมภาษณ์นั้นก็ยังมิได้มีการตกลงจ้างกันต่อมาจำเลยตัดสินใจจ้างโจทก์ตามหนังสือแจ้งให้โจทก์มาทำงานก็หามีข้อความใดแสดงให้ปรากฏว่าโจทก์จะต้องทดลองปฏิบัติงานหรือไม่จึงไม่เป็นการแจ้งให้ลูกจ้างทดลองปฏิบัติงาน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3833/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 188
การที่จำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารของโจทก์ร่วมแม้เอกสารดังกล่าวยังสามารถอ่านเข้าใจได้ก็ถือได้ว่าจำเลยทำให้เสียหายทำลายซึ่งเอกสารในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา188แล้วหาจำต้องทำให้เอกสารนั้นสูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับไม่ เมื่อจำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารขาดจากกันการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จครบถ้วนองค์ความผิดแล้วหาใช่อยู่ในขั้นเพียงพยายามกระทำความผิดไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3822/2529
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
จำเลยที่1เคยออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อบ้านแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ฟ้องจำเลยที่1ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีต่อมาจำเลยที่1และจำเลยที่2ได้ออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อบ้านแทนเช็คฉบับเดิมแต่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินความเสียหายของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากมูลหนี้ค่าซื้อบ้านรายเดียวกันย่อมเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ผู้ออกเช็คฉบับเดิมต่อศาลและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาถือได้ว่าความเสียหายของโจทก์ในมูลหนี้รายนี้ไม่อาจเกิดขึ้นอีกได้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามเช็คพิพาทอีก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3875/2529
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 215 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
ในคดีที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพื่อที่จะนำมาวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากการไต่สวนมูลฟ้องนั้นคดีโจทก์ไม่มีมูลศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา185ประกอบกับมาตรา215.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3874/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288จำคุก15ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,72จำคุก3ปีเป็นการแก้ทั้งบทกฎหมายและกำหนดโทษที่ลงโทษจำเลยเป็นการแก้ไขมากคู่ความไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218 จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภรรยากันมาประมาณ7ปีมีบุตรด้วยกัน3คนและมีปากเสียงทะเลาะกันเสมอๆขณะก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายก็มีปากเสียงทะเลาะกันอีกการที่ผู้ตายบ่นว่ากล่าวหาจำเลยพาชายชู้มานอนที่เตียงนอนและไล่จำเลยออกจากบ้านทั้งขู่ว่าหากจำเลยไม่ไปจากบ้านจะฆ่าจำเลยนั้นก็เป็นเรื่องสามีภรรยาเป็นปากเสียงทะเลาะกันตามปกติที่เคยเป็นมาจะถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหาได้ไม่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจึงมิใช่เหตุบันดาลโทสะ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3867/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 343 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341,343,83ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา341,83,91ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องดังนี้เมื่อความผิดตามมาตรา343ฐานฉ้อโกงประชาชนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงโจทก์ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา220.